วัตร (บาลีวันละคำ 423)
วัตร
ภาษาไทย อ่านว่า วัด
บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) และ “วตฺต” (วัด-ตะ)
“วัตร” แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ดำเนินไป” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน
ในสังคมสงฆ์ ท่านจำแนก “วัตร” เป็นดังนี้ –
1.“กิจวัตร” ว่าด้วยกิจที่ควรทำ เช่น อุปัชฌายวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์) สัทธิวิหาริกวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่อศิษย์) อาคันตุกวัตร (กิจที่พึงปฏิบัติต่อแขก)
2. “จริยาวัตร” ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง, ไม่ขากถ่มในที่อันไม่สมควร
3. “วิธีวัตร” ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ เช่น วิธีเก็บบริขาร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่ (เช่นเดินบิณฑบาต)
ภิกษุเมื่ออยู่รวมกัน ต้องมีพระเถระเป็นหัวหน้าหมู่คณะ และมีธรรมเนียมที่ภิกษุในที่นั้นจะต้องไปทำวัตรแก่พระเถระในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น คือไปทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูที่อยู่ของท่าน ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ดูแลความเรียบร้อยทั่วไป เป็นโอกาสที่จะได้สนทนาธรรมหรือสอบถามปัญหาธรรมแก่กันและกัน หรือยกธรรมะบทใดบทหนึ่งขึ้นมาสวดสาธยายสู่กันฟัง เป็นการซักซ้อมความรู้ไปในตัว เป็นที่มาของการ “ทำวัตรสวดมนต์” อันมีความหมายว่า ทำวัตรแก่พระเถระเสร็จแล้วก็สวดมนต์คือทบทวนความรู้กัน
: อยู่อย่างคน ต้องทำ“วัตร”
: อยู่อย่างสัตว์ .. ตัวใครตัวมัน
———————
(ตามคำขอของ Chakkris Uthayophas)
บาลีวันละคำ (423)
12-7-56
วต = วัตร, พรต, ข้อปฏิบัติ, ธรรมเนียม, ประเพณี (วตฺต นิยม) (ศัพท์วิเคราะห์)
วตียเตติ วตํ ข้อที่เป็นไปตามปกติ
วต ธาตุ ในความหมายว่าเป็นไป อ ปัจจัย
วชยเตติ วตํ ข้ออันเขาปรุงแต่ง
วช ธาตุ ในความหมายว่าปรุงแต่ง, กระทำ อ ปัจจัย แปลง ช เป็น ต
วตฺต = วัตร, ข้อปฏิบัติ, ธรรมเนียม, ประเพณี
วตฺติตพฺพํ สมาทิตพฺพนฺติ วตฺตํ ข้อที่ควรถือประพฤติ
วตฺต ธาตุ ในความหมายว่าเป็นไป อ ปัจจัย
วตฺต (บาลี-อังกฤษ)
๑ สิ่งที่ทำ, สิ่งที่ดำเนินไป หรือเป็นกิจวัตร คือหน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน that which is done, which goes on or is customary, i. e. duty, service, custom, function
๒ (แทน วต) การปฏิบัติหรือบำเพ็ญ, การปฏิญญา, คุณความดี observance, vow, virtue
วตฺตปฏิวตฺต วัตรปฏิบัติหรือหน้าที่ทุกชนิด all kinds of practices or duties
วตฺต นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
วัตร, หน้าที่, การปฏิบัติ.
วตฺตกฺขนฺธก นป.
หมวดว่าด้วยเรื่องขนบธรรมเนียม, ความประพฤติ, กิจที่ควรทำ
วัตร (ประมวลศัพท์)
กิจพึงกระทำ, หน้าที่, ธรรมเนียม, ความประพฤติ, ข้อปฏิบัติ จำแนกออกเป็น ๑. กิจวัตร ว่าด้วยกิจที่ควรทำ (เช่นอุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาคันตุกวัตร) ๒. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ (เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง ไม่จับวัตถุอนามาส) ๓. วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ (เช่น วิธีเก็บบาตร วิธีพับจีวร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่); วัตรส่วนมากใน วัตตขันธกะ
วัตรปฏิบัติ
การปฏิบัติตามหน้าที่, การทำตามข้อปฏิบัติที่พึงกระทำเป็นประจำ, ความประพฤติที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมแห่งเพศ ภาวะหรือวิถีดำเนินชีวิตของตน
ทำวัตร
ก. กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระเณร.
ทำวัตรค่ำ
ก. ไหว้พระสวดมนต์ในตอนเย็นหรือคํ่า.
ทำวัตรเช้า
ก. ไหว้พระสวดมนต์ในตอนเช้า.
กิจวัตร
น. กิจที่ทําเป็นประจํา.
กิจ, กิจ-
[กิด, กิดจะ-] น. ธุระ, งาน. (ป. กิจฺจ).
วัตร, วัตร-
[วัด, วัดตฺระ-] น. กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).
วัตรปฏิบัติ
[วัดตฺระ-] น. การปฏิบัติตามหน้าที่หรือตามศีล.
พรต
[พฺรด] น. กิจวัตร, การปฏิบัติ; มรรยาท, เขตแห่งความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, การสมาทานหรือประพฤติตามลัทธิศาสนา, การจําศีล (เช่น การเว้นบริโภค เว้นเมถุนธรรม); การสมาทานบริโภคอาหารอย่างเดียวเป็นนิตย์ (เช่น มธุพรต คือ การสมาทานกินแต่นํ้าผึ้ง); ข้อกําหนดการปฏิบัติทางศาสนาเพื่อข่มกายใจ มีศีลวินัยเป็นต้น เช่น บําเพ็ญพรต ทรงพรต ถือพรต, เรียกผู้บําเพ็ญพรตว่า นักพรต. (ส. วฺรต; ป. วตฺต).
Chakkris Uthayophas ๑๑ ก.ค.๕๖
ขอบพระคุณครับ ได้ความรู้มากและชัดเจนครับ แต่ผมกลับสะดุดกับคำว่า วัตร ครับ ทำวัตร กิจวัตร จนถึงราชวัตรที่น่าจะหมายถึงรั้วหรือขอบเขต ผมขอความกรุณาอธิบายคำนี้ครับ