พุทธาภิเษก (บาลีวันละคำ 449)
พุทธาภิเษก
อ่านว่า พุด-ทา-พิ-เสก
ประกอบด้วย พุทธ + อภิเษก
“พุทธ” บาลีเขียน “พุทฺธ” (โปรดสังเกตจุดใต้ ทฺ ซึ่งทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด) อ่านว่า พุด-ทะ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
“พุทฺธ – พุทธ” แปลตามความหมายว่า
ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
“อภิเษก” บาลีเป็น “อภิเสก” (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า การอภิเษก, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์), การถวายน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพระราชา, การแต่งตั้ง, การบรรลุ
ในภาษาไทยใช้ว่า “อภิเษก” พจน.42 บอกความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”
“อภิเสก – อภิเษก” ความหมายเดิมคือทำพิธีรดน้ำเพื่อประกาศสถานภาพบางอย่าง เช่นความเป็นกษัตริย์ ความเป็นคู่ครอง เมื่อเอาคำนี้มาใช้ในวัฒนธรรมไทยความหมายก็ค่อยๆ กลายเป็นว่า ทำพิธีในวาระสำคัญ ทำพิธีเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
คำว่า “เสก” และ “ปลุกเสก” ที่หมายถึงร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ก็น่าจะกร่อนกลายมาจากคำว่า “อภิเสก” นี่เอง
พุทธ + อภิเษก = พุทธาภิเษก เป็นคำที่เราผูกขึ้นใช้ พจน.42 ให้ความหมายไว้ว่า –
ชื่อพิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ
: “ลูกเอ๋ย อย่าปลุกเสกพ่อเลย
พ่อตื่นแล้ว
ลูกต่างหากที่ยังหลับอยู่”
————————–
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)
บาลีวันละคำ (449)
7-8-56
“พุทโธ” แปลตามความหมายว่า
ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
บาลีวันละคำ (20) 23 – 5 – 55
ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาไม่พบคำว่า “มุทฺธาภิเสก” ตรงๆ มีแต่คำว่า “มุทฺธาภิสิตฺต” เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึงกษัตริย์ที่ได้ทำพิธีอภิเษกหรือสวมมงกุฎแล้ว
ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “มูรทฺธาภิษิกฺต” ตรงกับบาลี หนังสือสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปลว่า พระราชา, a king
อภิสิตฺต (บาลี-อังกฤษ)
(ก.กิ. ของ อภิสิญฺจติ, สัน. สิกฺต pp. of abhisiñcati, Sk. ˚sikta)
๑ ประพรม, เจิม sprinkled over, anointed Sn 889 (manasā, cp. N1 298); Miln 336 (amatena loka a.).
๒ ได้รับการอภิเษก (เป็นพระราชา), ทำพิธีสถาปนา (บ่อยมากในเรื่องทำนองนี้เป็น อวสิตฺต) consecrated (King), inaugurated (more freq. in this conn. is avasitta), Vin iii.44; A i.107 (Khattiyo Khattiyehi Khattiyɔ âbhisekena a.); ii.87 (v.l. for avasitta, also an˚).
อภิเสก (บาลี-อังกฤษ)
(จาก อภิ + สิจฺ, เทียบ สัน. อภิเษก fr. abhi + sic, cp. Sk. abhiṣeka) การเจิม, การอภิเษก, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์) anointing, consecration, inauguration (as king)
มุทฺธาภิสิตฺต ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
การรดน้ำบนศีรษะ, มุรธาภิเษก.
อภิเสก ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
การอภิเษก, การประพรม, การถวายน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพระราชา, การแต่งตั้ง, การบรรลุ.
อภิเษก
ก. แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน. (ส.; ป. อภิเสก).
พุทธ, พุทธ-, พุทธะ
[พุด, พุดทะ-] น. ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).
พุทธาภิเษก
น. ชื่อพิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ.
มูรธาภิเษก
น. นํ้ารดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ, มุรธาภิเษก ก็ว่า. (ส.; ป. มุทฺธาภิเสก).
เสก
ก. ร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น เสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งผัดหน้า, ร่ายมนตร์เพื่อทำให้สิ่งหนึ่งกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เสกหญ้าให้เป็นหุ่นพยนต์ เสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตน, ร่ายมนตร์เพื่อให้เกิดพลังส่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทำร้ายศัตรู เช่น เสกหนังเข้าท้อง.
เสกคาถา
ก. ร่ายมนตร์.
เสกเป่า
ก. ร่ายมนตร์หรือคาถาแล้วเป่าลงไป.
เสกสมรส
ก. แต่งงาน (ใช้แก่เจ้านาย).
ปลุกเสก
ก. เสกให้ขลัง.
กาญจนาภิเษก
น. พระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินกระทำเมื่อครองราชสมบัติได้ ๕๐ ปี.
ทวีธาภิเษก
น. ชื่อพระราชพิธีการสมโภชที่รัชกาลที่ ๕ ได้ครองราชสมบัติยืนนานมาเป็น ๒ เท่าของรัชกาลที่ ๔, เรียกเหรียญที่จัดทําขึ้นเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ว่า เหรียญทวีธาภิเษก.
รัชดาภิเษก
น. พระราชพิธีสมโภชเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชสมบัติได้ ๒๕ พรรษา.
ราชาภิเษก
น. พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ส.).
Sunant Sukantharam
5-8-56
เจริญพรอาจารย์
มีศัพท์ๆหนึ่งอยากให้อาจารย์วิจัยวิจารณ์และค้นคว้าเอามาลงด้วยขอรับ
คือศัพท์. พุทธาภิเษก.