บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อธิจธมฺกมิธมฺ

อธิจธมฺกมิธมฺ

————

มีท่านผู้หนึ่งอยู่จังหวัดพะเยา เขียนจดหมายมาถึงผม ปรารภเรื่องศาสนพิธีบางอย่างที่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คำเรียกผ้าที่ทอดบนเมรุ 

พิธีกรบางคนเรียก ผ้าบังสุกุล 

บางคนเรียก ผ้าไตรบังสุกุล 

บางคนเรียกผ้าผืนสุดท้ายที่ประธานทอดว่า ผ้าไตรมหาบังสุกุล

อยากถามว่าอย่างไหนถูก อย่างไหนผิด

————–

เรื่องนี้เป็นความอึดอัดขัดข้องของคนทั่วๆ ไป 

อึดอัดตรงที่-ไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบที่ยุติจากใคร

ควรยุติอย่างไร ก็เป็นประเด็นหนึ่ง

แต่ว่า-ควรยุติจากใครเป็นประเด็นสำคัญ

ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้และเรื่องทำนองนี้ กล่าวคือปัญหาเกี่ยวกับวิชาการทางพระศาสนา ควรมีข้อยุติที่ชัดเจน

ทำนองเดียวกับปัญหาภาษาไทย 

เช่น คำนี้จะสะกดอย่างไร ออกเสียงอย่างไร และมีความหมายว่าอย่างไร 

เราก็มีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นมาตรฐานกลาง

พจนานุกรมให้สะกดอย่างไร ให้ออกเสียงอ่านอย่างไร ก็ใช้ตามนั้น ไม่ต้องเถียงกัน

ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรม ก็เป็นประเด็นหนึ่ง 

แต่การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานกลางเป็นประเด็นสำคัญ

————–

เวลานี้ปัญหาวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคม กล่าวได้ว่าแทบจะไม่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดจากใครหรือหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น

คงปล่อยให้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไปอย่างเสรี

ใครจะเข้าใจอย่างไร ใครจะเอาไปปฏิบัติอย่างไร ก็ทำกันไปอย่างเสรี

ผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร หรือควรจะเป็นอย่างไร 

ไม่รู้จะเอามาตรฐานกลางจากที่ไหนมาตัดสินชี้ขาด

แม้จะมีเสียงบอกมาว่า-เรามีพระธรรมวินัยเป็นหลักอยู่แล้วยังไงล่ะ ก็เอาพระธรรมวินัยเป็นมาตรฐานสิ ไม่เห็นจะยากอะไร

แต่ในทางปฏิบัติจริง พระธรรมวินัยพูดเอง สั่งเองไม่ได้

จึงต้องมีคนหรือมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาเป็นผู้แปรพระธรรมวินัยออกมาเป็นคำสั่ง เป็นหลักปฏิบัติ พร้อมทั้งมีกระบวนการกำกับดูแล

————–

ผมเคยเสนอว่า คณะสงฆ์ควรตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางวิชาการ ระดมบุคลากรและทรัพยากรของคณะสงฆ์ซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เข้ามาทำงานนี้

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการหรือฝ่ายเลขาฯ ของงานที่ว่านี้

มีปัญหาทางวิชาการพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร พศ.ทำหน้าที่รวบรวมจัดส่งไปให้หน่วยงานทางวิชาการของคณะสงฆ์

หน่วยงานทางวิชาการของคณะสงฆ์ระดมนักวิชาการพิจารณาศึกษาค้นคว้าแล้วประชุมกันวินิจฉัยโดยหลักฐานที่แม่นยำ ประกอบด้วยหลักวิชาและเหตุผลที่ถูกต้อง แล้วสรุปเป็นคำประกาศออกมาว่า ปัญหานี้ เรื่องนี้ กรณีอย่างนี้ ให้ยุติเป็นหลักการหลักปฏิบัติอย่างนี้ๆ 

เราก็จะมีมาตรฐานกลางที่ถือปฏิบัติตรงกันทั่วสังฆมณฑล หรือทั่วสังคมชาวพุทธ

ประเด็นไหน ข้อไหน ที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีข้อบกพร่อง ก็ย้อนกลับมาพิจารณากันใหม่อีกได้ จนกว่าจะยุติอยู่ในร่องรอยที่ถูกต้องแน่นอน

————–

โปรดนึกถึงข้อปฏิบัติในพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นตัวอย่าง

เมื่อก่อนนี้ที่ปฏิบัติกันอยู่ เราคงจำกันได้ว่า พอผู้เชิญไฟพระราชทานมาถึงบริเวณพิธีฌาปนสถาน ผู้มาร่วมพิธีก็ลุกขึ้นยืนตรง และมีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ปัจจุบันสำนักพระราชวังออกคำแนะนำมาว่า เมื่อผู้เชิญไฟพระราชทานมาถึงบริเวณพิธี ให้ผู้มาร่วมพิธีนั่งอยู่ในอาการสงบ ไม่ต้องลุกขึ้นยืน และไม่ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คงมีเฉพาะเจ้าภาพและผู้แต่งเครื่องแบบปกติขาวตั้งแถวรับ

งานพระราชทานเพลิงศพทุกงานก็ถือปฏิบัติเป็นรอยเดียวกัน ชัดเจน ไม่ต้องเถียงกัน และไม่ต้องสงสัยอะไรอีกต่อไป

เพราะอะไร

เพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกำหนดมาตรฐานกลางออกมา เรื่องก็ยุติ

ทุกวันนี้ ปัญหาที่เคยเถียงกันว่า หมายรับสั่ง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และประวัติผู้ตาย จะอ่านอะไรก่อนหลัง ก็มีคำแนะนำชัดเจน 

แม้กระทั่งข้อความในสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำนักพระราชวังก็มีแบบตัวอย่างแนบมาให้พร้อมเสร็จ เจ้าภาพไม่ต้องไปคิดสำนวนโวหารกันเอาเองให้เลอะเทอะเฟอะฟะเหมือนเมื่อก่อน

————–

ปัญหาเกี่ยวกับศาสนพิธีที่มีผู้ปรารภมาข้างต้นก็ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกำหนดมาตรฐานกลางออกมาเช่นเดียวกัน

สมมุติว่า คณะสงฆ์มีคำแนะนำออกมา (โดยผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองเป็นอย่างดีตามขั้นตอนที่กล่าวแล้ว) ว่า ผ้าที่ทอดบนเมรุให้ใช้คำเรียกว่าอย่างนี้ๆ (เช่นให้เรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” เหมือนกันทั้งหมดทุกผืน)

เราก็จะมีมาตรฐานกลางเป็นหลักยึดทันที 

พิธีกรคนไหนจะเรียกเอาเองตามใจคิดเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว 

และไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะเรียกอย่างไรถูก เพราะมีคำตอบที่ชัดเจนแล้ว

หากเกิดมีใครไม่เห็นด้วย ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อทักท้วงเสนอไปยังหน่วยงานของคณะสงฆ์เพื่อให้ทบทวนใหม่ได้ 

ทำนองเดียวกับการปฏิบัติในพิธีพระราชทานเพลิงศพที่เคยทำกันแบบหนึ่ง ก็มีคำแนะนำให้เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งได้ดังที่เห็นกันอยู่

ข้อสำคัญขอให้เคารพกติกา

ไม่ใช่ว่า-แนะนำให้เรียกผ้าบังสุกุลอย่างนี้ ฉันไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นฉันก็จะเรียกไปตามที่ฉันพอใจ

อย่างนี้คือไม่เคารพกติกา

ถ้าใครเห็นว่าอะไรอย่างไรถูกต้องกว่า เหมาะสมกว่า ดีกว่า ก็เอาเหตุผลมาสู้กัน เอาชนะกันด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา ไม่ใช่ด้วยความพอใจส่วนตัว

————–

บางท่านอาจแย้งว่า เรื่องพิธีการพิธีกรรม แต่ละพื้นถิ่นย่อมแตกต่างกันไป จะมากำหนดให้ทำเหมือนกันได้อย่างไร

อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง 

อะไรที่เป็นธรรมเนียมพื้นถิ่น ก็ว่ากันไปตามธรรมเนียม

แต่อะไรที่เป็นหลักวิชาการ ก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกันได้

ยกตัวอย่าง พิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม

บางพื้นถิ่น รับศีลเสร็จแล้วพิธีกรต้องอาราธนาธรรมก่อนพระจึงจะสวด

บางพื้นถิ่น รับศีลเสร็จแล้วพระสวดเลย ไม่ต้องอาราธนาธรรม

อาราธนาก็ไม่ผิด

ไม่อาราธนาก็ไม่ผิด

มีเหตุผลที่อธิบายได้ทั้งคู่ และไม่กระทบถึงหลักการ

อย่างนี้ พื้นถิ่นไหนเคยทำอย่างไรก็ให้ทำไปตามหลักนิยมของพื้นถิ่น ไม่ต้องไปแก้หรือไปเกณฑ์ให้ทำเหมือนกัน

แต่ในตัวคำอาราธนาธรรม 

พฺรหฺมา จ โลกา … 

จะออกเสียงว่า พรม-มา หรือ พรำ-มา 

นี่เป็นหลักวิชา ต้องรู้ให้ตรงกัน และเป็นเรื่องที่ควรตกลงให้ตรงกันได้

หรือ-เหมือนคำบูชาข้าวพระ … สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ โอทนํ 

บางคนใช้คำว่า สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ โภชนํ – 

โอทนํ กับ โภชนํ มีเหตุผลพอสู้กันได้

แต่บางคนใช้คำว่า สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ โภชนานานํ … อ้างว่าคนเก่าๆ เขาว่ากันมาอย่างนี้ สอนกันมาอย่างนี้ เป็นธรรมเนียมพื้นถิ่นของที่นี่

อย่างนี้ จะมาอ้างหลักนิยมของพื้นถิ่น ใช้ไม่ได้ เพราะผิดหลักภาษา 

อย่างนี้ต้องแก้

————–

ที่กำลังเป็นปัญหา และผมถูกถามบ่อยที่สุดก็คือ กรณีมีผู้ขอพระราชทานผ้ากฐินจากเจ้านายไปทอดที่วัดราษฎร์ 

(๑) จะให้เรียกว่ากฐินอะไร 

(๒) การปฏิบัติในพิธี จะให้ทำอย่างไร เช่นพระต้องถวายอดิเรกหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

ถ้ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงจัดทำคำชี้แจงออกมาว่า ให้เรียกขานอย่างนี้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้ๆ – เรื่องก็ยุติ 

ทุกคนทุกฝ่ายทำกันถูก ปฏิบัติกันถูก โดยไม่ต้องมานั่งถามหรือนั่งเถียงกัน

(กรณีนี้มีผู้ตอบว่าให้เรียกว่า “กฐินพระราชทาน” และให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกฐินพระราชทาน แต่ผมยังไม่เคยเห็นตัวหนังสือว่าเป็นคำตอบของใคร ตอบมาจากไหน ถ้าญาติมิตรท่านใดมีหลักฐาน ขอความกรุณานำมาเผยแพร่ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)

————–

ถามว่า เรื่องอย่างนี้ คณะสงฆ์หรือ พศ. รับเป็นเจ้าภาพได้ไหม

หรือจะบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่

ถ้าเช่นนั้น คณะสงฆ์ และ พศ. มีไว้ทำหน้าที่อะไร

แล้วก็งานอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่หน้าที่ของคณะสงฆ์ และ พศ.

แล้วมันเป็นหน้าที่ของใคร

น่าวังเวงใจไหมครับ สังคมพุทธบ้านเรา

มีคนจบนั่นนี่โน่นเยอะแยะ 

มีเจ้าหน้าที่เยอะแยะ

ทำอะไรต่อมิอะไรกันเยอะแยะ

อธิจธมฺกมิธมฺ

แปลว่า ไอ้ที่ควรจะทำ กลับไม่ทำ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

๑๔:๓๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *