บาลีวันละคำ

โชยติส (บาลีวันละคำ 3,642)

โชยติส

ใครๆ ก็อ่านผิด ถ้าไม่รู้มาก่อน

คำนี้ ถ้าให้อ่านเท่าที่ตาเห็น คงจะมีคนอ่านเป็น 2 แบบ คือ –

1 อ่านว่า โชย-ติด คือ โชย- เหมือนคำว่า ลมโชย ในภาษาไทย

2 อ่านว่า โช-ยะ-ติด คือ โชย แยกเป็น โช + ยะ

อ่านแบบนั้นผิดทั้งคู่ 

คำอ่านตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้คือ ชะ-โย-ติด 

ถามว่า อ่านแบบนั้น ทำไมไม่เขียนเป็น “ชโยติส” เขียนแบบนี้อ่านไม่ผิดแน่นอน

ตอบว่า เขียนเป็น “ชโยติส” ไม่ได้ เพราะรูปคำเดิมในสันสกฤตเป็น “โชฺยติสฺ” โปรดสังเกตว่า มีจุดใต้ ชฺ หมายความว่า กับ ในคำนี้เป็นพยัญชนะควบกัน ไม่ได้แยกเป็น ตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่ง และไม่ได้อ่านว่า ชะ-ยะ แต่อ่านควบ ออกเสียงเท่ากับ เชียะ คือ ออกเสียงครึ่งเสียง (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า อัฒสระ) สระ โอ ข้างหน้าจึงต้องควบทั้ง 2 ตัว โชฺย อ่านออกเสียงคล้ายคำว่า ชวย-

โชฺยติสฺ” ในสันสกฤต ตรงกับ “โชติ” ในบาลี

โชติ” อ่านว่า โช-ติ รากศัพท์มาจาก ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต

: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง

โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance) 

(2) ดาว (a star) 

(3) ไฟ (fire) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โชฺยติษ” (ษ ฤษี สะกด) และ “โชฺยติสฺ” (ส เสือ สะกด) บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) โชฺยติษ: (คำวิเศษณ์) อันกล่าวถึงดาว; astrological, astronomical, relating of the heavenly bodies; – (คำนาม) โหร; คณก, องกวิทยาชญ์; ดาราศาสตร์, นักษัตรศาสตร์; ดาว, ดาวพระเคราะห์, นักษัตร, ดารา; an astrologer; an arithmetician; astronomy, astrology; a star, a planet, an asterism.

(2) โชฺยติสฺ : (คำนาม) ประภา, แสง; ดาว; อักษิดารา, ตุ๊กตาลูกตา; พระอาทิตย์; อัคนิหรือไฟ; light; a star; the pupil of the eye; the sun; Agni or fire.

ในภาษาไทยใช้เป็น “โชยติส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โชยติส [ชะโยติด] : (คำนาม) ดาราศาสตร์. (ส.; ป. โชติ).”

ข้อสังเกต :

พจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “โชยติส” (ส เสือ สะกด) บอกความหมายว่า “ดาราศาสตร์” และบอกว่าเป็นคำสันสกฤต แต่ “โชฺยติสฺ” (ส เสือ สะกด) ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้บอกความหมายว่า “ดาราศาสตร์” คำที่บอกความหมายว่า “ดาราศาสตร์” สะกดเป็น “โชฺยติษ” (ษ ฤษี สะกด) 

แถม :

โชยติส” จัดเป็นศาสตร์หนึ่งในจำนวนศิลปศาสตร์ 18 ประการ เรียกตามบาลีเป็น “โชติ” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ศิลปศาสตร์” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ศิลปศาสตร์ : ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติและธรรมนิติ ได้แก่

๑. สุติ ความรู้ทั่วไป

๒. สัมมุติ ความรู้กฎธรรมเนียม

๓. สังขยา วิชาคำนวณ

๔. โยคา การช่างการยนตร์

๕. นีติ วิชาปกครอง (คือความหมายเดิมของ นิติศาสตร์ ในชมพูทวีป)

๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล

๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ

๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย

๙. ธนุพเพธา (หรือ ธนุพเพทา) วิชายิงธนู 

๑๐. ปูรณา วิชาบูรณะ

๑๑. ติกิจฉา วิชาบำบัดโรค (แพทยศาสตร์)

๑๒. อิติหาสา ตำนาน หรือประวัติศาสตร์

๑๓. โชติ ความรู้เรื่องสิ่งส่องสว่างในท้องฟ้า (ดาราศาสตร์)

๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม

๑๕. ฉันทสา วิชาประพันธ์

๑๖. เกตุ วิชาพูด

๑๗. มันตา วิชาเวทมนตร์

๑๘. สัททา วิชาหลักภาษาหรือไวยากรณ์ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักดาวทุกดวงในห้วงนภากาศ

: ยังไม่ฉลาดเท่าคนที่รู้จักหัวใจตัวเองดวงเดียว

#บาลีวันละคำ (3,642)

2-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *