เรื่องของคนคิดเล็กคิดน้อย
เรื่องของคนคิดเล็กคิดน้อย
—————————-
เมื่อวานนี้ (๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑) ผมทำหน้าที่พลขับพาอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านไปจ่ายตลาดที่ห้าง makro ราชบุรี
ไปเห็นแผงขายมะม่วงที่แผนกจำหน่ายผักผลไม้มีป้ายเขียนไว้ว่า
“ออเจ้า. รับมะม่วงน้ำปลาหวานไหมเจ้าค่ะ”
ป้ายนั้นแขวนไว้เหนือแผงมะม่วง เป็นป้ายที่น่าจะผลิตด้วยเครื่องมือโดยร้านรับทำโฆษณา (ไม่ใช่แบบที่ใช้ปากกาเขียนเองบนแผ่นกระดาษ)
โปรดดูภาพประกอบเป็นพยานยืนยัน
———————–
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น-ประสาคนคิดเล็กคิดน้อย
คำว่า “ออเจ้า” ณ เวลานี้เป็นคำที่เอามาพูดกันอย่างที่เรียกว่า “ตามกระแส”
เข้าใจว่าส่วนมากพูดตามกันไป แต่ไม่เคยเปิดพจนานุกรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ออเจ้า : (คำโบราณ) (คำสรรพนาม) คําใช้แทนชื่อผู้ที่เราพูดด้วย เช่น ทชีก็ปรับทุกข์ร้อนทางจะอวดมีว่า ออเจ้าเอ๋ยออเจ้าเราค่อยมั่งมีขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า. (ม. คําหลวง ชูชก), เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒.”
จะว่าไป “ออเจ้า” ก็คือ “เจ้า” หรือ you นั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจ้า ๒ : (คำสรรพนาม) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย สำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อยอย่างสุภาพหรือเอ็นดู, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เจ้ามานี่, คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, มักใช้เข้าคู่กับคำ นั่น เป็น เจ้านั่น เช่น เจ้านั่นจะไปด้วยหรือเปล่า.”
หลักของการใช้คำว่า “เจ้า” หรือ “ออเจ้า” ก็คือ “สำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย”
หรือตามตัวอย่างในพจนานุกรมฯ “ออเจ้าเอ๋ยออเจ้าเราค่อยมั่งมีขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า” เป็นคำที่ชูชกพูดกับเพื่อนเกลอ ก็คือใช้พูดกับคนเสมอกัน
ไม่ใช่สรรพนามที่ผู้น้อยใช้เรียกผู้ใหญ่
บ่าวจะไม่เรียกนายว่า “ออเจ้า”
ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่เรียกผู้บังคับบัญชาว่า “ออเจ้า”
เด็กจะไม่เรียกผู้ใหญ่ว่า “ออเจ้า”
ญาติโยมชาวบ้านจะไม่เรียกภิกษุสามเณรว่า “ออเจ้า”
อย่าลืมกำหนดหลักนี้ไว้ให้แม่น
……………
ดูต่อไปที่ข้อความ “รับมะม่วงน้ำปลาหวานไหม”
เห็นได้ชัดว่านี่เป็นคำถาม
ใครถามใคร?
ดูที่คำสรรพนาม “ออเจ้า” ก็ต้องบอกว่า ผู้ใหญ่ถามผู้น้อย เพราะ “ออเจ้า” เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
หรืออย่างกลางๆ ก็ต้องเป็นคนเสมอกันถามคนเสมอกัน
ทีนี้ตามไปดูที่คำว่า “เจ้าค่ะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจ้าค่ะ : (คำวิเศษณ์) คำที่ผู้หญิงใช้ขานรับผู้ใหญ่อย่างสุภาพ.”
จะเห็นได้ว่า “เจ้าค่ะ” เป็นคำที่ผู้น้อย (ที่เป็นผู้หญิง) ใช้พูดรับคำกับผู้ใหญ่
อย่างโยมผู้หญิงที่กิริยาดี เวลาพูดกับพระสงฆ์ จะรับคำด้วยคำว่า “เจ้าค่ะ”
ไม่ใช่ “ค่ะ” เฉยๆ
“เจ้าค่ะ” เทียบกับคำฝรั่งก็คือ yes sir (หรือ yes … อื่นๆ แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร)
yes sir เสียงธรรมดา ไม่ใช่ขึ้นเสียงสูงเป็นคำถาม
ที่ยกคำฝรั่งมาเทียบก็เพราะเห็นว่าคนสมัยนี้เทียบคำฝรั่งแล้วดูเหมือนจะเข้าใจง่ายขึ้น
เมื่อขึ้นต้นด้วย “ออเจ้า” เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
หรืออย่างกลางๆ ก็คนเสมอกันพูดคนเสมอกัน
แต่ลงท้ายด้วย “เจ้าค่ะ” เป็นคำที่ผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่
แบบนี้หมายความว่ากระไร?
ต้องหมายความว่าพูดเรื่อยเปื่อยไปโดยไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ
พูดตรงๆ ว่า-พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง
เทียบให้เห็นชัดๆ ก็เหมือนพูดว่า
“เฮ่ยเจ้านั่น เอ็งจะไปไหนขอรับ”
“เฮ่ยเจ้านั่น” ก็ดี “เอ็ง” ก็ดี เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
“ขอรับ” เป็นคำที่ผู้น้อย (ผู้ชาย) พูดกับผู้ใหญ่
หัวกับท้ายไปคนละทางแบบเดียวกันนั่นเลย
บ่งบอกว่าเป็นการใช้ถ้อยคำแบบ “มักง่าย” ไร้ความรับผิดชอบ
……………
แล้วก็ที่ผิดแบบซ้ำซากเรื้อรังก็คือ “เจ้าค่ะ”
“เจ้าค่ะ” สะกดอย่างนี้เป็นคำรับ
ไม่ใช่คำถาม
ในเมื่อความในประโยคนั้นเป็นคำถาม
แล้วมาลงท้ายเป็นคำรับ
แบบนี้หมายความว่ากระไร?
ก็ต้องหมายความว่าเขียนเพลินไปโดยไม่มีความเข้าใจอะไรเลย
ถ้าจะให้เป็นคำถามต้องสะกด “เจ้าคะ” ไม่ต้องมีไม้เอก
“รับมะม่วงน้ำปลาหวานไหมเจ้าคะ”
นี่คือประโยคคำถามที่ถูกต้อง
ถูกต้องเฉพาะที่เป็นประโยคคำถามนี่เท่านั้นนะครับ
ถ้าเอาคำว่า “ออเจ้า” มาพูดควบไปด้วย ก็ยังเป็นคำพูดผิดเลอะเทอะอยู่นั่นเอง
ขึ้นต้น “ออเจ้า” ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
ลงท้าย “เจ้าค่ะ” กลายเป็นผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่
เป็นภาษาที่เลอะเทอะครับ
……………
“คะ” กับ “ค่ะ” นี่ ใช้กันเลอะเทอะที่สุด
เขียน “คะ” ทีไร
เป็นต้องใส่ไม้ตรีเป็น “ค๊ะ”
หรือไม่ก็ใส่ไม้เอกเป็น “ค่ะ”
ไม่รู้ว่าใส่ทำไม
ไม่รู้ว่าใครสอน
……………
แล้วโปรดสังเกตว่า หลังคำว่า ออเจ้า มีจุดมหัพภาคด้วย
พูดว่า มหัพภาค ประเดี๋ยวจะไม่รู้จักอีกว่าคืออะไร ต้องบอกว่า ฟุลสต๊อป (a full stop) หรือที่ภาษาคอมพิวเตอร์นิยมพูดว่า ด็อต (a dot)
คือเขียนเป็น – ออเจ้า.
ใส่จุดหลัง “ออเจ้า” ทำไม จบประโยคตรงนั้นหรือ จงอธิบาย
ไม่รู้ อธิบายไม่ได้
แต่อยากใส่ ใครจะทำไม
———————-
สรุปว่า เวลานี้ การใช้ภาษาไทยของเรามาถึงขั้นเลอะเทอะเละเทะกันหมดแล้ว
อาจจะมีบางท่านช่วยอธิบายแทนให้ว่า เพราะมันมีเหตุอย่างนั้นๆ ผลมันจึงเป็นอย่างนี้ๆ
ที่นั่น ที่โน่น ผิดมากกว่านี้ เป็นมากกว่านี้
ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนอะไร
แล้วก็สรุปง่ายๆ ว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่ถือสาเรื่องแบบนี้กันแล้ว อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย
แล้วก็ลงท้ายด้วยประโยคยอดนิยม – มันเป็นเช่นนี้เอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
หมายความว่า คนสมัยนี้มีสิทธิ์ที่จะใช้ภาษาแบบนี้
และครั้งต่อไปและต่อไป เขาก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ภาษาเลอะเทอะแบบนี้อีก
เพราะฉะนั้น อย่าไปยุ่งกับเขา
———————-
ความจริงห้าง makro เป็นธุรกิจของคนมีเงิน
จะจ้างคนมีความรู้ทางภาษาไทยดีๆ เก่งๆ แม่นๆ สักเท่าไรก็ได้
ถามผมก่อนก็ได้ว่าเขียนแบบนี้ถูกต้องไหม
ผมยินดีบอกให้ อธิบายให้เป็นวิทยาทาน
ผมเข้าใจว่าคนที่ทำงานกับห้างแห่งนี้ วุฒิการศึกษาอย่างต่ำก็คือ ม.๖ ต่ำมาหน่อยก็ ม.๓
คนที่ออกความคิดเขียนป้ายนี้ความรู้สามัญย่อมไม่ต่ำกว่า ม.๓
มากกว่าผมตั้งเยอะ
เพราะความรู้สามัญ-คือความรู้ภาคบังคับที่ได้จากสถานศึกษาของรัฐบาล-ของผมแค่ ป.๔ (ประถมศึกษาปีที่ ๔)
ในขณะที่วุฒิการศึกษาของผมแค่ ป.๔ นั้น ผมรู้แล้วว่า
“คะ” กับ “ค่ะ” ต่างกันอย่างไร
“เจ้าคะ” กับ “เจ้าค่ะ” ใช้ต่างกันอย่างไร
ผมรู้จักเปิดพจนานุกรมหาความรู้มานานแล้วว่า “ออเจ้า” หมายถึงอะไร ใครใช้กับใคร
แต่คนที่ออกหัวคิดทำป้ายนี้-ซึ่งต้องเรียนสูงกว่าผมแน่ๆ-ทำป้ายออกมาวันนี้ ทำออกมาใหม่ๆ กลับไม่รู้ว่า –
ออเจ้า ใช้กับใคร
ใส่จุดหลังคำว่า ออเจ้า ทำไม
เจ้าค่ะ ใช้กับใคร
เจ้าคะ กับ เจ้าค่ะ คำไหนเป็นคำรับ คำไหนเป็นคำถาม
———————–
ทั้งหมดที่พูดมานี้ มิได้ประสงค์จะยกตนข่มท่าน แต่ประสงค์จะชวนให้คิดว่า ถ้าจบแค่ ป.๔ ก็สามารถใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องได้ เช่นนี้แล้ว เราจะต้องเสียเงินเสียทองจัดการศึกษาให้สูงขึ้นไปอีกทำไม-ในเมื่อคนที่จบการศึกษาสูงขึ้นกลับมาใช้ภาษาไทยเลอะเทอะกันแบบนี้
เรามาผิดทางหรือเปล่า
ประสงค์จะชวนคิดตรงนี้ครับ
หรือว่า-มันเป็นที่คน มันเป็นคนๆ ไป
คนไม่เหมือนกัน
เป็นเพียงบางคน
ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคน
ถ้ามันเป็นที่คนเป็นคนๆ ไป เวลาเราจัดการศึกษา เราเอาประเด็นนี้มาคิดคำนึงด้วยหรือเปล่า
เราจัดการศึกษาด้วยวิธี-ดึงพรสวรรค์ของแต่ละคนออกมา แล้วส่งเสริมพัฒนาให้เขาก้าวหน้าไปในแนวทางที่เขาถนัดให้เต็มที่
เราทำแบบนี้หรือเปล่า
หรือว่า-ใครถนัดทางไหนก็ช่าง แต่ทุกคนต้องเรียนตามกรอบที่กำหนดเหมือนกันหมด
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกัน คือ การคัดคนมาทำงาน
เวลานี้เราใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งนั้น คือถามว่า คุณจบอะไรมาบ้าง
เราไม่เคยถามว่า คุณทำอะไรเป็นบ้าง
และอะไรที่คุณทำได้ดีที่สุด
เราไม่เคยถามแบบนี้ แล้วให้เขาทำงานที่เขาถนัดที่สุด
เราจึงมีคนจบช่างยนต์
แต่แก้รถสู้เด็กอู่เด็กปั๊มไม่ได้
เราจึงมีคนจบ ม.๓ ม.๖ หรือแม้กระทั่งจบปริญญา
แต่ใช้ภาษาไทยสู้คนจบ ป.๔ ไม่ได้
………………
อ่านจบแล้ว ไม่ต้องคิดเล็กคิดน้อยนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑
๑๗:๕๘
————-
ภาพป้ายประชาสัมพันธ์ : ออเจ้า. รับมะม่วงน้ำปลาหวานไหมเจ้าค่ะ
ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก อุไรวรรณ พรหมบุรี
…………………………….
…………………………….