มหาเปรียญ (บาลีวันละคำ 447)
มหาเปรียญ
“มหา” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, มาก, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส
“มหา” ในคำว่า “มหาเปรียญ” หมายถึง สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42)
“เปรียญ” (ปะ-เรียน) ผู้รู้บอกว่า น่าจะมาจากคำเก่าว่า “บาเรียน”
พจน.42 บอกว่า “บาเรียน : ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ”
รูปคำ “เปรียญ” ท่านก็ว่ามาจากคำว่า “ปริญญา” หมายถึงความเข้าใจ, ความรอบรู้, ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้
คำว่า “เปรียญ” ที่ใช้ในภาษาไทยอีกคำหนึ่งคือ “การเปรียญ” พจน.42บอกว่า “เรียกศาลาวัดสําหรับพระสงฆ์แสดงธรรมว่า ศาลาการเปรียญ”
“เปรียญ” ในคำว่า “มหาเปรียญ” หมายถึง ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42)
จะเห็นได้ว่า “มหา” กับ “เปรียญ” ในคำว่า “มหาเปรียญ” มีความหมายเท่ากัน
ข้อควรทราบคือ
1. “มหา” ใช้เป็นคำนําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป เรียกเต็มว่า “พระมหา” เช่น “พระมหาทองย้อย”
2. สามเณรที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป ไม่ใช้คำว่า “มหา” นำหน้าชื่อ แต่ให้ใช้คำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ นามสกุล เช่น “สามเณรทองย้อย แสงสินชัย เปรียญ” ต่อเมื่อได้อุปสมบทแล้วจึงใช้คำว่า “พระมหา-” และไม่ต้องมีคำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายอีก
3. ถ้าเรียกเฉพาะภิกษุ ใช้คำว่า “พระมหา” ไม่ใช่ “พระมหาเปรียญ” เพราะแยกกันแล้วว่า “มหา” หมายถึงภิกษุ “เปรียญ” หมายถึงสามเณร ดังนั้นจึงไม่มี “พระมหาเปรียญ”
4. “มหาเปรียญ” (ไม่มีคำว่า “พระ”) เป็นคำรวมเรียกภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป รวมถึงที่ลาเพศไปแล้วด้วย เช่นที่พูดว่า พวกดอกเตอร์ พวกหมอ พวกครูบาอาจารย์ พวกมหาเปรียญ
ชอบกล :
จบเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้วไปเรียนจนจบ ‘ดอกเตอร์’ มีมาก
จบ ‘ดอกเตอร์’ แล้วไปเรียนจนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ยังไม่มี
บาลีวันละคำ (447)
5-8-56
ปริญฺญา (บาลี-อังกฤษ)
ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้, ความเข้าใจ, ความรอบรู้
มหนฺต
ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
– (ก.วิ.) อย่างมากมาย, อย่างใหญ่หลวง
– ในคัมภีร์นิทเทส ไขความ “มหา” เป็น อคฺค เสฏฺฐ วิสิฏฺฐ ปาโมกฺข อุตฺตม ปวร
– ใช้นำหน้าคำ ทำให้มีความหมายว่าเป็นเรื่องสำคัญ, เป็นเรื่องพิเศษ, สูงกว่าอีกระดับหนึ่ง, มีจำนวนมาก
ตัวอย่างคำที่มีความหมายตามคำจำกัดความข้างต้น
มหาชน มหานิกาย มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย มหาอำนาจ
มหา ๑
ว. ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.
มหา ๒
น. สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป.
มหาชาติ
น. เรียกเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์, การมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เรียกว่า มีเทศน์มหาชาติ. (ป.).
บาเรียน
น. ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ.
เปรียญ
[ปะเรียน] น. ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป.
การเปรียญ
[-ปะเรียน] น. เรียกศาลาวัดสําหรับพระสงฆ์แสดงธรรมว่า ศาลาการเปรียญ.
ปริญญา
[ปะรินยา] น. ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ; ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กําหนดไว้, ถ้าประสาทแก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีเกียรติตามที่เห็นสมควร เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์. (ป.; ส. ปริชฺญา).
มหา (สอ เสถบุตร)
[n.] a graduate in Buddhist theology, who passes at least the thirdgrade out of nine grades in all. He must be a member of the clergy,though he retains the title after he leaves the priesthood
พระมหา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมหา เป็นคำสมณศักดิ์ใช้นำหน้าชื่อพระภิกษุที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไป [1] โดยคำ “มหา” มาจากศัพท์ในภาษาบาลี (มหนฺต ลดรูปเป็น มหา) ใช้นำหน้าพระเถระผู้มีร่างกายสูงใหญ่ในสมัยพุทธกาลเช่น พระมหากัสสปะเถระ พระมหาโมคคัลลานะ และใช้เรียกนำหน้ายกย่องพระเถระผู้เป็นที่น่าเคารพนับถือว่า พระมหาเถระ แปลว่า พระเถระผู้ใหญ่
ในปัจจุบันบางครั้งชาวบ้านใช้คำว่า “มหา” เรียกอุบาสกบางท่าน ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีความรู้เรื่องพระศาสนาดี หรือดำรงตนเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติ [2]
พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณถวายพัดยศสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม (พัดยศมหาเปรียญ) แก่พระสงฆ์โดยยกย่องถวายคำว่า “มหา” เพื่อใช้นำหน้าพระภิกษุผู้สอบไล่ได้ ประโยคบาลี เพื่อเป็นการถวายกำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้สนใจเล่าเรียนศึกษาและมีความรู้สอบไล่ได้สายเปรียญธรรมบาลีตั้งแต่ชั้นเปรียญตรีขึ้นไปจนถึงปัจจุบันนี้[3] (โดยในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์เคยมีการถวายนิตยภัตรแก่พระสงฆ์และสามเณรที่เป็นมหาเปรียญทุกชั้น แต่ปัจจุบันคงมีการถวายนิตยภัตรายเดือนเฉพาะผู้สอบได้ระดับเปรียญธรรม ๙ ประโยค เท่านั้น)
ในปัจจุบัน พัดยศมหาเปรียญ นั้นจะแบ่งเป็นสีและระบุเลขลำดับชั้นเปรียญ ซึ่งเปรียบได้กับครุยวิทยฐานะของบัณฑิตผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยพัดยศเปรียญมีฐานะเสมือนหนึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ผู้ทำความชอบในราชการ[4] พระสงฆ์สามเณรผู้ได้รับพระราชทานจะนำพัดยศมหาเปรียญออกใช้ประกอบสมณศักดิ์ได้แต่ในงานพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น จะใช้ทั่วไปมิได้
ในอดีตก่อนมีการเลิกทาส หากพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม มีบิดามารดาเป็นทาสเขาอยู่ ก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไถ่ให้พ้นตัวจากความเป็นทาสมีอิสรภาพแก่ตนในทันทีที่บุตรชายของตนได้เป็นพระมหาเปรียญหรือสามเณรเปรียญ
ปัจจุบันเรียกพระภิกษุที่สอบได้พระปริยัติธรรมตั้งแต่ เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปว่า “พระมหาเปรียญ”
ดูเพิ่ม[แก้]
การสอบไล่เปรียญธรรมบาลี
ประโยค (บาลี)
อ้างอิง[แก้]
1.↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
2.↑ เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , ๒๕๔๙.
3.↑ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน จากหอมรดกไทย
4.↑ วิเชียร อากาศฤกษ์,สุนทร สุภูตะโยธิน. ประวัติสมณศักดิ์และพัดยศ (๒๕๒๘). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ศรีอนันต์. หน้า ๑๘๑ – ๑๙๘
เปรียญ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เปรียญ (อ่านว่า ปะเรียน) บาเรียน ก็เรียก เป็นคำใช้เรียกภิกษุสามเณรผู้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไปจนถึง 9 ประโยค เรียกว่า พระเปรียญ หรือ พระเปรียญธรรม สามเณรเปรียญ หรือ สามเณรเปรียญธรรม มีอักษรย่อว่า ป. หรือ ป.ธ. สันนิษฐานว่ามาจากการผสมคำว่า บาลี + เรียน = บาเรียน[1] หมายถึง “พระที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมบาลี” หรือ “พระนักเรียนบาลี” นั่นเอง ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนคำว่า บาเรียน เป็น เปรียญ[2] ปัจจุบันจึงใช้เรียกหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยว่า “หลักสูตรเปรียญ” [3]
การเป็นเปรียญนั้นพระเจ้าแผ่นดินมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดแต่งตั้ง จึงเรียกพระเปรียญอีกอย่างหนึ่งว่า พระมหา โบราณเรียกว่า พระมหาเปรียญ คำว่า มหา ใช้เรียกเฉพาะภิกษุเท่านั้น มิได้ใช้เรียกสามเณรเปรียญด้วย
ปัจจุบันเรียกพระภิกษุสามเณรที่สอบได้พระปริยัติธรรมตั้งแต่ เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไปว่า “พระมหาเปรียญ” หรือ “สามเณรเปรียญ” [4] ภิกษุสามเณรเปรียญมีสิทธิใส่วุฒิการศึกษาต่อท้ายชื่อได้ เช่น พระมหาวุฒิ ป.6 หรือ ป.ธ.6 (อ่านเต็มว่า เปรียญ 6 ประโยคหรือเปรียญธรรม 6 ประโยค)
ศาลาที่ใช้สำหรับทำการเรียนการสอนว่า ศาลาการเปรียญ คือศาลาหรืออาคารที่พระภิกษุใช้เป็นที่เล่าเรียน
อ้างอิง[แก้]
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
1.↑ เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
2.↑ ประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในประเทศไทย
3.↑ หลักสูตรการศึกษา”บาลีสนามหลวง”
4.↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บาเรียน หมายถึง ผู้เล่าเรียน,ผู้รู้ธรรม,ผู้คงแก่เรียน,เปรียญ, เปรียญ หมายถึง ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่3ประโยคขึ้นไป
ดูเพิ่ม[แก้]
เปรียญธรรม
พัดยศ
การสอบสนามหลวง