บาลีวันละคำ

ปุริมยาม (บาลีวันละคำ 3,657)

ปุริมยาม

ยามอะไร-ฝากไว้อีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ปุ-ริม-มะ-ยาม

ประกอบด้วยคำว่า ปุริม + ยาม

(๑) “ปุริม” 

บาลีอ่านว่า ปุ-ริ-มะ รากศัพท์มาจาก ปุร (ก่อน, เบื้องหน้า) + อิม (อิ-มะ) ปัจจัย 

: ปุร + อิม = ปุริม (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-ที่มีมาก่อน” “ที่มีในเบื้องหน้า” หมายถึง มาก่อน, ก่อน, เกิดก่อน, แต่ก่อน (preceding, former, earlier, before) 

ปุริม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุริม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุริม– : (คำวิเศษณ์) ตะวันออก; ก่อน. (ป. ปุริม; ส. ปุรสฺ + อิม).”

(๒) “ยาม” 

บาลีอ่านว่า ยา-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย

 : ยา + = ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ดำเนินไปตามปกติ

(2) ยมุ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุคือ อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (ยมฺ > ยาม)

: ยมฺ + = ยมณ > ยม > ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ยาม” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีไว้ดังนี้ –

(1) restraint (การสำรวม) 

(2) a watch of the night. There are 3 watches, given as paṭhama, majjhima & pacchima [first, middle & last] (ยามในเวลากลางคืน. มี 3 ยาม คือ ปฐม, มชฺฌิม และ ปจฺฉิม [ยามต้น ยามกลาง ยามปลาย])

(3) one who belongs to Yama or the ruler of the Underworld; a subject of Yama; the realm of Yama; inhabitants of Yamaloka (ผู้เป็นพญายม หรือผู้ปกครองยมโลก; คนในบังคับของพระยม, อาณาจักรของพระยม; ผู้อยู่ในยมโลก)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “ยาม” ไว้ดังนี้ –

(1) ชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม; ในบาลีแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ยาม ยามหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง เรียกว่า ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

(2) (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ช่วงแห่งวัน เป็นเวลายามละชั่วโมงครึ่ง กลางวันมี ๘ ยามตามลำดับคือ สุริยะ ศุกระ พุธะ จันเทา เสารี ครู ภุมมะ สุริยะ กลางคืนมี ๘ ยามตามลำดับคือ รวิ ชีโว ศศิ ศุโกร ภุมโม โสโร พุโธ รวิ

(3) คราว, เวลา, เช่น ยามสุข ยามทุกข์ ยามเช้า ยามกิน

(4) คนเฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์ตามกําหนดเวลา เช่น แขกยาม ไทยยาม คนยาม, เรียกอาการที่อยู่เฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์เช่นนั้นว่า อยู่ยาม หรือ เฝ้ายาม

ยาม” ตามความหมายข้อ (4) น่าจะมาจากการอยู่เฝ้าระวังเหตุการณ์ตาม “ยาม” คือตามเวลาที่กําหนด จึงเรียกผู้ทำหน้าที่เช่นนั้นว่า “ยาม” ไปด้วย

ในที่นี้ “ยาม” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ปุริม + ยาม = ปุริมยาม บาลีอ่านว่า ปุ-ริ-มะ-ยา-มะ แปลตามศัพท์ว่า “ยามต้น” 

ปุริมยาม” ภาษาไทยอ่านว่า ปุ-ริม-มะ-ยาม คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

บาลี “ปุริม” ในภาษาไทยที่คงเป็น “ปุริม-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้คำเดียวคือ “ปุริมพรรษา” ซ้ำไม่ได้อธิบายความหมาย แต่บอกให้ดูที่ “บุริมพรรษา” 

ที่ “บุริมพรรษา” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

บุริมพรรษา : (คำนาม) “พรรษาต้น”, ช่วงระยะเวลาที่ภิกษุเข้าอยู่จำพรรษาต้น คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑, ปุริมพรรษา ก็ว่า, คู่กับ ปัจฉิมพรรษา. (ป. ปุริม + ส. วรฺษ).” 

ปุริมพรรษา” พจนานุกรมฯ บอกความหมายเป็น “บุริมพรรษา” 

ปุริมยาม” ถ้าใช้ตามแนว “ปุริมพรรษา” ก็ควรจะเป็น “บุริมยาม

ปุริมพรรษา” มีในพจนานุกรมฯ แต่ “ปุริมยาม” และ “บุริมยาม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

ขยายความ :

อธิบายความตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ ที่ว่า “ในบาลีแบ่งกลางคืนเป็น 3 ยาม ยามหนึ่งมี 4 ชั่วโมง เรียกว่า ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม” ดังนี้ “ปุริมยาม” ก็ตรงกับ “ปฐมยาม” 

ปุริมยาม” หรือยามต้นแห่งราตรี กำหนดเวลาตั้งแต่ 18:00 น. ถึง 22:00 น. เทียบตามคำที่นิยมพูดกันในภาษาไทยก็คือ หัวค่ำ

“มัชฌิมยาม” หรือยามกลางแห่งราตรี กำหนดเวลาตั้งแต่ 22:00 น. ถึง 02:00 น. เทียบตามคำที่นิยมพูดกันในภาษาไทยก็คือ เที่ยงคืน

“ปัจฉิมยาม” หรือยามปลายแห่งราตรี กำหนดเวลาตั้งแต่ 02:00 น. ถึง 06:00 น. เทียบตามคำที่นิยมพูดกันในภาษาไทยก็คือ ค่อนรุ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เฝ้ายามตามไฟ อาจแก้ตัวได้เมื่อทำผิด

: แต่ยามชีวิต ผิดแล้วผิดเลย 

#บาลีวันละคำ (3,657)

17-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *