บาลีวันละคำ

สาลีนํ โอทนํ (บาลีวันละคำ 3,646)

สาลีนํ โอทนํ

หมายถึงอะไร

อ่านว่า สา-ลี-นัง โอ-ทะ-นัง

เป็นคำบาลี 2 ศัพท์ คือ “สาลีนํ” และ “โอทนํ” 

(๑) “สาลีนํ

อ่านว่า สา-ลี-นัง รูปศัพท์เดิมเป็น “สาลิ” อ่านว่า สา-ลิ (โปรดสังเกต รูปศัพท์เดิม –ลิ สระอิ ไม่ใช่ –ลี สระอี) รากศัพท์มาจาก –

(1) สาลฺ (ธาตุ = ยก, สรรเสริญ) + อิ ปัจจัย

: สาลฺ + อิ = สาลิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่ยกรวงขึ้น” 

(2) (แทนศัพท์ว่า “เขตฺต” = นา) + ลิ (ธาตุ = ติดแน่น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ เป็น อา ( > สา

: + ลิ = สลิ + กฺวิ = สลิกฺวิ > สลิ > สาลิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่ขึ้นติดอยู่ในนา” 

สาลิ”(ปุงลิงค์) หมายถึง ข้าว (rice) คือข้าวทั่วไป 

ในภาษาไทยใช้ว่า “สาลิ” และ “สาลี” แต่ “สาลิ” (-ลิ สระอิ) ไม่นิยมใช้ มักใช้ว่า “สาลี” (-ลี สระอี) และมักเข้าใจกันในความหมายว่า ข้าวสาลี ที่ภาษาอังกฤษเรียก wheat

บาลี “สาลิ” สันสกฤตเป็น “ศาลิ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศาลิ : (คำนาม) ข้าวทั่วไป; rice in general.”

โปรดสังเกตว่า ในสันสกฤตก็หมายถึง ข้าวทั่วไป (rice in general) ไม่ได้หมายถึง wheat 

สาลิ” และ “สาลี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) สาลิ, สาลี ๑ : (คำนาม) ข้าว; ข้าวสาลี. (ป.).

(2) สาลี ๒ : (คำนาม) ข้าวสาลี. (ดู ข้าวสาลี).

ที่คำว่า “ข้าวสาลี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ข้าวสาลี : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Triticum aestivum L. ในวงศ์ Gramineae เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ เมล็ดบดเป็นแป้ง เรียกว่า แป้งสาลี ใช้ทําขนมปังเป็นต้น.”

(๒) “โอทนํ” 

อ่านว่า โอ-ทะ-นัง รูปศัพท์เดิมเป็น “โอทน” อ่านว่า โอ-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = เปียก, ชุ่ม; เจริญ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อุทิ เป็น โอทฺ 

: อุทิ > โอทฺ + ยุ > อน = โอทน แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่เปียกน้ำ” “ข้าวที่เจริญ” (คือสวยงาม) 

โอทน” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ข้าวสุก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โอทน” ว่า boiled (milk — ) rice, gruel (ข้าวสุก, ข้าวต้ม) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอทน-, โอทนะ : (คำนาม) ข้าวสุก, ข้าวสวย. (ป.).”

ความรู้เดิม :

สาลีนํ โอทนํ” เป็นคำที่ยกมาจากคำบูชาข้าวพระ คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความเต็มๆ ดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  สาลีนํ  โอทนํ  อุทกํ  วรํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

อิมัง  สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง  สาลีนัง  โอทะนัง  อุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ  ปูเชมิ.

แปลยกศัพท์ตามความรู้เดิม :

อหํ  อันว่าข้าพเจ้า 

ปูเชมิ  ขอบูชา 

โอทนํ ซึ่งข้าวสุก 

สาลีนํ แห่งข้าวสาลี

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ 

อุทกํ (และ) น้ำ 

วรํ อันประเสริฐ 

อิมํ นี้ 

พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า

แปลโดยใจความ :

ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกแห่งข้าวสาลี พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

…………..

อภิปราย : 

คำว่า “สาลีนํ” แปลตามความรู้เดิมว่า “แห่งข้าวสาลี” โดยอธิบายว่า รูปศัพท์เดิมเป็น “สาลิ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) ปุงลิงค์ พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สาลีนํ” แปลว่า “แห่งข้าวสาลีทั้งหลาย” 

สาลีนํ” สัมพันธ์กับ “โอทนํ” ในฐานะเป็นเจ้าของ พูดควบกัน 2 คำเป็น “สาลีนํ  โอทนํ” แปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย” หมายความว่า ข้าวสุก (โอทนํ) นั้นหุงมาจากข้าวสาลี นี่คือความรู้และความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม

โอทนํ” รูปศัพท์เดิมเป็น “โอทน” เป็น “กรรม” คือสิ่งที่ถูกทำในประโยค กริยาที่ทำคือ “ปูเชมิ” (ข้าพเจ้าขอบูชา) เมื่อเป็นกรรม จึงต้องแจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โอทนํ” แปลว่า “ซึ่งข้าวสุก” 

สาลีนํ  โอทนํ” แปลว่า “(ข้าพเจ้าขอบูชา) ซึ่งข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย (แก่พระพุทธเจ้า)

ตามความรู้และความเข้าใจเดิมเช่นนี้ จึงมีพิธีกรบางสำนักตั้งเป็นปัญหาว่า ข้าวสุกที่เราใช้บูชาข้าวพระทุกวันนี้เป็นข้าวสุกธรรมดา ไม่ใช่ข้าวสาลี ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ การมีคำว่า “สาลีนํ” อยู่ในคำบูชาข้าวพระจึงผิดความจริง คำบูชาข้าวพระจึงสมควรตัดคำว่า “สาลีนํ” ออกไป ควรใช้ว่า “อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  โอทนํ  อุทกํ  วรํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ.” (ไม่ต้องมี สาลีนํ) แบบนี้จึงจะถูกต้อง

…………..

ข้อที่ควรพิจารณาคือ คำว่า “สาลีนํ” หมายถึงอะไร?

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอข้อพิจารณาดังนี้

คำว่า “สาลีนํ” ในคำว่า “สาลีนํ  โอทนํ” หมายถึงอะไร?

ไม่ได้ถามว่า “สาลีนํ  โอทนํ” แปลว่าอะไร เพราะนักบาลีในเมืองไทยส่วนมากย่อมจะแปลกันออก คือแปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” 

โอทนํ = ข้าวสุก 

สาลีนํ = แห่งข้าวสาลี 

ในที่นี้ถามเลยไปถึงว่า คำว่า “สาลีนํ  โอทนํ” ที่แปลกันว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” นั้น หมายถึงอะไร?

ธัญชาติที่คนในชมพูทวีปเอามากินเป็นอาหารประวันนั้น ที่รู้จักกันดีมีอยู่ 7 ชนิด คือ –

1 สาลิ = ข้าวสาลี 

2 วีหิ = ข้าวเปลือก 

3 ยโว = ข้าวเหนียว 

4 โคธุโม = ข้าวละมาน 

5 กงฺคุ = ข้าวฟ่าง 

6 วรโก = ลูกเดือย 

7 กุทฺรูสโก = หญ้ากับแก้ 

ข้าวสาลี ถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศในจำพวกอาหารที่เป็นธัญชาติ ยืนยันได้ด้วยข้อความในคัมภีร์ที่จะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างดังนี้ –

………..

ทสวสฺสายุเกสุ  ภิกฺขเว  มนุสฺเสสุ  กุทฺรุสโก  อคฺคโภชนํ  ภวิสฺสติ, เสยฺยถาปิ  ภิกฺขเว  เอตรหิ  สาลิมํโสทโน  อคฺคโภชนํ  เอวเมว  โข  ภิกฺขเว  ทสวสฺสายุเกสุ  มนุสฺเสสุ  กุทฺรุสโก  อคฺคโภชนํ  ภวิสฺสติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ 10 ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี เปรียบเหมือนข้าวสุกข้าวสาลีระคนกับเนื้อสัตว์เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุ 10 ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดีฉันนั้นเหมือนกัน

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 46 

………..

ค่านิยมที่ถือว่าข้าวสาลีเป็นอาหารชั้นเลิศนี้เอง ทำให้คำว่า “สาลี” มีความหมายขยายตัวหรือกลายความหมายไป คืออาหาร-โดยเฉพาะที่ปรุงจากพืชผัก-ถ้ามีคุณภาพดีมากๆ ก็จะถูกเรียกว่า “สาลี” 

เปรียบเทียบได้กับคำว่า “เพชร” ในภาษาไทย 

เพชร” เป็นรัตนชาติที่มีค่าสูงสุด เมื่อเราเห็นสิ่งใดมีค่าที่สุด เราก็เอาไปเปรียบกับเพชร เช่น 

…………

– บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็น “เพชรน้ำเอก” ในวงวรรณกรรมไทย

– หนังสือ “พุทธธรรม” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) เป็น “เพชรน้ำเอก” ในวงการพุทธศาสนา

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนและหนังสือ “พุทธธรรม” ไม่ใช่เพชร แต่มีคุณค่าประดุจเพชร-ฉันใด

…………

ในวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป บรรดาธัญชาติทั้งหลาย “สาลิ” เป็นของกินที่เลิศรสที่สุด เมื่อเอ่ยถึงอาหารที่ดีที่สุด จึงนิยมเปรียบว่าเลิศรสประดุจข้าวสาลี-ก็ฉันนั้น

เมื่อเอาคำว่า “สาลิ” ไปประกอบวิภัตติปัจจัยตามหลักไวยากรณ์บาลี แล้วพูดควบไปกับคำอื่นๆ เช่น –

สาลีนํ  โอทนํ 

สาลีนํ  ภตฺตํ 

สาลีนํ  โภชนํ 

สาลีนํ  ปิณฺฑปาตํ 

คราวนี้คำว่า “สาลีนํ” ก็ไม่ได้หมายถึง “ข้าวสาลี” ตรงตัวตามความหมายดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงอาหารหรือของกินที่มีคุณภาพดีเลิศ หรือที่เราพูดกันเป็นภาษาปาก ว่า “ของกินดีๆ ทั้งนั้น” 

ในที่สุด คำว่า “นํ” ที่เป็นวิภัตติก็ติดมากับคำว่า “สาลิ” ด้วย กลายเป็น “สาลีน” เกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีศัพท์ว่า –

Sālin (สาลี) แปลว่า excellent (ประเสริฐ) 

Sālīna (สาลีน) แปลว่า fine [rice] (ข้าวชนิดดี) 

คนไทยไม่ได้กินข้าวสุกที่หุงมาจากข้าวสาลี ข้าวสุกที่เราใช้บูชาข้าวพระก็ไม่ใช่ข้าวสุกที่หุงมาจากข้าวสาลี เพราะฉะนั้นคำบูชาข้าวพระที่ว่า “สาลีนํ  โอทนํ” ถ้าแปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” ก็ผิดความจริง

สาลีนํ  โอทนํ” ในคำบูชาข้าวพระ จึงไม่ได้หมายถึง “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” 

สาลีน” หมายถึง ประเสริฐ (excellent), ชนิดดี (fine)

สาลีนํ  โอทนํ” จึงมีความหมายว่า “ข้าวสุกชนิดดี” หรือ “ข้าวสุกอันประเสริฐ” รับกับคำต่อมาที่ว่า “อุทกํ วรํ” ซึ่งแปลว่า “น้ำอันประเสริฐ” หมายความว่า บูชาข้าวน้ำอันประเสริฐแด่พระพุทธเจ้า

สรุปว่า คำว่า “สาลีนํ” ตามศัพท์เดิมจริงๆ แปลว่า “แห่งข้าวสาลี” แต่ต่อมาความหมายกลายไป หมายถึง ประเสริฐ, ชั้นดี, ชนิดดี 

ดังนั้น คำบูชาข้าวพระที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มีคำว่า “สาลีนํ” ด้วย จึงเป็นการถูกต้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องตัดออก แต่ต้องแปลตามความรู้ใหม่ ไม่ใช่ตามความรู้เดิม 

คือต้องแปลดังนี้ –

แปลยกศัพท์ :

อหํ  อันว่าข้าพเจ้า 

ปูเชมิ  ขอบูชา 

โอทนํ ซึ่งข้าวสุก 

สาลีนํ อันบริสุทธิ์ 

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ 

อุทกํ (และ) น้ำ 

วรํ อันประเสริฐ 

อิมํ นี้ 

พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า

แปลโดยใจความ :

ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

อุดมคติของคนไทย –

: ของเก่าก็รักษาไว้ได้

: ของใหม่ก็ทำเป็น

#บาลีวันละคำ (3,646)

6-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *