บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โรคความไม่รู้ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา

โรคความไม่รู้ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา

——————————————

แพทย์ที่จบออกมาไปอยู่ไหนกันหมด?

วัดในเมืองไทย ช่วงเข้าพรรษาจะมีการทำบุญทุกวันพระ พอออกพรรษาแล้วก็เลิก เท่าที่ฟังมาส่วนมากจะไปเลิกเอาวันลอยกระทง คือทำบุญจนถึงวันลอยกระทงเป็นวันสุดท้าย แล้วก็หยุดไปจนถึงเข้าพรรษาปีต่อไป

วัดมหาธาตุ ราชบุรี มีทำบุญทุกวันพระตลอดทั้งปี ไม่มีหยุดเหมือนวัดอื่นๆ

นอกจากทำบุญทุกวันพระแล้ว ก็ยังมีญาติโยมถืออุโบสถนอนค้างวัดทุกวันพระด้วย

ผมก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น 

และเพราะเหตุที่ผมทำหน้าที่เป็นมรรคนายก คือนำไหว้พระ นำถวายทาน ก็เลยมักจะถูกถามปัญหาเกี่ยวกับพิธีการต่างๆ อยู่เนืองๆ (เป็นเหตุให้ได้เขียนหนังสือ “พิธีกรควรรู้” แจกจ่ายเป็นธรรมทานแก่ญาติมิตรสืบมา) ผมก็เลยชักชวนผู้ถืออุโบสถตั้งวงสนทนาธรรมตอนบ่ายทุกวันพระ

ผมสังเกตเห็นว่า พวกถืออุโบสถนั้นพอบ่ายๆ มีเวลาผ่อนอารมณ์นานหน่อย ก็มักจะหันหน้าเข้าคุยกัน

เรื่องที่คุยมักเป็นเรื่องนอกวัด และไปๆ มาๆ จะเป็นเรื่องคนในครอบครัว แล้วในที่สุดก็มักไม่พ้น “นินทาลูกนินทาผัว” (ผู้ถืออุโบสถส่วนมากเป็นผู้หญิง) หรือไม่ก็นินทาชาวบ้าน ถ้าไม่ใช่นินทาก็ไม่พ้นเรื่องเล่า – เมื่อวันก่อนไปเที่ยวที่โน่น เมื่อวันโน้นไปดูงานที่นั่น ไปจนถึง .. กับข้าวตลาดวัดโรงช้างขายถูกกว่ากับข้าวตลาดกำนันหลัก ฯลฯ

การตั้งวงสนทนา นอกจากได้ผลในทางตัดการคุยเรื่องนอกวัดนอกตัวออกไปได้มากแล้ว ยังทำให้ได้รู้ความจริงที่น่าตกใจว่า ผู้ถืออุโบสถส่วนมากไม่ค่อยมีความรู้ทางธรรมะ (ทางวินัยพระ ไม่ต้องพูด)

แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับ-หลายๆ คนยังเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่อง

เช่นคุณพี่ผู้หญิงท่านหนึ่ง เป็นข้าราชการบำนาญ ท่านจะเอาข้าวเช้าข้าวกลางวันมาจากบ้าน คือไม่กินข้าววัด 

ถามเหตุผล ท่านบอกว่าวัดมหาธาตุไม่อปโลกน์เมื่อจบคำถวายสังฆทาน ท่านจึงกินข้าววัดไม่ได้เพราะสงฆ์ไม่ได้อนุญาต กินข้าววัดเท่ากับกินของสงฆ์ เป็นบาป

คือท่านเข้าใจว่า การอปโลกน์คือคำอนุญาตของสงฆ์ให้ญาติโยมกินข้าววัดได้ เมื่อไม่ได้อปโลกน์ ก็คือสงฆ์ไม่ได้ออกปากอนุญาต ใครกินก็เป็นบาปฐานกินของสงฆ์

ผมอธิบายชี้แจงความหมายของการอปโลกน์ให้ฟัง ว่าอปโลกน์ก็คือการที่สงฆ์ตกลงแบ่งแจกภัตตาหารหรือของอื่นๆ ที่มีผู้ถวายเป็นของสงฆ์ และเป็นของที่สามารถแจกกันไปใช้เป็นของส่วนตัวได้

นอกจากเรื่องแจกภัตตาหารแล้ว อปโลกน์ยังทำในเรื่องอื่นๆ อีก เป็นเรื่องแบบที่ภาษาราชการเรียกว่า “แจ้งเพื่อทราบ” แต่ไม่ใช่การประกาศอนุญาตให้ญาติโยมกินอาหารที่เหลือจากพระฉันแล้วได้-อย่างที่พี่ท่านเข้าใจ

อาหารที่พระฉันแล้ว อยู่ในฐานะของเป็นเดน พระท่านจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ใครกินก็ไม่เป็นบาปฐานกินของสงฆ์ ยิ่งหลังเที่ยงเป็นต้นไปด้วยแล้ว อาหารนั้นพระหมดสิทธิ์ที่จะหวงห้ามไว้เป็นของสงฆ์อีกต่อไป

เฉพาะที่วัดมหาธาตุนั้น หลวงพ่อท่านประกาศเป็นนโยบายยืนพื้นมานานแล้วว่า เมื่อพระฉันเสร็จขอเชิญญาติโยมกินข้าวก่อนแล้วค่อยกลับ เป็นคำอนุญาตยืน จึงไม่ต้องอปโลกน์ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน) แต่ประการใด

อธิบายแล้ว ท่านก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จะกินข้าววัดก็ยังกลัวๆ กล้าๆ 

เรื่องอปโลกน์นี้มีรายละเอียดประการใด ผมเขียนไว้ในหนังสือ พิธีกรควรรู้ ด้วยแล้ว

——————

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความเข้าใจของคุณพี่ท่านนั้นก็คือเรื่องรับศีล

ท่านบอกว่า วันพระไหนไม่ได้ไปวัด ท่านก็ถือศีลไม่ได้เพราะไม่ได้รับศีลจากพระ บางวันพระถ้าตั้งใจถือศีล แต่ไม่สะดวกที่จะไปทำบุญที่วัดตามปกติ ก็ต้องไปขอรับศีลจากพระก่อนจึงจะไปทำกิจธุระอื่นต่อไป บางทีก็ใช้วิธีเปิดวิทยุที่มีรายการแสดงธรรม พอพระให้ศีลก็ถือโอกาสรับศีลทางวิทยุ ถ้าหมุนหารายการแบบนั้นไม่เจอก็เป็นอันว่าไม่ได้รับศีล วันพระนั้นก็เลยไม่ได้ถือศีล

ผมเชื่อว่ายังมีญาติโยมอีกเป็นอันมากที่เข้าใจแบบนี้-คือเข้าใจว่าจะถือศีลก็ต้องรับศีลจากพระ

ผมก็ต้องเปิดเวทีอธิบายให้ฟังว่า การรักษาศีลนั้นสำเร็จที่เจตนา กล่าวคือ เมื่อตั้งเจตนาว่าจะไม่ทำเรื่องอะไร —

ไม่ทำ ๕ เรื่อง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕.. ก็เป็นศีล ๕

ไม่ทำ ๘ เรื่อง ก็เป็นศีล ๘

พอตั้งเจตนาเสร็จ ก็สำเร็จเป็นศีลทันที

ไม่ต้องรอไปขอศีล รับศีลจากพระเสียก่อน พอพระให้ศีลจบจึงจะได้ชื่อว่าถือศีลแล้ว-ไม่ใช่อย่างนั้น

นั่นมันเป็นพิธีการ ไม่สะดวกที่จะทำ ก็ไม่ต้องทำ ถ้าสะดวกที่จะทำก็ควรทำ

ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจให้ถูกประเด็น ประเดี๋ยวจะมีผู้หวังดีเอาไปพูดว่าอาจารย์ทองย้อยบอกว่าถือศีลไม่จำเป็นต้องรับศีลจากพระ 

พอเห็นใครกำลังรับศีลก็เลยตะโกนขึ้นมาว่า ไม่ต้องทำพิธีรับศีล ศีลไม่ได้สำเร็จด้วยการรับศีลจากพระ แต่สำเร็จด้วยการตั้งเจตนา-อาจารย์ทองย้อยบอก

จึงต้องย้ำว่า-นั่นมันเป็นพิธีการ พิธีการอะไรที่มีขั้นตอนรับศีล ก็ต้องรับศีล จะไม่รับไม่ได้ ต้องกล่าวคำอาราธนาศีล พระให้ศีล ต้องรับศีลตามที่พระว่า ทำพิธีอะไรถ้าสะดวกที่จะรับศีลก็ต้องรับ ต้องทำ และควรสนับสนุนกันให้ทำ 

แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะทำ ก็ไม่ต้องทำ

เป็นแต่เพียงต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ที่สำเร็จเป็นตัวศีลจริงๆ นั้นคือการตั้งเจตนาแล้วปฏิบัติตามเจตนานั้น ศีลอยู่ตรงนั้น จะรับจากพระหรือไม่ได้รับ ก็ไม่เป็นประมาณ แม้ไม่ได้รับศีลจากพระก็ถือศีลได้

กว่าจะเข้าใจได้ก็เล่นเอาเหนื่อย!

