บาลีวันละคำ

สีหมํส (บาลีวันละคำ 3,652)

สีหมํส

เนื้อสิงโต : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 6

เขียนแบบบาลี อ่านว่า สี-หะ-มัง-สะ

แยกศัพท์เป็น สีห + มํส

(๑) “สีห” 

อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ), ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” 

สีห” (ปุงลิงค์) นักเรียนบาลีนิยมแปลเป็นไทยว่า ราชสีห์

บาลี “สีห” สันสกฤตเป็น “สึห” (สึ– สระ อึ = อิง ไม่ใช่สระ อี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สึห : (คำนาม) ‘สิงห์,’ เกสริน, สัตว์มีผมคอ; สิงหราศิ, ราศีสิงห์; ต้นมะเขือ; มารดาของราหุหรือราหู; พาลพฤกษ์; ต้นพฤหดีหรือตรังตังช้าง; a lion; Leo, the sign of the zodiac; the egg-plant; the mother of Rahu; a shrub; the prickly night-shade. – (คำวิเศษณ์) (คำใช้ในการรจนา) วิศิษฏ์; เอก; (In composition) pre-eminent; chief.”

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

สรุปว่า บาลี “สีห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สีห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สีห์” “สีหะ” “สิงห-” และ “สิงห์

(๒) “มํส” 

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

สีห + มํส = สีหมํส (อะ-หิ-มัง-สะ) แปลตามที่นิยมกันว่า “เนื้อราชสีห์” แต่ในที่นี้แปลว่า “เนื้อสิงโต” 

ขยายความ :

สีหมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –

(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์

(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง

(3) อสฺสมํส เนื้อม้า

(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข

(5) อหิมํส เนื้องู

(6) สีหมํส เนื้อสิงโต

(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง

(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง

(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี

(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว

…………..

อภิปรายแทรก :

มีข้อควรสงสัยว่า บาลีว่า “สีห” ไทยแปลว่า “ราชสีห์” แล้ว “ราชสีห์” คือตัวอะไร เป็นสัตว์ชนิดไหน 

แล้วยังมีคำอธิบายว่า ราชสีห์เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ไม่ใช่สัตว์ในแดนมนุษย์ ถ้าดูตามรูปเขียนของช่างไทยที่เขียนรูป “ราชสีห์” ตามร่างกายมีลวดลาย ปาก ขา และหางก็เป็นลายกระหนก ก็ยิ่งยืนยันได้ว่า “สีห” หรือ “ราชสีห์” ไม่มีในแดนมนุษย์แน่นอน

แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อ “สีห” (ราชสีห์) ก็แปลว่า “ราชสีห์” (สีห) ต้องเป็นสัตว์ที่มีอยู่ในแดนมนุษย์นี่เอง จึงต้องถามว่า “สีห” (ราชสีห์) คือตัวอะไร เป็นสัตว์ชนิดไหนกันแน่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นิยามคำว่า “ราชสีห์” ไว้ดังนี้ –

ราชสีห์ : (คำนาม) พญาสิงโต, สิงหราช หรือ สีหราช ก็เรียก; สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, สิงห์ ก็เรียก. (ป. ราช + สีห; ส. ราช + สึห).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีห” ว่า a lion 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล lion เป็นไทยดังนี้ –

1. สิงโต 

2. เครื่องหมายสิงโต ที่ใช้แทนประเทศอังกฤษ, อังกฤษ 

3. คนสำคัญ, สถานที่สำคัญ 

4. คนกล้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นิยามคำว่า “สิงโต” ไว้ดังนี้ –

สิงโต ๒ : (คำนาม) ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Panthera leo (Linn.) ในวงศ์ Felidae รูปร่างคล้ายแมวแต่มีขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่ง ตัวสีนํ้าตาล ไม่มีลาย ขนปลายหางเป็นพู่ ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ตัวเมียไม่มี อาศัยอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง ตัวเมียมักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย สิงโตเอเชียมีขนาดเล็กกว่าสิงโตแอฟริกาเล็กน้อย.”

เป็นอันว่า สีห > ราชสีห์ > พญาสิงโต > สิงโต > lion

คงไม่สงสัยแล้วว่า lion คือตัวอะไร เป็นสัตว์ชนิดไหน มีในแดนมนุษย์หรือไม่ และที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉัน “สีหมํส” นั้น คือเนื้ออะไร

…………..

คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค 2 ตอนอธิบายสีหสูตร ขยายความคำว่า “สีห” ไว้ดังนี้ –

(ในที่นี้คงคำแปล “สีห” ว่า “ราชสีห์” ไว้ตามความนิยม)

…………..

จตฺตาโร  สีหา  ติณสีโห  กาฬสีโห  ปณฺฑุสีโห  เกสรสีโหติ  ฯ 

ราชสีห์มี 4 จำพวก คือ ติณราชสีห์จำพวก 1 กาฬราชสีห์จำพวก 1 ปัณฑุราชสีห์จำพวก 1 ไกรสรราชสีห์จำพวก 1 

เตสุ  ติณสีโห  กโปตวณฺณคาวีสทิโส  ติณภกฺโข  จ  โหติ  ฯ

บรรดาราชสีห์ 4 จำพวกนั้น ติณราชสีห์มีรูปร่างเหมือนแม่โค สีคล้ายนกพิราบ และกินหญ้าเป็นอาหาร

กาฬสีโห  กาฬคาวีสทิโส  ติณภกฺโขเยว  ฯ

กาฬราชสีห์มีรูปร่างเหมือนแม่โคดำ กินหญ้าเป็นอาหารเช่นกัน

ปณฺฑุสีโห  ปณฺฑุปลาสวณฺณคาวีสทิโส  มํสภกฺโข  ฯ

ปัณฑุราชสีห์มีรูปร่างเหมือนแม่โคเหลือง สีคล้ายใบไม้เหลือง กินเนื้อเป็นอาหาร

เกสรสีโห  ลาขารสปริกมฺมกเตเนว  มุเขน

ไกรสรราชสีห์ประกอบด้วยลักษณะคือดวงหน้าที่สวยงามเหมือนมีใครเอาน้ำครั่งมาแต่งเติมไว้

อคฺคนงฺคุฏฺเฐน

ปลายหางสวยงาม

จตูหิ  ปาทปริยนฺเตหิ  สมนฺนาคโต  มตฺถกโตปิสฺส  ปฏฺฐาย  ลาขาตูลิกาย  กตา  วิย  ติสฺโส  ราชิโย  ปิฏฺฐิมชฺเฌน  คนฺตฺวา  อนฺตรสตฺถิมฺหิ  ทกฺขิณาวตฺตา  หุตฺวา  ฐิตา

และปลายเท้าทั้ง 4 ตั้งแต่ศีรษะของราชสีห์นั้นลงไป  มีแนวปรากฏอยู่ ๓ แนวซึ่งเป็นเหมือนมีใครมาแต้มไว้ด้วยสีน้ำครั่ง สีชาด และสีหิงคุ แนวทั้ง 3 นั้นผ่านหลังไปสุดที่ภายในขาอ่อน เป็นวงทักษิณาวรรต

ขนฺเธ  ปนสฺส  สตสหสฺสคฺฆนิกกมฺพลปริกฺเขโป  วิย  เกสรภาโร  โหติ  

ที่ต้นคอมีขนขึ้นเป็นพวงเหมือนวงไว้ด้วยผ้ากัมพลราคาตั้งแสน

อวเสสฏฺฐานํ  ปริสุทฺธํ  สาลิปิฏฺฐสงฺขจุณฺณปิจุวณฺณํ  โหติ  ฯ

ส่วนที่เหลือภายในร่างกายมีสีขาวบริสุทธิ์เหมือนแป้งข้าวสาลีและผงจุรณแห่งสังข์

ที่มา: สารัตถปกาสินี ภาค 2 หน้า 444

…………..

ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อสิงโต ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

เตน  โข  ปน  สมเยน  ลุทฺธกา  สีหํ  หนฺตฺวา  สีหมํสํ  ปริภุญฺชนฺติ  ภิกฺขูนํ  ปิณฺฑาย  จรนฺตานํ  สีหมํสํ  เทนฺติ  ฯ 

ก็สมัยนั้นแล พวกพรานฆ่าสิงโตแล้วบริโภคเนื้อสิงโต และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต

ภิกฺขู  สีหมํสํ  ปริภุญฺชิตฺวา  อรญฺเญ  วิหรนฺติ  ฯ

พวกภิกษุฉันเนื้อสิงโตแล้วอยู่ในป่า

สีหา  สีหมํสคนฺเธน  ภิกฺขู  ปริปาเตนฺติ  ฯ

ฝูงสิงโตฆ่าพวกภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อสิงโต

ภควโต  เอตมตฺถํ  อาโรเจสุํ  ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

(พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า)

น  ภิกฺขเว  สีหมํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสิงโต

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺสาติ  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ

ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60

…………..

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –

…………..

สีหมํสาทีนิ  ปญฺจ  อตฺตโน  อนุปทฺทวตฺถายาติ  ฯ

เนื้อ 5 ชนิดมีเนื้อสิงโตเป็นต้น ที่ทรงห้ามก็เพื่อต้องการความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุ

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นหัวหมา

: ดีกว่าเป็นหางราชสีห์

(คติของคนบางคน)

#บาลีวันละคำ (3,652)

12-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *