ถวายอดิเรก (บาลีวันละคำ 444)
ถวายอดิเรก
“อดิเรก” บาลีเป็น “อติเรก” (อะ-ติ-เร-กะ) มาจาก อติ (= ยิ่ง, เกิน, ล่วง) + เอก (= หนึ่ง, เป็นหนึ่ง, เป็นเอก) ลง ร อาคม : อติ + ร + เอก = อติเรก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระหว่าง อติ กับ เอก เติมเสียง ร ตรงกลางเพื่อความสละสลวย จึงเป็น “อติเรก” แทนที่จะเป็น “อติเอก”
“อติเรก” แปลตามศัพท์ว่า “เกินหนึ่ง” “ยิ่งกว่าหนึ่ง” “เกินจากเป็นหนึ่งขึ้นไปอีก” (= เป็นหนึ่งหรือเป็นเอกอยู่แล้ว แต่นี่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก) ความหมายก็คือ มีปริมาณที่มากกว่าปกติ, นอกเหนือไปจาก (ที่มี ที่ได้ ที่ทำ) ปกติ, พิเศษกว่าปกติ หรือเป็นกรณีพิเศษ
“อติเรก” ภาษาไทยใช้เป็น “อดิเรก” (อะ-ดิ-เหฺรก) เมื่อใช้กับคำบางคำความหมายเบี่ยงเบนไป เช่น “งานอดิเรก” พจน.42 บอกว่า “งานที่ทำเพื่อความเพลิดเพลิน”
“อดิเรก” ในคำว่า “ถวายอดิเรก” เป็นชื่อพรพิเศษที่พระสงฆ์ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในระหว่างอนุโมทนา
มีข้อควรทราบดังนี้ –
1. “พิธีบำเพ็ญพระราชกุศล” หมายถึงงานบุญที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจ (พูดตามภาษาชาวบ้านว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพ) และมีพิธีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเสด็จฯ ด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ หรือเป็นงานที่มีผู้ขอรับพระราชทานไปปฏิบัติ (เช่นกฐินพระราชทานเป็นต้น)
2. พระสงฆ์ที่จะถวายอดิเรกต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่านเจ้าคุณ”) ขึ้นไป ปัจจุบันนี้ อนุญาตให้พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิงเป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม
3. ในขณะที่พระสงฆ์กล่าวคำถวายอดิเรก ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องประนมมือ ผู้มีสิทธิ์ประนมมือรับพรคือพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น (ข้อนี้มักปฏิบัติผิดกันทั่วแผ่นดินแม้แต่คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นบ่อยที่สุดในงานกฐินพระราชทาน)
4. คำถวายอดิเรกเป็นภาษาบาลีมีข้อความดังนี้
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร
ในกรณีสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จด้วย หรือสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระองค์เดียว ข้อความเปลี่ยนแปลงจากนี้เล็กน้อย แต่ใจความหลักคงเดิม
5 ที่เรียกว่า “ถวายอดิเรก” ก็เนื่องมาจากคำขึ้นต้นว่า “อติเรกวสฺสสตํ …” นั่นเอง
คำถวายอดิเรกนี้ท่านไม่ได้แปลกันไว้ จึงขออนุญาตแปลเป็นไทยเพื่อให้ญาติมิตรชาว Facebook พอได้ทราบใจความ เป็นการเจริญศรัทธา ดังนี้
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ
ขอพระปรมินทรมหาราชจงทรงพระเกษมสำราญ
ขอความสำเร็จแห่งราชกิจ
ความสัมฤทธิ์แห่งราชการ
ความเพิ่มพูนมหาศาลแห่งพระราชทรัพย์
ขอชัยชำนะนับเนื่องนิตย์
จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ – ขอถวายพระพร
————————
(ตามคำอายาจนาของ ท่านผู้นำ แห่งอาณาจักรล้านนาที่สาม)
บาลีวันละคำ (444)
2-8-56
ท่านผู้นำ แห่งอาณาจักรล้านนาที่สาม
๑ ส.ค.๕๖
แล้ว ถวายอดิเรก ละครับอาจารย์
อติเรก (บาลี-อังกฤษ)
(คุณ) อดิเรก, มากเกินไป, เกิน, เลย, มีปริมาณที่สูง, พิเศษ
surplus, too much; exceeding, excessive, in a high degree; extra
อดิเรก (ประมวลศัพท์)
1. เกินกว่ากำหนด, ยิ่งกว่าปกติ, ส่วนเกิน, เหลือเฟือ, ส่วนเพิ่มเติม, ส่วนเพิ่มพิเศษ
2. ถวายอติเรก หรือถวายอดิเรก คือพระสงฆ์ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหรือสมเด็จพระบรมราชินี ท้ายพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในระหว่างอนุโมทนา ถ้ากล่าวในพระราชฐาน ต้องต่อท้ายด้วยถวายพรลา, เรียกอย่างนี้เพราะขึ้นต้นว่า “อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุฯ”
อดิเรก, อดิเรก-
[อะดิเหฺรก, -เหฺรกกะ-] ว. พิเศษ.น. ชื่อพรพิเศษที่พระสงฆ์ถวายพระมหากษัตริย์ ในคําว่า ถวายอดิเรก. (ป., ส.).
อดิเรกลาภ
[อะดิเหฺรกกะลาบ] น. อติเรกลาภ, ลาภพิเศษ. (ป., ส. อติเรกลาภ).
อติเรก, อติเรก-
[อะติเหฺรก, -เหฺรกกะ-] ว. อดิเรก. (ป., ส.).
อติเรกจีวร
น. จีวรของภิกษุที่เขาถวายเพิ่มเข้ามานอกจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร. (ป., ส.).
อติเรกลาภ
น. อดิเรกลาภ, ลาภพิเศษ. (ป., ส.).
งานอดิเรก
น. งานที่ทำเพื่อความเพลิดเพลิน.
เกี่ยวกับความเป็นมาของการถวายอดิเรกนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งเป็นจดหมายไปหาโต้ตอบกับสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ใจความว่า การถวายอดิเรกแต่เดิมนั้น เป็นการถวายเฉพาะองค์พระเจ้าแผ่นดิน และเฉพาะหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน แม้ยังไม่ได้ราชาภิเษก ก็ถวายอดิเรก ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงแก้ไป ประเพณีการถวายอดิเรกจึงเปลี่ยนแปลงใหม่บ้าง โดยให้ถวายได้ ต่อเมื่อเจ้านายพระองค์นั้นได้ราชาภิเษกแล้ว ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแก้ไขอีกว่า ถ้าเป็นงานหลวง ถึงลับหลังพระที่นั่ง (ในหลวงไม่อยู่ ณ ที่นั่น) ก็ให้ถวายได้ ซึ่งเราก็ยังคงใช้ปฏิบัติกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ดังนั้น “ถวายอดิเรก” จึงเป็นคำที่หมายถึง “การถวายพระพร” พระเจ้าแผ่นดินหรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ นั่นเองครับ
คำถวายอดิเรก
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร
ตัวอย่างคำกล่าวถวายพระพรลา
ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวงขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐขอถวายพระพร
———————————-
คำถวายอดิเรก
คำถวายอดิเรก
เฉพาะสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระองค์เดียว
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ.
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ.
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา.
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา.
ขอถวายพระพร
คำถวายพระพรลา
ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวง ขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ.
ขอถวายพระพร
คำถวายอดิเรก แบบที่ 2
สำหรับ 2 พระองค์
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ.
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ.
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา สราชินี.
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ราชินิยา สห ภวตุ สพฺพทา.
ขอถวายพระพร
คำถวายพระพรลา สำหรับ 2 พระองค์
ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้ง 2 พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวง ขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้ง 2 พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ.
ขอถวายพระพร
คำถวายอดิเรก แบบที่ 3
สำหรับใช้แด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ.
ทีฆายุกา โหตุ อโรคา โหตุ.
ทีฆายุกา โหตุ อโรคา โหตุ.
สุขิตา โหตุ สิริกิตฺติปรมราชินี.
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ยโส นิจฺจํ
สิริกิตฺติปรมราชินิยา ภวตุ สพฺพทา.
ขอถวายพระพร
คำถวายพระพรลา
ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวง ขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ.
ขอถวายพระพร
———