……………

อีกเรื่องหนึ่งที่มีอาการแบบเดียวกับถือศีล นั่นคือการปฏิบัติธรรม 

เวลานี้คนทั้งหลายพากันเข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมก็คือ ไปอยู่วัด ๓ วัน ๗ วัน ตามโครงการที่วัดหรือสำนักนั่นโน่นนี่จัดขึ้น ต้องแต่งชุดขาว ถือศีล ๘ นั่งปฏิบัติบนอาสนะ ต้องนั่ง ต้องเดิน ต้องกิน แม้กระทั่งต้องหายใจ ตามอิริยาบถและวิธีการที่อาจารย์ผู้สอนอธิบายและนำปฏิบัติ และต้องทำอะไรร่วมกันพร้อมๆ กัน นั่นจึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

และที่สำคัญต้องมีคนไปร่วมปฏิบัติเป็นสิบหรือเป็นร้อย ยิ่งถ้ามีคนไปร่วมกิจกรรมเป็นร้อยเป็นพัน ก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจ เกิดปีติท่วมท้นว่ามีผู้มาปฏิบัติธรรมกันเยอะ 

เมื่อได้ไปร่วมกิจกรรมเช่นนั้นตามวันเวลาที่กำหนด นั่นแหละจึงจะพูดได้ว่าตนได้ปฏิบัติธรรมแล้ว 

ครบกำหนดวันตามโครงการแล้ว ก็กลับบ้าน อิ่มใจว่าเราได้ไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว

ต่อจากนั้นก็รอคอยเวลาและโอกาสที่จะได้ “ไปปฏิบัติธรรม” ที่นั่นที่โน่นในครั้งต่อไป 

ในระหว่างนั้นถ้ายังไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมเช่นนั้นที่ไหน ก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร และเข้าใจว่าตนไม่ได้ปฏิบัติธรรม หรือไม่มีโอกาสที่จะได้ปฏิบัติธรรม

คนส่วนมากยึดถือและเข้าใจอย่างที่ว่ามานี้

เรื่องนี้ผมก็ต้องตั้งเวทีอธิบายอีกว่า การปฏิบัติธรรมตามเจตนาของพระพุทธเจ้านั้นคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นั่นคือไม่ต้องแยกการปฏิบัติธรรมออกไปจากชีวิตประจำวัน

ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ทำอะไรบ้าง ก็ทำไปตามปกติ พร้อมๆ กับปฏิบัติธรรมไปด้วยได้-ถ้ารู้วิธีการ

ใครที่ยังติดหนึบในรูปแบบคงจะแย้งว่า จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าป่า ต้องอยู่ตามโคนไม้ หรือไม่ก็ต้องไปอยู่ในที่สงบสงัดมิใช่หรือ การไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ที่สำนักต่างๆ จัดเตรียมไว้ให้ นั่นก็ถูกต้องตามพุทธพจน์นี่แล้วมิใช่หรือ

โปรดเข้าใจให้ถูกว่า พระพุทธพจน์ที่ยกมานั้นท่านตรัสสำหรับภิกษุหรือนักบวชที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากผู้ครองเรือนมุ่งหน้าปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะโดยตรง ควรได้โอกาสและสถานที่เช่นนั้นจึงจะดี 

แต่ไม่ใช่ข้อกำหนดบังคับสำหรับบุคคลทั่วไป

สำหรับบุคคลทั่วไป การไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑ เดือน เป็นสิ่งที่ดี ควรแก่การอนุโมทนา ใครสามารถไปได้ทำได้ ก็ควรไป ควรทำ 

แต่ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ต้องเข้าใจให้ถูกว่า กิจกรรมตามรูปแบบที่ทำกันนั้นเป็นเพียง “แบบฝึกหัด” คือเป็นวิธีฝึกปฏิบัติธรรม ผู้ที่ยังไม่เคย หรือยังไม่คุ้น จะได้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนของการปฏิบัติ

เมื่อรู้วิธีการเป็นอันดีแล้ว คือเข้าใจดีแล้วว่าการปฏิบัติธรรมคือทำอะไร ต่อจากนั้นก็ให้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือปฏิบัติธรรมในชีวิตจริงของใครของมัน อย่างที่ว่า-ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ชีวิตจริงทำอะไรบ้าง ก็ทำไปตามปกติ พร้อมๆ กับปฏิบัติธรรมไปได้ด้วย

อุปมาเหมือนเด็กหัดว่ายน้ำ เมื่อยังว่ายน้ำไม่เป็น ก็ต้องมีคนคอยช่วย ต้องใช้อุปกรณ์เช่นห่วงยางเป็นต้น ค่อยๆ ฝึกว่ายไปก่อน 

แต่ไม่มีแชมป์ว่ายน้ำคนไหนสวมห่วงยางลงไปว่ายน้ำจริงๆ

ไม่มีคนที่ว่ายน้ำเป็นแล้วคนไหน จะว่ายน้ำทีต้องเรียกหาห่วงยางที

การไปปฏิบัติธรรมตามสำนักนั่นนี่โน่น อุปมาเหมือนเด็กหัดว่ายน้ำ

เมื่อรู้วิธีปฏิบัติแล้วก็เอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เหมือนคนที่ว่ายน้ำเป็นแล้วว่ายที่ไหนได้ทุกที่ ไม่ต้องเรียกหาห่วงยาง

พูดอย่างนี้ก็ต้องเข้าใจกันให้ถูก มิฉะนั้นจะโดนถล่มจากสำนักปฏิบัติธรรมอีก

เข้าใจกันให้ถูกก็คือ-การไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรม ไปแต่งชุดขาว ไปนั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หงายมือวางไว้บนหน้าตัก หลับตาเบาๆ กำหนดลมหายใจ หรือภาวนายุบหนอพองหนอ เดินช้าๆ กำหนดซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ฯลฯ ๓ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑ เดือน ที่มีจัดกันอยู่ทั่วไปนั้น โปรดทราบว่าเป็นสิ่งที่ดี ใครสามารถไปได้ทำได้ ก็ควรไป ควรทำ ควรแก่การอนุโมทนาสาธุการ ไม่ควรที่ใครจะไปคัดค้านหรือขัดขวาง

เพียงแต่ขอให้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องแต่งชุดขาว นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ฯลฯ ฯลฯ ตามแบบฝึกหัดทุกวันเวลาไป หากแต่สามารถทำได้ทุกที่ อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่บนท้องถนน – ขอประทานโทษ – แม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้-ถ้ารู้เทคนิคหรือศิลปะในการปฏิบัติ 

เทคนิคหรือศิลปะในการปฏิบัติก็มีพื้นฐานธรรมดาอยู่ที่-เจริญสติกำหนดรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร และกำลังคิดอะไร-เทคนิคการปฏิบัติธรรมอยู่ตรงนี้

อุปมาอีกอย่างหนึ่ง ปฏิบัติธรรมก็เหมือนการหายใจ 

เราหายใจไปพร้อมๆ กับทำกิจนั่นนี่โน่นสารพัด

ไม่มีใครต้องหยุดกินข้าวไปหายใจก่อน หายใจเสร็จแล้วจึงจะมากินข้าวต่อได้ หรือว่าระหว่างกินข้าวต้องหยุดหายใจก่อน กินข้าวอิ่มแล้วจึงจะไปหายใจต่อได้

เรากินข้าวไปพร้อมๆ กับหายใจ

หายใจไปพร้อมๆ กับกินข้าว ฉันใด

เราสามารถทำกิจประจำวันไปพร้อมๆ กับปฏิบัติธรรม

ปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กับทำกิจประจำวัน ฉันนั้น

แต่ในระหว่างที่ปฏิบัติเช่นนั้น ถ้าเกิดมีข้อสงสัยใดๆ ในกระบวนการปฏิบัติ จะไปหาคำตอบที่สำนักไหนหรือจากอาจารย์ท่านไหน จะไปค้างวัดค้างสำนักสัก ๓ วัน ๗ วัน เพื่อหาคำตอบ ก็เป็นสิ่งควรทำ ไม่ใช่เรื่องเสียหายใดๆ

ถ้าการปฏิบัติธรรมต้องไปทำในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็มีประโยชน์เฉพาะคนบางคนเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจด้วยว่าการปฏิบัติธรรม-โดยเฉพาะปฏิบัติจิตภาวนา-ก็เหมือนการใช้ยารักษาโรค สำหรับบางคนอาจพอใจหรือเชื่อว่าตนจำเป็นต้องกระทำด้วยวิธีที่ไม่เหมือนคนทั่วไป 

