บาลีวันละคำ

ตรจฺฉมํส (บาลีวันละคำ 3,656)

ตรจฺฉมํส

เนื้อเสือดาว : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 10

เขียนแบบบาลี อ่านว่า ตะ-รัด-ฉะ-มัง-สะ

แยกศัพท์เป็น ตรจฺฉ + มํส

(๑) “ตรจฺฉ” 

อ่านว่า ตะ-รัด-ฉะ รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = กระโดด) + ปัจจัย, ซ้อน จฺ ระหว่าธาตุกับปัจจัย (ตรฺ + จฺ + )

: ตรฺ + จฺ + = ตรจฺฉ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระโดดเก่ง” 

ตรจฺฉ” คือสัตว์ชนิดไหน?

พระไตรปิฎกภาษาไทยและคัมภีร์ที่แปลจากบาลีของไทย เท่าที่พบทุกแห่ง แปล “ตรจฺฉ” ว่า เสือดาว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ตรจฺฉ” ว่า หมาป่า, หมาใน, เสือดาว 

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คำแปลว่า “เสือดาว” มีศัพท์บาลี 2 คำ คือ “ตรจฺฉ” และ “มิคาทน” (คาถาที่ ๖๑๑)

ตามพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา“ตรจฺฉ” = เสือดาว

ส่วน “มิคาทน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินสัตว์ป่า” หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มิคาทน” ว่า หมาป่า

บาลี “ตรจฺฉ” สันสกฤตเป็น “ตรฺกฺษุ” และ “ตรฺกฺษ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตรฺกฺษุ, ตรฺกฺษ : (คำนาม) ศุนักป่า; hyena.”

ถ้ายึดคำว่า “เสือดาว” เป็นหลัก พจนานุกรมทั่วไปแปลเป็นอังกฤษว่า leopard 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล leopard ว่า เสือดาว

เป็นอันว่า บาลี “ตรจฺฉ” และสันสกฤต “ตรฺกฺษ” มีคำแปลเป็นอังกฤษ 2 คำ คือ leopard และ hyena

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล leopard เป็นบาลีว่า:

(1) dīpi ทีปิ (ที-ปิ) คือที่ศัพท์ในชุดเนื้อต้องห้ามแปลว่า “เสือเหลือง”

(2) saddūla สทฺทูล (สัด-ทู-ละ) เป็นศัพท์ไวพจน์ (synonym) ของ “ทีปิ” ดังนั้น จีงต้องหมายถึง เสือเหลือง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สทฺทูล” เป็นอังกฤษว่า a leopard

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ แปล leopard เป็นไทยว่า เสือดาว, เสือโคร่ง

ส่วน hyena พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า:

(1) taraccha ตรจฺฉ (ตะ-รัด-ฉะ) คือคำที่กำลังพูดถึงนี้

(2) migādana มิคาทน (มิ-คา-ทะ-นะ) คือศัพท์ที่เป็นไวพจน์ของ “ตรจฺฉ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล hyena ว่า หมาป่าไฮอี-นะ ในแอฟริกา เสียงร้องเหมือนหัวเราะ

สรุปว่า มีสัตว์ที่เข้าข่าย “ตรจฺฉ” หลายชนิด ถ้ารวบรวมมาเพื่อพิจารณาว่า “ตรจฺฉ” ควรเป็นสัตว์ชนิดไหน ก็น่าจะได้แก่สัตว์เหล่านี้ คือ เสือดาว หมาจิ้งจอก หมาใน หมาป่า โดยเฉพาะหมาป่าไฮอี-นะ

ขอยกชื่อสัตว์เหล่านี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ –

…………..

(1) ดาว ๒ : (คำนาม) ชื่อเสือชนิด Panthera pardus (Linn.) ในวงศ์ Felidae ขนาดใหญ่รองลงมาจากเสือโคร่ง ขนสีนํ้าตาลแกมเหลือง มีแต้มสีดำคล้ายรอยขยุ้มตีนหมากระจายทั่วตัว ว่องไว ปีนขึ้นต้นไม้ได้ดี บางตัวขนส่วนที่เป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองเป็นสีดำ และมีแต้มสีดำอยู่ทั่วตัวเช่นกัน เห็นได้ชัดเมื่อถูกแสง เรียก เสือดำหรือเสือแมลงภู่.

(2) หมาจิ้งจอก : (คำนาม) ชื่อหมาชนิด Canis aureus Linn. ในวงศ์ Canidae ขนตามลำตัวสีเทาอมนํ้าตาล มีขนลักษณะคล้ายอานม้าบริเวณไหล่ ปากแหลม หูตั้งแหลมตรง หางเป็นพวง เขี้ยวและฟันคมมาก กลางวันมักนอนอยู่ในโพรงดิน ออกหากินในเวลากลางคืน กินเนื้อสัตว์.

(3) หมาใน : (คำนาม) ชื่อหมาชนิด Cuon alpinus (Pallas) ในวงศ์ Canidae ขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา หางสีคลํ้ายาวเป็นพวง อาศัยอยู่ตามป่าทึบ ออกหากินเป็นฝูงเวลาเช้ามืดและพลบคํ่า ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง กระจง รวมทั้ง สัตว์เล็กอื่น ๆ.

(4) หมาป่า : (คำนาม) ชื่อหมาในวงศ์ Canidae มีถิ่นกำเนิดเกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก ขนลำตัวมีสีต่าง ๆ เช่น นํ้าตาลเทา เทาปนแดง ฟันและเขี้ยวคมมาก นิสัยดุร้าย อาศัยอยู่ทั้งป่าโปร่งหรือป่าทึบ ส่วนใหญ่หากินเป็นฝูง กินเนื้อสัตว์ มีหลายชนิด เช่น ชนิด Canis vulpes (Linn.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียกลาง, ชนิด Chrysocyon brachyurus (Illiger) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้, ชนิด Canis lupus (Linn.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป, ชนิด Fennecus zerda (Zimmermann) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา, หมาจิ้งจอก (Canis aureus Linn.) และหมาใน [Cuon alpinus (Pallas)] มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย.

…………..

ส่วนชื่อ หมาป่าไฮอี-นะ ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ชื่อนี้สะกดอย่างไรยังไม่แน่ ลักษณะนิสัยเป็นอย่างไรก็ยังไม่พบคำอธิบายที่เป็นมาตรฐานชัดเจน 

ดูจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตรจฺฉ” เป็นอังกฤษว่า hyena และ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “ตรฺกฺษุ, ตรฺกฺษ” (คำเดียวกับ “ตรจฺฉ” ในบาลี) เป็นอังกฤษว่า hyena ตรงกัน และเมื่อดูลักษณะของ hyena ตามรูปที่หาได้ (โปรดดูภาพประกอบ) ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า “ตรจฺฉ” ก็คือ hyena นั่นเอง 

อาจเป็นเพราะลายตามตัว hyena ดูคล้ายเสือดาว และไทยเราคุ้นกับเสือดาว แต่ไม่รู้จัก hyena นักเรียนบาลีบ้านเราจึงแปล “ตรจฺฉ” ว่า เสือดาว ด้วยความเข้าใจว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน

จึงน่าจะสรุปได้ว่า คำบาลีว่า “ตรจฺฉ” ที่เราแปลกันว่า เสือดาว นั้น หมายถึงสัตว์ที่คำอังกฤษเรียกว่า hyena ไม่ใช่ leopard

ส่วน hyena ควรจะเรียกเป็นไทยว่าอย่างไร ยังไม่ยุติ ถ้าถามคนรุ่นใหม่ซึ่งนิยมไหลตามภาษาฝรั่ง ก็คงเรียกทับศัพท์ (เคยเห็นสะกดเป็น “ไฮยีน่า”) แต่ถ้าใช้คำไทยให้พอเข้าใจได้ น่าจะเรียกว่า “หมาป่า” 

ในที่นี้คงคำแปลเดิมว่า “เสือดาว” ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนที่คุ้นกับคำแปลเดิม 

ทั้งนี้ จนกว่านักเรียนบาลีไทยจะมีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะตกลงกันให้เด็ดขาดลงไปว่า “ตรจฺฉ” คือ “เสือดาว” (leopard) หรือ “หมาป่า” (hyena) กันแน่

(๒) “มํส” 

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

ตรจฺฉ + มํส = ตรจฺฉมํส (ตะ-รัด-ฉะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อเสือดาว” 

ขยายความ :

ตรจฺฉมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –

(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์

(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง

(3) อสฺสมํส เนื้อม้า

(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข

(5) อหิมํส เนื้องู

(6) สีหมํส เนื้อสิงโต

(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง

(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง

(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี

(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว

…………..

ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อเสือดาว ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

เตน  โข  ปน  สมเยน  ลุทฺธกา  ตรจฺฉํ  หนฺตฺวา  ตรจฺฉมํสํ  ปริภุญฺชนฺติ  ภิกฺขูนํ  ปิณฺฑาย  จรนฺตานํ  ตรจฺฉมํสํ  เทนฺติ  ฯ 

ก็สมัยนั้นแล พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต

ภิกฺขู  ตรจฺฉมํสํ  ปริภุญฺชิตฺวา  อรญฺเญ  วิหรนฺติ  ฯ

พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า

ตรจฺฉา  ตรจฺฉมํสคนฺเธน  ภิกฺขู  ปริปาเตนฺติ  ฯ

เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อเสือดาว 

ภควโต  เอตมตฺถํ  อาโรเจสุํ  ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

(พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า)

น  ภิกฺขเว  ตรจฺฉมํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺสาติ  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ

ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60

…………..

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –

…………..

สีหมํสาทีนิ  ปญฺจ  อตฺตโน  อนุปทฺทวตฺถายาติ  ฯ

เนื้อ 5 ชนิดมีเนื้อสิงโตเป็นต้น (รวมทั้งเนื้อเสือดาว) ที่ทรงห้ามก็เพื่อต้องการความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุ

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย” (วาทะสมเด็จโต) ฉันใด

: สัตว์ชนิดเดียว อาจมีชื่อเรียกตั้งร้อย ฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (3,656)

16-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *