บาลีวันละคำ

ศรีไสยาสน์ (บาลีวันละคำ 3,641)

ศรีไสยาสน์

ไปอย่างไรมาอย่างไร

อ่านว่า สี-ไส-ยาด

ต้นเรื่องของคำนี้มาจากกลอนบทหนึ่งใน “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ มีข้อความดังนี้ –

…………..

อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์

อย่าประมาทหมั่นคํานับลงกับหมอน

เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร

คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์

…………..

เบื้องต้น ขอแยกศัพท์ “ศรีไสยาสน์” เป็น ศรี + ไสยาสน์ 

(๑) “ศรี” 

ศัพท์นี้บาลีเป็น “สิริ” และเป็น “สิรี” (-รี สระ อี) อีกรูปหนึ่ง แต่เราไม่นิยมใช้ในภาษาไทย คงใช้เฉพาะ “สิริ

สิริ” บาลีอ่านว่า สิ-ริ รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย (อ่านว่า ระ ปัจจัย ไม่ใช่ รอ ปัจจัย) + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

(1) ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

(2) โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

(3) เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

สิริ” บาลี ตรงกับ “ศฺรี” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศฺรี” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิ์หรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ศฺรี” (มีจุดใต้ ศฺ) ในสันสกฤตใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรี” (ไม่มีจุดใต้ ศฺ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สิริ” “สิรี” และ “ศรี” บอกไว้ดังนี้ –

(1) สิริ ๒, สิรี : (คำนาม) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).

(2) ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).

ก่อนจะไปถึง “ไสยาสน์” ควรทราบว่า ในบาลีมีศัพท์ว่า “สิริสยน” อ่านว่า สิ-ริ-สะ-ยะ-นะ แยกศัพท์เป็น สิริ + สยน 

สิริ” ได้แสดงที่มาไปแล้ว ส่วน “สยน” มีที่มาดังนี้ –

(๒) “สยน” 

บาลีอ่านว่า สะ-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ เป็น (สิ > สย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สิ > สย + ยุ > อน = สยน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่นอน” (2) “การนอน

สยน” ในบาลีหมายถึง –

(1) การนอน, การนอนหลับ (lying down, sleeping)

(2) เตียง, ที่นอน (bed, couch)

สิริ + สยน = สิริสยน (สิ-ริ-สะ-ยะ-นะ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ที่นอนอันมีสิริ

สิริสยน” ในบาลีหมายถึง ที่นอนของผู้มีฐานะดีหรือมีฐานะสูง เช่นพระราชามหากษัตริย์ หรือเจ้านาย หรือเศรษฐี ที่นอนของคนสามัญจะไม่ใช่ศัพท์ว่า “สิริสยน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิริสยน” ว่า a state couch, royal bed (ที่บรรทม, เตียงหลวง)

อีกศัพท์หนึ่งที่ใช้อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ “สิริคพฺภ” (สิ-ริ-คับ-พะ, สิริ + คพฺภ) แปลตามศัพท์ว่า “ห้องอันมีสิริ” หมายถึง ห้องนอนของผู้มีฐานะดีหรือมีฐานะสูง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิริคพฺภ” ว่า the royal bed-chamber (ห้องบรรทม)

สิริสยน” ในบาลี แผลงเป็นไทยควรจะเป็น “ศรีสยนะ” แผลงอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ได้เสียงที่รื่นหู เป็น “ศรีสัยน์” อ่านว่า สี-ไส 

ถ้าเป็นอย่างนี้ “ศรีสัยน์” ก็ได้รูปสอดคล้องกับ “สิริสยน” ในบาลี

แต่คำที่กำลังพูดถึงนี้ไม่ได้สะกดเป็น “ศรีสัยน์” แต่สะกดเป็น “ศรีไสยาสน์” เมื่อแยก “ศรี” ออกไปแล้วก็จะเหลือแต่ “ไสยาสน์” จึงต้องสืบต่อไปว่า “ไสยาสน์” ไปอย่างไรมาอย่างไร 

ไสยาสน์” แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น ไสยา + อาสน์ 

(๑) “ไสยา” 

บาลีเป็น “เสยฺยา” (เสย-ยา) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) ซ้อน ยฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + ยฺ + = เสยฺย + อา = เสยฺยา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอน” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสยฺยา” ว่า a bed, couch (เตียง, เก้าอี้นอน) 

บาลี “เสยฺยา” สันสกฤตเป็น “ศยฺยา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศยฺยา : (คำนาม) ‘ศัยยา,’ ที่นอน; การร้อย; a bed or couch; stringing.”

เสยฺยา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไสยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ไสยา : (คำนาม) การนอน, ที่นอน. (ป. เสยฺยา; ส. ศยฺยา).” 

(๒) “อาสน์

บาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” 

อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

เสยฺยา + อาสน = เสยฺยาสน (เสย-ยา-สะ-นะ) > ไสยาสน์ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ไสยาสน์ : (คำกริยา) นอน, เรียกพระพุทธรูปในท่านอนว่า พระไสยาสน์ หรือ พระพุทธไสยาสน์, เรียกพระพุทธรูปปางนอนว่า พระปางไสยาสน์. (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย พระบาททั้ง ๒ ตั้งซ้อนกัน. [ป. เสยฺย (นอน) + อาสน (นั่ง)].”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “เสยฺยาสน” หรือ “ไสยาสน์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น ต้องแปลว่า “ที่นอนและที่นั่ง” หรือ “การนอนและการนั่ง” แต่ที่เข้าใจกันในภาษาไทยหมายถึง “นอน” อย่างเดียว ไม่มี “นั่ง” 

เมื่อไม่มี “นั่ง” ทำไมจึงมี “อาสน์” ที่แปลว่า “นั่ง”?

จริงอยู่ คำว่า “อาสน” มีแปลตามศัพท์แบบหนึ่งว่า “ที่เป็นที่มานอน” ซึ่งน่าจะยอมให้ว่า “อาสน” ในที่นี้หมายถึง “ที่นอน” “เสยฺยาสน” หรือ “ไสยาสน์” จึงสามารถแปลได้ว่า “การนอนบนที่นอน” 

แต่ยังไม่เคยพบข้อความในคัมภีร์ที่ “อาสน” หมายถึง “ที่นอน” แม้แต่ศัพท์ว่า “เสยฺยาสน” ก็ยังไม่พบ จึงไม่ชวนให้สนิทใจที่จะแปล “อาสน” ว่า “ที่นอน” 

ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่จะสันนิษฐานว่า คำว่า “ไสยาสน์” นี้เดิมทีเดียวน่าจะสะกดเป็น “ไสยาศ” ( ศาลา สะกด) เป็นคำที่ในภาษากาพย์กลอนเรียกว่า “ เข้าลิลิต” คือคำที่เติม “” เข้าข้างท้ายเพื่อแปลงเสียงให้ได้สัมผัสตามที่ต้องการ เช่น –

นารี” เป็น “นาเรศ” 

นาวา” เป็น “นาเวศ” 

ภุมรา” เป็น “ภุมเรศ” 

ในที่นี้ คำเดิมคือ “ไสยา” แผลงตามกฎ “ เข้าลิลิต” น่าจะเป็น “ไสเยศ” แต่ไม่จำเป็นต้องลงเสียง “” เสมอไป 

คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือคำว่า “ลีลาศ” (เต้นรําแบบตะวันตก) คำเดิมคือ “ลีลา” ที่หมายถึง ท่าทาง, ท่าทางอันงาม, การเยื้องกราย 

ลีลา” แปลงเป็น “ลีลาศ” ฉันใด

ไสยา” ก็แปลงเป็น “ไสยาศ” ได้ฉันนั้น 

คำว่า “ไสยาศ” นี้เอง นักเลงบาลีฟังเสียง ไส-ยาด แล้วก็จับมาทำ “ทัฬหีกรรม” คือบวชซ้ำสอง เป็น “ไสยาสน์” (ไสยา > ไสยาศ > ไสยาสน์

และเพราะคำเดิม “ไสยาศ” ท่านหมายถึง “นอน” เมื่อแปลงเป็น “ไสยาสน์” จะแปลตามรูปศัพท์ว่า “นอนและนั่ง” ก็ไม่ได้ เพราะความจริงอันเป็นหลักฐานบังคับอยู่ จึงจำต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ 

เขียน “ไสยาสน์” (“นอนและนั่ง”) แต่บังคับให้มีความหมายเท่ากับ “ไสยาศ” (นอน) มาจนทุกวันนี้

สิริ + สยน = สิริสยน มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ ถ้าแผลงเป็นไทยให้ได้เสียงรื่นหู ก็เป็น “ศรีสัยน์” ไม่ใช่ “ศรีไสยาสน์

ศรีไสยาสน์” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็คือ สิริ + เสยฺยาสน = สิริเสยฺยาสน รูปศัพท์แบบนี้ยังไม่พบในคัมภีร์

สรุปว่า “ศรีไสยาสน์” เป็นคำที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย มีความหมายทำนองเดียวกับ “สิริสยน” ในบาลี

สิริสยน” ในบาลีหมายถึง ที่นอนของผู้มีฐานะดีหรือมีฐานะสูง

ศรีไสยาสน์” ในภาษาไทยหมายถึง ที่นอนของคนทั่วไปไม่จำกัดฐานะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่คิดถึงคุณครูอาจารย์บิดามารดร

: ก็ให้คิดถึงคุณหมอนที่หนุนหัว

: ถ้าคิดอะไรไม่ออกนอกจากตัว

: ก็คงคล้ายควายงัวซุกหัวนอน!

#บาลีวันละคำ (3,641)

1-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *