บาลีวันละคำ

อหิมํส (บาลีวันละคำ 3,651)

อหิมํส

เนื้องู : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 5

เขียนแบบบาลี อ่านว่า อะ-หิ-มัง-สะ

แยกศัพท์เป็น อหิ + มํส

(๑) “อหิ” 

อ่านว่า อะ-หิ รากศัพท์มาจาก อหฺ ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: อหฺ + อิ = อหิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่แม้จะไม่มีเท้าก็สามารถไปได้” หมายถึง งู (a snake)

(๒) “มํส” 

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

อหิ + มํส = อหิมํส (สุ-นะ-ขะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้องู

ขยายความ :

อหิมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –

(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์

(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง

(3) อสฺสมํส เนื้อม้า

(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข

(5) อหิมํส เนื้องู

(6) สีหมํส เนื้อสิงโต

(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง

(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง

(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี

(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว

…………..

ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้องู ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

เตน  โข  ปน  สมเยน  มนุสฺสา  ทุพฺภิกฺเข  อหิมํสํ  ปริภุญฺชนฺติ  ภิกฺขูนํ  ปิณฺฑาย  จรนฺตานํ  อหิมํสํ  เทนฺติ  ฯ 

ก็สมัยนั้นแล ยามอัตคัดอาหารประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต

ภิกฺขู  อหิมํสํ  ปริภุญฺชนฺติ  ฯ 

ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู

มนุสฺสา  อุชฺฌายนฺติ  ขียนฺติ  วิปาเจนฺติ 

ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า –

กถํ  หิ  นาม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  อหิมํสํ  ปริภุญฺชิสฺสนฺติ 

ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า

เชคุจฺโฉ  อหิ  ปฏิกฺกูโลติ  ฯ

งูเป็นสัตว์ที่น่าเกลียด

สุปสฺโสปิ  นาคราชา  เยน  ภควา  เตนุปสงฺกมิ  อุปสงฺกมิตฺวา  ภควนฺตํ  อภิวาเทตฺวา  เอกมนฺตํ  อฏฺฐาสิ  ฯ

ฝ่ายพญานาคชื่อสุปัสสะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เอกมนฺตํ  ฐิโต  โข  สุปสฺโส  นาคราชา  ภควนฺตํ  เอตทโวจ 

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ –

สนฺติ  ภนฺเต  นาคา  อสฺสทฺธา  อปฺปสนฺนา

พระพุทธเจ้าข้า บรรดานาคที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส มีอยู่

เต  อปฺปมตฺตเกปิ  ภิกฺขู  วิเหเฐยฺยุํ

นาคเหล่านั้นอาจจะเบียดเบียนพวกภิกษุเข้าสักรูปสองรูป (เพราะเหตุที่ภิกษุฉันเนื้องู)

สาธุ  ภนฺเต  อยฺยา  อหิมํสํ  น  ปริภุญฺเชยฺยุนฺติ  ฯ

ขอประทานพระวโรกาสพระพุทธเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดอย่าฉันเนื้องูเลย

อถโข  ภควา  สุปสฺสํ  นาคราชานํ  ธมฺมิยา  กถาย  สนฺทสฺเสสิ  สมาทเปสิ  สมุตฺเตเชสิ   สมฺปหํเสสิ  ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พญานาคสุปัสสะเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

อถโข  สุปสฺโส  นาคราชา  ภควตา  ธมฺมิยา  กถาย  สนฺทสฺสิโต  สมาทปิโต  สมุตฺเตชิโต  สมฺปหํสิโต  ภควนฺตํ  อภิวาเทตฺวา  ปทกฺขิณํ  กตฺวา  ปกฺกามิ  ฯ

พญานาคสุปัสสะ ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วทูลลาไป

อถโข  ภควา  เอตสฺมึ  นิทาเน  เอตสฺมึ  ปกรเณ  ธมฺมึ  กถํ  กตฺวา  ภิกฺขู  อามนฺเตสิ 

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงสำแดงธรรมกถาเพราะเหตุอันเป็นเค้ามูลแรกเกิดนั้น ดำรัสสั่งภิกษุทั้งหลายว่า

น  ภิกฺขเว  อหิมํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺสาติ  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ

ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60

…………..

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –

…………..

อหิมํสนฺติ  ยสฺส  กสฺสจิ  อปาทกสฺส  ทีฆชาติกสฺส  มํสํ  น  วฏฺฏติ  ฯ

คำว่า อหิมํสํ (เนื้องู) หมายความว่า เนื้อแห่งทีฆชาติซึ่งไม่มีเท้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ควรฉัน

….

….

สุนขมํสญฺจ  อหิมํสญฺจ  ปฏิกฺกูลตาย.

เนื้อสุนัขและเนื้องู ที่ทรงห้ามเพราะเป็นของสกปรก

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193

…………..

ดูก่อนภราดา!

: งูขึ้นต้นไม้ ไม่ต้องใช้ตีน

: คนฉลาดไปนิพพาน ไม่ต้องใช้ตังค์

#บาลีวันละคำ (3,651)

11-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *