บาลีวันละคำ

จิตวิสัย (บาลีวันละคำ 3,645)

จิตวิสัย

ตามแต่ใจจะปรารถนา

อ่านว่า จิด-ตะ-วิ-ไส

ประกอบด้วยคำว่า จิต + วิสัย

(๑) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

(๒) “วิสัย”

บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)

: วิ + สิ = วิสิ + = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –

(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)

(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)

จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –

(1) ขอบเขต 

(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”

จิต + วิสัย = จิตวิสัย อ่านว่า จิด-ตะ-วิ-ไส (ไม่ใช่ จิด-วิ-ไส) แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตของจิต” “อารมณ์ของจิต” “ความสามารถของจิต

ขยายความ :

จิตวิสัย” แปลงเป็นบาลีได้รูปเป็น “จิตฺตวิสย” อ่านว่า จิด-ตะ-วิ-สะ-ยะ พบศัพท์รูปนี้แห่งเดียวในคัมภีร์บาลี คือพบในคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา (เป็นชื่อคัมภีร์ชั้นฎีกา อธิบายความในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มักเรียกกันว่า “มหาฎีกา”) ภาค 3 หน้า 105 มีข้อความดังนี้ –

…………..

อญฺญโต  อาคนฺตฺวา  จิตฺตวิสยํ  อภิมุโข  ภวติ  เอตายาติ  วิสยาภิมุขภาโว  สติ  ฯ

ที่ชื่อว่า “สติ” เพราะเป็นเครื่องมือดึงจิตออกจากอารมณ์อื่นทำให้เข้ามาอยู่ในขอบเขตของจิต ซึ่งก็คือภาวะที่จิตอยู่ในอำนาจการควบคุมของสติ

…………..

จิตวิสัย” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า subjective

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล subjective เป็นไทยดังนี้ –

(1) เกี่ยวกับผู้กระทำ, เกี่ยวกับผู้ดู, เกี่ยวกับจิตใจของผู้ดู, จากแง่ของผู้ดู 

(2) โดยคิดนึกเอาในใจเอง, ความคิดฝัน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล subjective เป็นบาลีดังนี้: 

(1) ajjhattikā อชฺฌตฺติกา (อัด-ชัด-ติ-กา) = สิ่งที่เกิดมีขึ้นอยู่ภายใน

(2) mānasika มานสิก (มา-นะ-สิ-กะ) = สิ่งที่ประกอบอยู่ในจิต

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จิตวิสัย : (คำวิเศษณ์) ที่มีอยู่ในจิต, ที่เกี่ยวกับจิต; ที่จิตคิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยวัตถุภายนอก, ตรงข้ามกับ วัตถุวิสัย; เรียกการสอบแบบที่ให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นด้วยว่า การสอบแบบจิตวิสัย, อัตนัย ก็ว่า. (อ. subjective).”

…………..

เข้าใจแบบง่ายๆ “จิตวิสัย” ก็คือ เรื่องที่เปิดโอกาสให้ใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่ คิดได้อย่างเสรี ไม่ต้องคิดตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ให้

ถ้าพูดถึงข้อสอบหรือการตอบคำถาม “จิตวิสัย” หรือ “อัตนัย” ก็คือ ตอบได้ตามที่ใจคิด คิดหรือตอบนอกกรอบก็ได้ ตรงข้ามกับ “วัตถุวิสัย” หรือ “ปรนัย” ที่ต้องตอบตามตัวเลือกที่กำหนดไว้ให้ ตอบนอกกรอบไม่ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำตอบ ใช้วัดความโง่หรือความฉลาดของผู้ตอบได้

: คำถาม ก็ใช้วัดความโง่หรือความฉลาดของผู้ถามได้เช่นกัน

#บาลีวันละคำ (3,645)

5-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *