สุนขมํส (บาลีวันละคำ 3,650)
สุนขมํส
เนื้อสุนัข : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 4
เขียนแบบบาลี อ่านว่า สุ-นะ-ขะ-มัง-สะ
แยกศัพท์เป็น สุนข + มํส
(๑) “สุนข”
อ่านว่า สุ-นะ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุนฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อุน ที่ สุนฺ เป็น อุนข (สุนฺ คือ ส + อุน)
: สุนฺ + อ = สุน > สุนข แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ”
(2) สุ (ธาตุ = ฟัง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อุ ที่ สุ เป็น อุนข (สุ คือ ส + อุ)
: สุ + อ = สุ > สุนข แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เชื่อฟังคำเจ้าของ”
(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + นข (เล็บ)
: สุ + นข = สุนข แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีเล็บงาม”
“สุนข” (ปุงลิงค์) หมายถึง สุนัข (a dog)
(๒) “มํส”
อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
สุนข + มํส = สุนขมํส (สุ-นะ-ขะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อสุนัข”
ขยายความ :
“สุนขมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –
(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์
(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง
(3) อสฺสมํส เนื้อม้า
(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข
(5) อหิมํส เนื้องู
(6) สีหมํส เนื้อสิงโต
(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง
(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง
(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี
(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว
…………..
ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อสุนัข ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –
…………..
เตน โข ปน สมเยน มนุสฺสา ทุพฺภิกฺเข สุนขมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ภิกฺขูนํ ปิณฺฑาย จรนฺตานํ สุนขมํสํ เทนฺติ ฯ
ก็สมัยนั้นแล ยามอัตคัดอาหารประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกฺขู สุนขมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ฯ
ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข
มนุสฺสา อุชฺฌายนฺติ ขียนฺติ วิปาเจนฺติ
ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า –
กถํ หิ นาม สมณา สกฺยปุตฺติยา สุนขมํสํ ปริภุญฺชิสฺสนฺติ
ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า
เชคุจฺโฉ สุนโข ปฏิกฺกูโลติ ฯ
สุนัขเป็นสัตว์สกปรก
ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
น ภิกฺขเว สุนขมํสํ ปริภุญฺชิตพฺพํ
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข
โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ
ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60
…………..
คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –
…………..
สุนขมํสนฺติ เอตฺถ
ในเรื่องเนื้อสุนัข มีข้อพิจารณาดังนี้ –
อรญฺญโกกา นาม สุนขสทิสา โหนฺติ
สุนัขป่าคล้ายกับสุนัข (แต่ไม่ถือว่าเป็นสุนัข)
เตสํ มํสํ วฏฺฏติ ฯ
เนื้อสุนัขป่านั้นฉันได้
โย ปน คามสุนขิยา วา โกเกน โกกสุนขิยา วา คามสุนเขน สํโยเคน อุปฺปนฺโน
แต่สุนัขที่เกิดด้วยแม่สุนัขบ้านกับพ่อสุนัขป่าผสมกัน หรือเกิดด้วยแม่สุนัขป่ากับพ่อสุนัขบ้านผสมกัน
ตสฺส มํสํ น วฏฺฏติ ฯ
เนื้อของสุนัขนั้นฉันไม่ได้
โส หิ อุภยํ ภชตีติ ฯ
เพราะสุนัขเช่นว่านั้นอนุโลมเข้าได้ทั้งสุนัขป่าและสุนัขบ้าน
….
….
สุนขมํสญฺจ อหิมํสญฺจ ปฏิกฺกูลตาย.
เนื้อสุนัขและเนื้องู ที่ทรงห้ามเพราะเป็นของสกปรก
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สุนัขฝึกตัวมันเองไม่ได้
: แต่คนฝึกตัวเองได้
#บาลีวันละคำ (3,650)
10-6-65
…………………………….
…………………………….