บาลีวันละคำ

มนุสฺสมํส  (บาลีวันละคำ 3,647)

มนุสฺสมํส 

เนื้อมนุษย์ : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 1

เขียนแบบบาลี อ่านว่า มะ-นุด-สะ-มัง-สะ

แยกศัพท์เป็น มนุสฺส + มํส

(๑) “มนุสฺส” 

อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย 

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก

: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู

คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.” 

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

ความหมายของคำว่า “มนุสฺสมนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง” 

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีตรงตัวเป็น “มนุสฺส

(๒) “มํส” 

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

มนุสฺส + มํส = มนุสฺสมํส (มะ-นุด-สะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อมนุษย์” หรือ “เนื้อคน”

ขยายความ :

มนุสฺสมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –

(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์

(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง

(3) อสฺสมํส เนื้อม้า

(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข

(5) อหิมํส เนื้องู

(6) สีหมํส เนื้อสิงโต

(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง

(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง

(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี

(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว

…………..

ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อมนุษย์เกิดขึ้นที่เมืองพาราณสี 

อุบาสกอุบาสิกาเป็นสามีภรรยากันคู่หนึ่ง มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุอย่างเข้มแข็ง มักจะไปวัดแล้วนมัสการถามพระว่า ขาดเหลืออะไร ต้องการอะไร โยมจะจัดถวาย

วันหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ บอกอุบาสิกาว่า อยากฉันน้ำต้มเนื้อ อุบาสิกาก็รับปากจะจัดมาถวาย กลับบ้านแล้วสั่งคนใช้ให้ไปซื้อเนื้อที่ตลาด แต่ประจวบเป็นวันงดฆ่าสัตว์ ทั้งตลาดไม่มีเนื้อขาย อุบาสิกาคิดว่า ถ้าพระไม่ได้ฉันน้ำต้มเนื้อ อาพาธอาจจะกำเริบ ทั้งตนก็ตกปากรับคำแล้ว จึงตัดสินใจเชือดเนื้อขาอ่อน (อูรุมํส) ของตัวเองให้แม่ครัวเอาไปต้มเอาไปถวายภิกษุรูปนั้น 

สามีทราบเรื่องก็อัศจรรย์ในศรัทธาของภรรยา อนุโมทนาเต็มขนาด ด้วยความปลื้มใจในมังสทานของภรรยาจึงนิมนต์พระพุทธเจ้ากับภิกษุสงฆ์ไปฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น 

เมื่ออุบาสิกามาถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า แผลที่ขาอ่อนก็หายสนิทเหมือนเดิม เป็นที่น่าอัศจรรย์

เนื่องมาจากเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ มีพุทธดำรัสดังนี้ –

…………..

สนฺติ  ภิกฺขเว  มนุสฺสา  สทฺธา  ปสนฺนา  เตหิ  อตฺตโนปิ  มํสานิ  ปริจฺจตฺตานิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้

น  ภิกฺขเว  มนุสฺสมํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ถุลฺลจฺจยสฺส  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย

น  จ  ภิกฺขเว  อปฺปฏิเวกฺขิตฺวา  มํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณาไม่พึงฉันเนื้อ

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺสาติ  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ

ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 59

…………..

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –

มนุสฺสมํสํ  สชาติกตาย  ปฏิกฺขิตฺตํ.

เนื้อมนุษย์ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามก็เพราะเป็นชาติมนุษย์ด้วยกัน

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มนุษย์ที่กินเนื้อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน น่ารังเกียจ

: แต่มนุษย์ที่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน น่าสะอิดสะเอียน

#บาลีวันละคำ (3,647)

7-6-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *