สมณศักดิ์ (บาลีวันละคำ 1,305)
สมณศักดิ์
อ่านว่า สะ-มะ-นะ-สัก
ประกอบด้วย สมณ + ศักดิ์
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
(๒) “ศักดิ์”
บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)
: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)
บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” และนิยมออกเสียงว่า “สัก” จึงสะกดเป็น “ศักดิ์”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”
สรุปว่า สตฺติ > ศกฺติ > ศักดิ์ มีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (2) หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ
ในที่นี้ “ศักดิ์” หมายถึง อำนาจ, ความสามารถ
สมณ + ศักดิ์ = สมณศักดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “อำนาจตามวิสัยของสมณะ” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้เฉพาะในภาษาไทย
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สมณศักดิ์ : (คำนาม) ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน มีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกําหนด.”
สันนิษฐานกันว่า สมณศักดิ์ในคณะสงฆ์ไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยได้รับแบบอย่างมาจากประเทศศรีลังกา
: คนฉลาด ใช้อำนาจยังส่วนรวมให้ได้ประโยชน์
: คนโฉด กอบโกยผลประโยชน์เมื่อมีอำนาจ
25-12-58