มังคลัตถทีปนี (บาลีวันละคำ 3,643)
มังคลัตถทีปนี
วรรณกรรมบาลีของปราชญ์ล้านนา
อ่านว่า มัง-คะ-ลัด-ถะ-ที-ปะ-นี
แยกศัพท์เป็น มังคล + อัตถ + ทีปนี
(๑) “มังคล”
เขียนแบบบาลีเป็น “มงฺคล” อ่านว่า มัง-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ ม-(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > มค)
: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์”
(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า อ ปัจจัย : ลุ > ล)
: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + อ = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว”
ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) คือ –
(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)
(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มงคล, มงคล– : (คำนาม) เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).”
(๒) “อัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)
(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”
ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “อัตถ”
(๓) “ทีปนี”
อ่านว่า ที-ปะ-นี รากศัพท์มาจาก ทีปฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทีปฺ + ยุ > อน = ทีปน + อี = ทีปนี แปลตามศัพท์ว่า (1) “(คัมภีร์) เป็นเครื่องส่องสว่าง” (2) “(คัมภีร์) เป็นเครื่องประกาศ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “ทีปน” (ที-ปะ-นะ) บอกความหมายว่า illustrating, explaining (ยกตัวอย่าง, อธิบาย) และคำว่า “ทีปนี” บอกไว้ว่า explanation, commentary, N. of several Commentaries (การอธิบาย, อรรถกถา, ชื่อของคัมภีร์อรรถกถาหลายเล่ม)
การประสมคำ :
๑ มงฺคล + อตฺถ = มงฺคลตฺถ > มังคลัตถ (มัง-คะ-ลัด-ถะ) แปลว่า “เนื้อความแห่งมงคล” หมายถึง เนื้อความในมงคลสูตร
๒ มงฺคลตฺถ + ทีปนี = มงฺคลตฺถทีปนี > มังคลัตถทีปนี (มัง-คะ-ลัด-ถะ-ที-ปะ-นี) แปลความว่า “คัมภีร์เป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นอรรถแห่งมงคลสูตร” หรือ “คัมภีร์อธิบายขยายความมงคลสูตร”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มังคลัตถทีปนี” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
มังคลัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา รจนาที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำบรรยายของท่านเอง
…………..
หนังสือ มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 1 ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2481 มีคำนำตอนหนึ่งบอกไว้ดังนี้ –
…………..
มังคลัตถทีปนี เป็นหนังสือที่ท่านผู้รู้รับรองแล้วว่า อยู่ในชั้นหนังสือที่แต่งดีเยี่ยมเรื่องหนึ่ง เพราะประกอบด้วยคุณลักษณะหลายประการ เช่นวางโครงเรื่องดี ใช้ถ้อยคำพร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ วิธีแต่งก็เหมาะเจาะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดให้เป็นหลักสูตรของ ป.ธ.๔ และเป็นบุพประโยค ป.ธ.๗ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ คือ เป็นเนติของนักประพันธ์ นักเทศก์ และนักปฏิบัติเป็นอันมาก.
มีปัญหาที่น่าคำนึงอยู่ข้อหนึ่ง คือ มังคลัตถทีปนีจัดเป็นหนังสือชั้นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา หรือเกจิอาจารย์ เพราะมังคลัตถทีปนีบรรจุไว้ทั้งอรรถกถา ทั้งฎีกา ทั้งอนุฎีกา ทั้งคำเกจิอาจารย์. ท่านพระสิริมังคลาจารย์เป็นผู้แต่ง แต่งมุ่งแก้ความในมงคลสูตร โดยยกบาลีในมงคลสูตรเป็นอุเทศ แต่ในการแต่งแก้นั้น ที่ไหนท่านวิจารณ์แสดงมติ ท่านก็อ้างอรรถกถาบ้าง ฎีกาบ้าง อนุฎีกาบ้าง คำเกจิอาจารย์บ้าง ประกอบกับคำของท่านเพื่อให้เป็นหลักฐาน ที่ไหนท่านไม่แก้เองโดยตรง ท่านก็ยกปกรณ์นั้นๆ ขึ้นเป็นคำแก้. โดยลักษณะเช่นนี้ มังคลัตถทีปนีจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดเป็นหนังสือชั้นใดชั้นหนึ่งโดยเฉพาะได้ แต่ต้องนับว่าเป็นหนังสือชั้นปกรณ์พิเศษที่ดีเยี่ยม เป็นเกียรติอันงามสำหรับภิกษุไทย.
…………..
คัมภีร์ “มงฺคลตฺถทีปนี” ฉบับภาษาบาลีอักษรไทย พิมพ์เป็น 2 เล่ม คือ มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม ภาโค (มังคลัตถทีปนี ภาค 1) และ มงฺคลตฺถทีปนี ทุติโย ภาโค (มังคลัตถทีปนี ภาค 2)
คณะสงฆ์ไทยใช้คัมภีร์ “มงฺคลตฺถทีปนี” เป็นแบบเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีดังนี้ –
(1) ชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม ภาโค
(2) ชั้นเปรียญธรรม 5 ประโยค วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ทุติโย ภาโค
(3) ชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม ภาโค
คัมภีร์ “มงฺคลตฺถทีปนี” ออกชื่อเต็มๆ ว่า มัง-คะ-ลัด-ถะ-ที-ปะ-นี แต่นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมออกชื่อแบบ “รักง่าย” ว่า มง-คน-ที-ปะ-นี ถ้าเขียนก็จะเป็น “มงคลทีปนี” กลายเป็นอีกชื่อหนึ่ง คนที่ไม่คุ้นกับชื่อคัมภีร์อาจเข้าใจไปว่า คัมภีร์นี้ชื่อ “มงคลทีปนี”
จึงต้องย้ำกันว่า คัมภีร์นี้ชื่อ “มงฺคลตฺถทีปนี” อ่านว่า มัง-คะ-ลัด-ถะ-ที-ปะ-นี เขียนเป็นคำไทยว่า “มังคลัตถทีปนี” ไม่ใช่ “มงคลทีปนี”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มงคลมี
: ไม่ดีเท่ามงคลทำ
…………………………….
“มงคลมี” = มีสิ่งที่เชื่อหรือนับถือกันว่าเป็นมงคลติดตัว หรืออยู่ในบ้านหรือที่ทำงาน
“มงคลทำ” = ลงมือปฏิบัติการที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าเป็นมงคล
…………………………….
#บาลีวันละคำ (3,643)
3-6-65
…………………………….
…………………………….