วิชเยนทร์ (บาลีวันละคำ 2,103)
วิชเยนทร์
ไม่ใช่ วิชาเยนทร์
อ่านว่า วิ-ชะ-เยน
ประกอบขึ้นจากคำว่า วิชย + อินทร์
(๑) “วิชย”
บาลีอ่านว่า วิ-ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: วิ + ชิ = วิชิ > วิเช > วิชย + อ = วิชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะอย่างวิเศษ” หมายถึง ชัยชนะ; ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต (victory; conquering, mastering; triumph over)
(๒) “อินทร์”
“อินทร์” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
“อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”
“อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).”
วิชย + อินฺท แผลง อิ ที่ อินฺ- เป็น เอ (อินฺท > เอนฺท)
: วิชย + อินฺท = วิชยินฺท > วิชเยนฺท (วิ-ชะ-เยน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ด้วยการชนะอย่างวิเศษ”
“วิชเยนฺท” ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “วิชเยนทร์”
ขยายความ :
คำว่า “วิชเยนทร์” ที่รู้จักกันมากที่สุดคือนามบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ผู้ได้นามบรรดาศักดิ์นี้เป็นฝรั่งชาติกรีก ชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) แรกเข้ามาเป็นล่าม แล้วรับราชการเจริญก้าวหน้าจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” ดำรงตำแหน่ง “สมุหนายก” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
สันนิษฐานเล่นๆ :
ชื่อ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” นี้มักเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” (–วิชา–) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ –
๑ คำเดิม “วิชย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิชัย” ออกเสียงว่า วิ-ไช เมื่อนำมาสนธิกับคำว่า “อินทร์” (แล้วแผลงเป็น “เอนทร์”) ตามรูปศัพท์เป็น “วิชเยนทร์” แต่เวลาออกเสียงจริงๆ คำว่า วิ-ไช- ยังติดปากมาด้วย เสียงจึงเป็น วิ-ไช-เยน และบางทีอาจจะเขียนเป็น “เจ้าพระยาวิไชเยนทร์” ดังนี้ก็เป็นได้ ดังที่ประวัติ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ พระราชวังเดิม บอกว่าเดิมชื่อ “ป้อมวิไชเยนทร์” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตั้งชื่อตามนามบรรดาศักดิ์ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ( = เจ้าพระยาวิไชเยนทร์) ผู้กราบทูลเสนอแนะให้สร้างป้อม
จากคำว่า “-วิไชเยนทร์” นั่นเองก็เลือนมาเป็น “-วิชาเยนทร์” เนื่องจาก –ไช– เป็น –ชา– ออกเสียงง่ายกว่า –ไช– เป็น –ชะ– เพราะเป็นสระเสียงยาวเหมือนกัน
๒ หรืออาจเป็นเพราะคำว่า “เจ้าพระยา-” ที่นำหน้า เสียง –ยา– ชวนให้สัมผัสกับ –ชา– ง่ายกว่า
เจ้าพระยาวิ-ชะ-เยนทร์ จึงกลายเป็น เจ้าพระยาวิ-ชา-เยนทร์ ไปตามสะดวกปาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าหวังว่าจะชนะใคร
: ถ้ายังแพ้ใจตัวเอง
————-
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,103)
16-3-61