บาลีวันละคำ

จํานําพรรษา (บาลีวันละคำ 435)

จํานําพรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

จํานําพรรษา : เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จําพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจํานําพรรษา

ตาม พจน.42 ทำให้มีปัญหาว่า “ผ้าจํานําพรรษา” คือผ้าอะไร ถวายเมื่อไร

ผ้าจํานําพรรษา” ภาษาบาลีว่า “วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา

วสฺสา” (วัด-สา) แปลว่า พรรษา หมายถึงฤดูฝน

วาสิก” (วา-สิ-กะ) แปลว่า ผู้อยู่, ผู้อาศัยอยู่

สาฏก” (สา-ตะ-กะ) หรือ “สาฏิกา” (สา-ติ-กา) แปลว่า ผ้า (ตามวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวชมพูทวีปโบราณ หมายถึงเสื้อผ้าชั้นนอก หรือผ้าคลุม ใช้เมื่อเวลาออกนอกบ้าน)

วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา” หมายถึง ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว

โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา

เพราะฉะนั้น “ผ้าจํานําพรรษา” ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอดพรรษา คือตลอดปีที่ผ่านมานั่นเอง

ผ้าที่เกี่ยวกับ “พรรษา” อีกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียก “วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ / วัด-สิ-กะ-สา-ติ-กา)

วสฺสิก” เป็นคุณศัพท์ แปลว่า สำหรับฤดูฝน, ซึ่งอยู่ในฤดูฝน, ซึ่งอยู่จำพรรษา

วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” ก็คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” เรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบ” คนเก่าๆ เรียก “ผ้าชุบอาบ” หรือ “ผ้าชุบสรง

ผ้าอาบน้ำฝน” นี้ ต้องถวายก่อนเข้าพรรษา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้าในระหว่างจำพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝน” จึงไม่ใช่ “ผ้าจํานําพรรษา” อย่างที่มักเรียกกันผิดๆ

(แล้วยังลามไปเรียก “เทียนพรรษา” ว่า “เทียนจํานําพรรษา” ผิดซ้ำเข้าไปอีกด้วย)

: ถ้าเมืองตาหลิ่วยังมีตางาม ก็อย่าหลิ่วตาตามไปเสียทุกเรื่อง

————————–

(ตามข้อเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)

บาลีวันละคำ (435)

24-7-56

สาฏก = ผ้า, ผ้าสาฎก (ศัพท์วิเคราะห์)

สรีรํ สฏติ รุชฺชตีติ สาฏโก สิ่งที่เสียดแทงร่างกาย

สฏ ธาตุ ในความหมายว่าเสียดแทง ณฺวุ ปัจจัย พฤทธิ์ อ เป็น อา แปลง ณฺวุ เป็น อก

วสฺสิก (บาลี-อังกฤษ)

(คุณ) ๑ สำหรับฤดูฝน ๒ ของปี

สาฏ เสื้อผ้า, ผ้า

สาฏก ผ้าสาฎก, เสื้อผ้าชั้นนอก, ผ้าคลุม; ผ้า

สาฏิกา (อิต.) = สาฏก

วาสก, วาสิก (คุณ) อยู่, อาศัยอยู่

(สาฏก เป็นได้ทั้งปุง.และ นปุง.)

วสฺสิก ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ซึ่งอยู่ในฤดูฝน, ซึ่งอยู่จำพรรษา.

วสฺสิกสาฏิกา อิต.

ผ้าสำหรับภิกษุใช้ในฤดูฝน, ผ้าอาบน้ำฝน.

ผ้าอาบน้ำฝน (ประมวลศัพท์)

ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ และให้ทำนุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๘, เรียกเป็นคำศัพท์ว่า วัสสิกสาฏิกา หรือ วัสสิกสาฎก, มีขนาดที่กำหนดตามพุทธบัญญัติในสิกขาบทที่ ๙ แห่งรตนวรรค (ปาจิตตีย์ ข้อที่ ๙๑; วินย.๒/๗๗๒/๕๐๙) คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต; ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘, คำถวายผ้าอาบน้ำฝนเหมือนคำถวายผ้าป่า เปลี่ยนแต่ ปํสุกูลจีวรานิ เป็น วสฺสิกสาฏิกานิ และ “ผ้าบังสุกุลจีวร” เป็น “ผ้าอาบน้ำฝน”

ผ้าจำนำพรรษา

ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้วในวัดนั้น ภายในเขตจีวรกาล; เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ผ้าวัสสาวาสิกา วัสสาวาสิกสาฎก หรือ วัสสาวาสิกสาฏิกา; ดู อัจเจกจีวร

อัจเจกจีวร

จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน หมายถึง ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้มีเหตุรีบร้อน ขอถวายก่อนกำหนดเวลาปกติ (กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา คือ จีวรกาลนั่นเอง กล่าวคือ ต้องผ่านวันปวารณาไปแล้ว เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และถ้ากรานกฐินแล้ว นับต่อไปอีกถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔; เหตุรีบร้อนนั้น เช่น เขาจะไปทัพ หรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจชีวิต หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่) อัจเจกจีวรเช่นนี้ มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับเก็บไว้ได้ แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน (คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) (สิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์)

จำนำ

  ก. ประจํา, เรียกผู้ซื้อขายหรือติดต่อกันเป็นประจำว่า เจ้าจํานํา.(กฎ) น. ชื่อสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้. (แผลงมาจาก จํา).

จำนำพรรษา

  ว. เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จําพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจํานําพรรษา.

จำ ๑

  ก. กําหนดไว้ในใจ, ระลึกได้, เช่น จําหน้าได้.

จำ ๒

  ก. ลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ตรวนล่ามไว้ เช่น จําโซ่ จําตรวน, ลงโทษด้วยวิธีขัง เช่น จําคุก.

จำ ๓

  ก. อาการที่ต้องฝืนใจทํา เช่น จำใจจากแม่เปลื้อง ปลิดอก อรเอย. (นิ. นรินทร์).

จำ ๔

  (โบ) น. ชายผ้า เช่น เอาพระจําเจิมเฉลิมเชิงเวียน. (อะหม จํา ว่า ชายผ้า).

ผ้าอาบ

  น. ผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้า.

ผ้าชุบสรง

  น. ผ้าผลัดอาบน้ำเจ้านายหรือพระสงฆ์.

ผ้าชุบอาบ

  น. ผ้าผลัดอาบน้ำ.

Sunant Sukantharam ๒๓ ก.ค.๕๖

อาจารย์ครับ มีเวลาเขียนเรื่องผ้าอาบน้ำฝนด้วนะครับ ยังไม่สายไปครับ

อาตมาเช็คในไฟล์แล้วยังไมได้เขียนนะครับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย