บาลีวันละคำ

วรราชาทินัดดามาตุ (บาลีวันละคำ 424)

วรราชาทินัดดามาตุ

ประกอบด้วยคำว่า วร + ราช + อาทิ + นัดดา + มาตุ

วร” เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ. เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, ความกรุณา

ราช” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” (2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

ราช” ในภาษาไทยมักใช้ประกอบกับคําอื่น ถ้าคําเดียวนิยมใช้ว่า “ราชา

อาทิ” แปลว่า อันต้น, ทีแรก, เริ่มต้น, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า, จุดเริ่มต้น, จุดเริ่มแรก, เบื้องต้น, ขั้นแรก, เป็นครั้งแรก

ถ้าใช้กับ “คน” ก็หมายถึง คนที่หนึ่ง คนแรก คนที่เป็นต้นเหตุ

นัดดา” บาลีเป็น “นตฺตุ” (นัด-ตุ) แปลว่า หลาน (หมายเฉพาะลูกของลูกโดยตรง)

นตฺตุ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไป” (คือผู้นำวงศ์ตระกูลให้สืบทอดต่อไป) “ผู้อันเขาผูกพันไว้ด้วยความรัก” (พ่อแม่รักชั้นหนึ่งแล้ว ยังปู่ย่าตายายรักซ้ำอีกชั้นหนึ่ง)

คำนี้ถ้าเป็นประธาน บาลีแจกรูปเป็น “นตฺตา” (นัด-ตา) จึงใช้ในภาษาไทย (เป็นราชาศัพท์) ว่า “นัดดา

มาตุ” บาลีอ่านว่า มา-ตุ ถ้าเป็นประธาน แจกรูปเป็น “มาตา” หรือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มารดา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักลูกโดยธรรมชาติ” หรือ “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม” หมายถึงหญิงที่เป็นแม่ (ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมจึงเป็น “มาตุ”)

มาตุ” ในภาษาไทยถ้าอยู่ท้ายคำ “-ตุ” ใช้เป็นตัวสะกด อ่านว่า “มาด” ทำนองเดียวกับ “เหตุ” อ่านว่า เหด “ชาติ” อ่านว่า ชาด

วร + ราช = วรราช แปลว่า พระราชาผู้ประเสริฐ

อาทิ + นัดดา = อาทินัดดา แปลว่า นัดดาองค์แรก (หลานคนแรก)

วรราช + อาทินัดดา = วรราชาทินัดดา + มาตุ = วรราชาทินัดดามาตุ

อ่านว่า วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-นัด-ดา-มาด

มีความหมายว่า “มารดาของนัดดาองค์แรกแห่งพระราชาผู้ประเสริฐ

: 13 กรกฎาคม วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

ขอจงทรงพระเจริญสุข เทอญ

บาลีวันละคำ (424)

13-7-56

วร ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ประเสริฐ, ยอดเยี่ยม

ป.พร

วร (บาลี-อังกฤษ)

๑ (คุณ.) ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ

๒ (ปุง.และ นปุง.) ความปรารถนา, พร, ความกรุณา

ราช (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

พระราชา

ราชา (บาลี-อังกฤษ)

ราชา, เจ้านายผู้ปกครอง, พระเจ้าแผ่นดิน

ราชา (ศัพท์วิเคราะห์)

อติเตชวนฺตตาย วิเสเสน ราชเต ทิพฺพเตติ ราชา ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ราช ธาตุ ในความหมายว่ารุ่งเรือง อ ปัจจัย

จตูหิ สงฺคหวตฺถูหิ อตฺตนิ ชนํ รญฺเชตีติ ราชา ผู้ยังผู้คนให้ยินดีในตน

รญฺช ธาตุ ในความหมายว่ายินดี พอใจ ณ ปัจจัย ล ณ และ ญฺ พทธ์ อ เป็น อา

อาทิ (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ก.วิ.เป็นครั้งแรก.

ค.อันต้น, ทีแรก, เริ่มต้น.

ปุง.,นป.จุดเริ่มต้น, เบื้องต้น, ขั้นแรก.

อาทิ (บาลี-อังกฤษ)

๑ (ปุง.) จุดเริ่มต้น, จุดเริ่มแรก

๒ (คุณ.และ ก.วิ.) –

(ก) เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า

(ข) เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง, นั่นคือ-และอื่นๆ, และต่อๆ ไป

นตฺตุ = หลาน (หมายถึงเฉพาะลูกของลูก) (ศัพท์วิเคราะห์)

เนตีติ นตฺตา ผู้นำไป คือผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลไว้

นี ธาตุ ในความหมายว่านำไป ตุ ปัจจัย แปลง อี เป็น อ ซ้อน ต

นหฺยติ พนฺธียติ เปเมนาติ นตฺตา ผู้อันเขาผูกพันไว้ด้วยความรัก

นหฺ ธาตุ ในความหมายว่าผูกพัน ริตุ ปัจจัย ลบ ร และพยัญชนะที่สุดธาตุ ลบ อิ ซ้อน ต

นตฺตุ ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

นัดดา, หลาน.

นตฺตุ (บาลี-อังกฤษ)

หลานชาย

มาตุ = มารดา,แม่ (ชนนี อมฺมา ชนิกา ชเนตฺตี) (ศัพท์วิเคราะห์)

ธมฺเมน ปุตฺตํ มาเนตีติ มาตา ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

มาน ธาตุ ในความหมายว่ารัก, ทะนุถนอม ราตุ ปัจจัย ลบ ร อนุพันธ์ พยัญชนะที่สุดธาตุ และสระหน้า ลง สิ วิภัตติ แปลง อุ กับ สิ เป็น อา

ปาเยตีติ มาตา ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

ปา ธาตุ ในความหมายว่าดื่ม ตุ ปัจจัย แปลง ป เป็น ม ลง สิ วิภัตติ แปลง อุ กับ สิ เป็น อา

มาตุ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

มารดา.

มาตุ (บาลี-อังกฤษ)

(อิต.) มารดา

วร-

  [วะระ-, วอระ-] น. พร; ของขวัญ.ว. ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).

ราช ๑, ราช-

  [ราด, ราดชะ-] น. พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).

ราชา ๑

  น. พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์. (ป., ส.).

อาทิ

  น. ต้น ในคําว่า เป็นอาทิ, เป็นเบื้องต้น, ทีแรก, ข้อต้น. (ป., ส.).

นัดดา

  น. หลานปู่, หลานตา. (ป. นตฺตุ).

มาตุ

  น. แม่. (ป.).

วรราชาทินัดดามาตุ

ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร[1], ประสูติ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500) อดีตพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และเป็นธิดาคนโตของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (สกุลเดิม ยุคล)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย