บาลีวันละคำ

ศิวนาฏราช (บาลีวันละคำ 3,831)

ศิวนาฏราช

คืออะไร

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ซับ

ประกอบด้วยคำว่า อริย + ทรัพย์

(๑) “อริย”

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย

: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”

(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม

: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”

(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”

(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”

(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ

: อริย + ณ = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”

สรุปว่า “อริย” แปลว่า –

(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) ผู้ไกลจากกิเลส

(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้

(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”

(๒) “ทรัพย์”

บาลีเป็น “ทพฺพ” (ทับ-พะ) รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = รู้, เจริญ; ไป, เป็นไป) + อพฺพ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ทุ เป็น อ (ทุ > ท)

: ทุ > ท + อพฺพ = ทพฺพ (นปุงสกลิงค์; คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้” “ผู้เจริญ” “สิ่งที่เป็นไป” (คือของธรรมดาที่มีทั่วไป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทพฺพ” ไว้ดังนี้ –

(1) material, substance, property; something substantial, a worthy object (วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า)

(2) a tree, shrub, wood (ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้)

(3) tree-like, wooden (เหมือนต้นไม้, ทำด้วยไม้)

(4) fit for, able, worthy, good (เหมาะสำหรับ, สามารถ, ทรงคุณค่า, ดี)

ในที่นี้ “ทพฺพ” ใช้ในความหมายว่า (1) วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า (2) ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้

บาลี “ทพฺพ” สันสกฤตเป็น “ทฺรวฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺรวฺย” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) (คำนาม) ‘ทรัพย์,’ สมบัติ, พัสดุ, สิ่งของ; มูลธาตุ, อันท่านพึงนับว่ามีอยู่เก้าอย่าง, คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ, เวลา, ทิคัมพร, อาตมัน, พุทธิหรือโพธ; ทองเหลือง; เดิมภัณฑ์; เภสัช, ยา; การฉาบทาหรือเจิมจุรณ์; ครั่ง; สรรชรส, ยางไม้; สุรา, เหล้า; ความสุภาพเรียบร้อยหรืออหังการ; wealth, property, substance, thing; elementary substance, nine kinds of which are reckoned, viz. earth, water, fire, air, ether, time, space, soul and intellect; brass; a stake or wager; a drug or medicament; anointing or plastering; lac, the animal dye; gum, resin; spirituous liquor; modesty or propriety;

(2) (คำคุณศัพท์) เหมาะ, งาม, ควร, สม, ชอบ; อันเนื่องจากหรือเป็นสัมพันธินแก่ต้นพฤกษ์; fit, proper, becoming, suitable, right; derived from or relating to a tree.

บาลี “ทพฺพ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทรัพย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ทรัพย-, ทรัพย์ : (คำนาม) เงินตรา เช่น ไม่มีทรัพย์ติดตัว, สมบัติพัสถาน เช่น เขาเป็นคนมีทรัพย์; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) วัตถุมีรูปร่าง; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่ถือว่ามีค่า อาจไม่มีรูปร่างก็ได้ เช่น มีปัญญาเป็นทรัพย์ อริยทรัพย์. (ส. ทฺรวฺย).”

อริย + ทรัพย์ = อริยทรัพย์ แปลว่า “ทรัพย์ของพระอริยะ” หรือ “ทรัพย์อันประเสริฐ”

คำว่า “อริยทรัพย์” ที่แสดงมานี้เป็นคำที่แปลมาแล้ว คำบาลีไม่ได้ใช้ว่า “อริยทรัพย์” หรือ “อริยทัพพะ” แต่ใช้ว่า “อริยธน” อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทะ-นะ

คำว่า “ธน” บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย

: ธนฺ + อ = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)

(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ช เป็น ธ

: ชนฺ + อ = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”)

“ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ธน, ธน- : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”

อริย + ธน = อริยธน (อะ-ริ-ยะ-ทะ-นะ) แปลว่า“ทรัพย์ของพระอริยะ” หรือ “ทรัพย์อันประเสริฐ” หรือเรียกว่า “อริยทรัพย์” กล่าวอีกนัยหนึ่ง คำว่า “อริยทรัพย์” คือคำที่แปลมาจากคำว่า “อริยธน” นั่นเอง

ขยายความ :

นักบรรยายธรรมหรือนักบอกบุญมักจะเชิญชวนผู้คนให้บริจาคทรัพย์โดยใช้คำพูดว่า การบริจาคทรัพย์เป็นการแปลงทรัพย์ธรรมดาให้เป็นอริยทรัพย์

อาจจะมีคนที่พูดเพลินไปหรือพูดตามกันไป โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจว่า “อริยทรัพย์” ที่ว่านั้น ตัวผู้เชิญชวนเข้าใจหรือเปล่าว่าคืออะไร

…………..

ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [292] ซึ่งแสดง “อริยทรัพย์” ไว้ มาเสนอในที่นี้เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

อริยทรัพย์ 7 (ทรัพย์อันประเสริฐ, ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ — Ariya-dhana: noble treasures)

1. ศรัทธา (ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ — Saddhā: confidence)

2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม — Sīla: morality; good conduct; virtue)

3. หิริ (ความละอายใจต่อการทำความชั่ว — Hiri: moral shame; conscience)

4. โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว — Ottappa: moral dread; fear-to-err)

5. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก — Bāhusacca: great learning )

6. จาคะ (ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ — Cāga: liberality)

7. ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้ที่จะจัดทำ — Paññā: wisdom)

อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

ธรรม 7 นี้ ท่านเรียกว่าเป็น พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก (Bahukāradhamma: virtues of great assistance; D.III.282; ที.ปา.11/433/310) เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์ เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก ย่อมสามารถใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข และบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ได้เป็นอันมาก.

…………..

ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ตรัสถึงอริยทรัพย์ไว้ดังนี้ –

…………..

สทฺธาธนํ สีลธนํ

หิรี โอตฺตปฺปิยํ ธนํ

สุตธนญฺจ จาโค จ

ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ.

ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล

ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ

ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ

และปัญญาเป็นทรัพย์ที่เจ็ด

ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ

อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา

อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ

อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ.

ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด

เป็นหญิงหรือชายก็ตาม

บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าผู้ไม่ยากจน

ชีวิตของผู้นั้นไม่ว่างเปล่า

ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ

ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ

อนุยุญฺเชถ เมธาวี

สรํ พุทฺธานสาสนนฺติ.

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา –

เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

พึงหมั่นประกอบศรัทธา 1 ศีล 1

ความเลื่อมใส 1 การเห็นธรรมอีก 1

ที่มา: อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 5

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีทรัพย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

: แต่ถ้าไม่มีธรรม ทรัพย์จะเป็นสิ่งที่เลวที่สุด

#บาลีวันละคำ (3,830)

07-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *