บาลีวันละคำ

ถวายพรพระ-ถวายพระพร (บาลีวันละคำ 443)

ถวายพรพระ-ถวายพระพร

พร” มาจากคำบาลีว่า “วร” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ. เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, ความกรุณา

พจน.42 บอกไว้ว่า

พร : (พอน) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร”

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจน.42 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง

พระ” ในคำว่า “ถวายพรพระ” หมายถึงพระพุทธเจ้า หรือ เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าพรพระ” ก็คือ พรของพระพุทธเจ้า

ถวายพรพระ” เป็นคำเรียกบทสวดมนต์ชุดหนึ่ง ประกอบด้วย นะโม, อิติปิ โส (พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ), พาหุง, มะหาการุณิโก และ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง พระสงฆ์จะสวดในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ โดยเฉพาะบท พาหุง และมะหาการุณิโกนั้นว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งอันประเสริฐ คือ “พรของพระพุทธเจ้า” สันนิษฐานว่าเดิมพระสงฆ์ใช้สวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่า “ถวายพรพระ

ส่วนคำว่า “ถวายพระพร” หมายถึงคําแสดงความปรารถนาต่อเจ้านายให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น พสกนิกรถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวขอให้ทรงพระเจริญ

ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง

ถวายพระพร” ยังใช้เป็นคําเริ่มที่พระสงฆ์พูดกับเจ้านายและเป็นคํารับ เหมือนกับที่พระสงฆ์พูดกับบุคลทั่วไปใช้คำว่า “เจริญพร” เทียบกับคำของชาวบ้านก็คือ “ครับ” นั่นเอง

: พระสงฆ์ท่านสวดบทถวายพรพระเป็นการถวายพระพร

: เราพสกนิกรถวายพระพรขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ

บาลีวันละคำ (443)

1-8-56

วร = พร ประเสริฐ สูงสุด (ศัพท์วิเคราะห์)

วริตพฺโพ อิจฺฉิตพฺโพติ วโร ภาวะอันบุคคลปรารถนา

วร ธาตุ ในความหมายว่าปรารถนา อ ปัจจัย

วร (บาลี-อังกฤษ)

ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ

วร ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ประเสริฐ, ยอดเยี่ยม

ป.

พร.

ถวายพระพร

  คําเริ่มที่พระสงฆ์พูดกับเจ้านายและเป็นคํารับ.

พร

  [พอน] น. คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).

พระ

  [พฺระ] น. คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่องค์ พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือ เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คําพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ; พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ; นักบวช, นักพรต, เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน; ตัวเอกในเรื่องละคร เช่น ตัวพระตัวนาง; ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรพระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี ๔. นักบวช เช่น พระแดง ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ; อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคําแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา; บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้าชื่อบรรดาศักดิ์พระสนม; โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.ส. คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง ใช้กับผู้เป็นใหญ่ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย