เอกํ นาม กึ (บาลีวันละคำ 1,996)
เอกํ นาม กึ
อ่านว่า เอ-กัง นา-มะ กิง
อรรถกถาธรรมบทเล่าเรื่องนักบวชหญิงนอกศาสนาคนหนึ่งท้าโต้วาทะกับพระสารีบุตร โดยยกปัญหาเชิงปรัชญาขึ้นมาถามกัน
นักบวชหญิงผู้นั้นเป็นฝ่ายถามก่อน พระสารีบุตรสามารถตอบได้หมดทุกคำถาม จนสิ้นปัญญาจะถามต่อไปอีก พระเถระจึงเป็นฝ่ายถามบ้าง
ท่านถามเพียงข้อเดียวว่า – “เอกํ นาม กึ”
นักบวชหญิงผู้นั้นซึ่งตามประวัติบอกว่าเที่ยวโต้วาทะชนะนักปราชญ์มาแล้วทั่วชมพูทวีป ตอบคำถามข้อนี้ไม่ได้
สุดท้าย นักบวชหญิงผู้นั้นยอมบวชในพระพุทธศาสนา และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีชื่อปรากฏในพระศาสนานี้ว่า “พระกุณฑลเกสีเถรี”
“เอกํ นาม กึ” เป็นประโยคคำถาม
“เอกํ” (เอ-กัง) แปลว่า “หนึ่ง” ในที่นี้ไม่ใช่เป็นจำนวนนับ 1.. 2.. 3.. แต่หมายถึง อย่างหนึ่ง อย่างเดียว ไม่มีสอง
“นาม” (นา-มะ) แปลว่า “ชื่อ” คำนี้เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว
“กึ” (กิง) แปลว่า “อะไร”
“เอกํ นาม กึ” แปลว่า “ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร” หรือ “อะไรชื่อว่าหนึ่ง”
ความหมายของคำถามนี้คือต้องการถามว่า อะไรที่นับว่าเป็นหนึ่ง คือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
คำถามข้อนี้มีคำตอบว่า – “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา” (สับ-เพ สัด-ตา อา-หา-รัด-ถิ-ติ-กา) (ที่มา: สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 226)
“สพฺเพ สตฺตา” แปลว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง”
“อาหารฏฺฐิติกา” แปลว่า “ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร”
“สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา”
“สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร”
ถอดความสั้นๆ ฟังง่ายๆ ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่กินอยู่ไม่ได้
“เอกํ นาม กึ” เป็นภาษาบาลีที่ชาวพุทธควรพูดได้ติดปาก เพื่อถามกันและกัน และแม้เพื่อถามตัวเอง
และถ้าเป็นชาวพุทธ เมื่อได้ยินคำถามนี้ ควรตอบได้
ไม่ใช่ตอบตามความเข้าใจของตัวเอง
แต่ตอบตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กินเพื่ออยู่ เป็นที่รู้กันทั่วไป
: แต่อยู่เพื่ออะไร ตอบถูกได้สักกี่คน?
#บาลีวันละคำ (1,996)
29-11-60