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะยืนยันว่า เฉพาะตัวเขา การไปปฏิบัติธรรมในสถานที่และตามโอกาสที่จัดไว้โดยเฉพาะได้ผลดีกว่าวิธีอื่น – ก็ขอเชิญตามอัธยาศัย ไม่ต้องมาตั้งป้อมถกเถียงกัน

ข้ออภิปรายเรื่องการไปปฏิบัติธรรมตามที่ว่ามานี้ผมได้เขียนเป็นหนังสือขึ้นไว้เล่มหนึ่งด้วยเช่นกัน ชื่อ “ข้อคิดคำนึงถึงเรื่อง ‘ไปปฏิบัติธรรม’ ” (ต่อมามีผู้ขอไปพิมพ์แจกงานศพ เปลี่ยนชื่อเป็น “อย่างไรคือปฏิบัติธรรม”)

——————-

ที่ว่ามาตั้งแต่ต้นเป็นเรื่องศีลและภาวนา ถ้าจะให้ครบสูตรไตรสิกขา คือ ทาน ศีล ภาวนา ก็ต้องพิจารณาเรื่อง “ทาน” อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็มีเงื่อนแง่ที่ควรคิดคล้ายๆ กับศีลและภาวนาเช่นเดียวกัน

เงื่อนแง่ที่ว่านั้นก็คือ คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า ทำบุญกับให้ทานต่างกัน

ทำกับพระ เรียกว่า “ทำบุญ”

ทำกับคนธรรมดา เรียกว่า “ให้ทาน”

และพอพูดว่า “ทำบุญ” คนส่วนมากก็นึกถึงแต่การใส่บาตร และเข้าใจกันว่า ทำบุญมีวิธีเดียว คือใส่บาตร 

แล้วก็ต่อด้วยใส่ตู้ ใส่ซอง ซึ่งผมขอเรียกด้วยคำง่ายๆ แต่เข้าใจกันดีว่า “บุญควักกระเป๋า”

และด้วยความจริงเชิงจิตวิทยาเช่นนี้เอง จึงทำให้สำนักที่ชาญฉลาดในวิธีบริหารจัดการ สามารถใช้คำว่า “บุญ” ทำให้ผู้คนควักกระเป๋าบริจาคจนกลายเป็นสำนักที่มั่งคั่งระดับโลก

บุญ มีวิธีทำตั้ง ๓ วิธี และขยายออกไปอีกเป็น ๑๐ วิธี 

แต่บางสำนักจะเน้นบุญวิธีเดียว คือ บุญ หมายถึงควักกระเป๋า 

เป็นการตอกย้ำให้คนเข้าใจดิ่งลึกลงไปอีกว่า บุญที่คนเราจะทำ จะเพิ่ม จะเสริมได้ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ “บุญควักกระเป๋า” 

สอดคล้องกับธรรมชาติของคนส่วนมากที่เข้าใจว่า ทำบุญก็คือใส่บาตร

แต่ดั้งเดิม ใส่บาตร หมายถึงเอาอาหารถวายพระโดยวิธีใส่อาหารลงไปในบาตรที่พระท่านถืออยู่ (ภาษาสุภาพหรือภาษาแบบแผนท่านให้เรียกว่า “ตักบาตร” ไม่ใช่ “ใส่บาตร”) 

อันนี้ก็เกี่ยวพันกับกิจวัตรของพระที่กำหนดว่าต้องออกบิณฑบาต คือออกรับอาหารจากชาวบ้านมาฉันเพื่อดำรงชีวิตเพื่อให้มีกำลังที่จะปฏิบัติกิจพระศาสนาสืบต่อไป

สมัยก่อน ทุกครัวเรือนหุงหาอาหารกินกันเอง อาหารหลักคือข้าว หุงข้าวกันทุกบ้าน เพราะฉะนั้น ข้าวจึงเป็นอาหารที่สะดวกที่สุดในการนำไปใส่บาตร

หุงข้าวสุกแล้ว คดข้าวใส่ขัน ออกไปรอหน้าบ้าน เดี๋ยวพระก็มาบิณฑบาต ได้ใส่บาตรทุกเช้า

ทำบุญด้วยวิธีใส่บาตรจึงเป็นชีวิตประจำวันของคนไทย

จึงไม่แปลกที่คนส่วนมากเข้าใจว่า ทำบุญก็คือใส่บาตร

สมัยนี้ แทบทุกครัวเรือน-โดยเฉพาะสังคมเมือง-ไม่ได้หุงหากินเองเหมือนสมัยก่อน แต่ใช้วิธีซื้อกิน อย่างดีก็แค่ “เสียบข้าว” (คำนี้ต่อไปก็คงต้องอธิบายกันว่าคือทำอะไร) แล้วไปซื้อกับข้าวมาจากตลาดร้านค้า

คาดว่าอีกไม่เกิน ๕๐ ปี ระบบหุงหากินเองจะหมดสิ้นไปจากสังคมไทย นั่นคือจะไม่มีบ้านไหนมีครัว มีหม้อข้าวเตาไฟ คนไทย-โดยเฉพาะหญิงไทย-จะไม่รู้จักวิธีหุงหาอาหารกินเอง เพราะอยู่ในระบบ “ทุกมื้อซื้อกิน” 

นั่นหมายความว่าคนที่ไม่มีเงินจะอดตาย เงินจะกลายเป็นทั้งหมดของชีวิต 

จากรากเหง้าเดิมของมนุษย์-เกิดมาหาอาหารกิน

จะเปลี่ยนเป็น-เกิดมาหาเงิน

คติของมนุษย์จะเปลี่ยนไป กลายเป็นว่า ทำอะไรอย่างไรก็ได้ ขอให้ได้เงินก็แล้วกัน ผิดถูกดีชั่วไม่สำคัญ

เหมือนสัตว์-ทำอะไรก็ได้ ขอให้ได้อาหารมากินก็แล้วกัน ผิดถูกดีชั่วไม่รับรู้ 

ขออนุญาตกลับเข้าเรื่อง

สมัยนี้ จะกินอะไรสักมื้อต้องควักกระเป๋า เพราะฉะนั้น จากเดิมจะทำบุญก็หุงข้าวใส่บาตร ก็ค่อยๆ กลายไป เป็น-จะทำบุญก็ซื้อของใส่บาตร

หนักเข้าก็เลยกลายเป็น-เอาเงินใส่บาตรเสียเลย ง่ายดี

เมื่อเกิดมีคนนิยมเอาเงินใส่บาตรแทนเอาอาหารใส่บาตร ก็มีคนช่วยหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเหตุผลอย่างนั้นๆๆๆ

เช่น-ใส่อาหาร พระก็ได้แต่อาหาร แต่ถ้าใส่เงิน พระท่านจะได้เอาเงินไปซื้อของที่จำเป็นอื่นๆ ได้อีกตั้งหลายอย่าง

เหตุผลข้อนี้ข้อเดียว คนสมัยใหม่ก็ยกมือพรึบ เห็นด้วยทันที

หนักเข้า พระเองก็สนับสนุนให้โยมเอาเงินใส่บาตร และสนับสนุนกันและกันให้รับ อ้างสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่รับเงิน พระก็อยู่ลำบาก

ทุกฝ่ายก็เลยสมประโยชน์กัน

พอใครอ้างสิกขาบท อ้างอาบัติ ก็จะมีเสียงแก้ต่างออกมาว่า อาบัติก็แค่ปาจิตตีย์ ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

เลยกลายเป็นมาตรฐานหรือพื้นฐานแห่งการคิดการมองศีลของพระ นั่นคือเกิดเป็นความเห็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อาบัติเล็กน้อย ไม่เป็นไร ความอยู่รอดสำคัญกว่า

เรื่องทำบุญด้วยเงินนี่ ผมก็เขียนเป็นหนังสือเล่มน้อยไว้เล่มหนึ่งอีกเหมือนกัน ชื่อ “ถวายเงินให้ถูกวิธี” เสนอทางออกไว้ด้วยว่าควรคิดอย่างไรและควรทำอย่างไร

เรื่อง “อาบัติเล็กน้อย” นี่ ผมอยากให้ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัยกันให้จงหนัก เพราะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเถรวาทกับมหายาน

ถ้าไม่ยึดอุดมการณ์กันไว้ให้มั่นคง อีกไม่นานเถรวาทจะกลายเป็นมหายานไปโดยไม่รู้ตัว

เรื่อง “อาบัติเล็กน้อย” นี่ผมเขียนไว้เป็นบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง “เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕” (เป็นหนังสือตอบโต้หนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ.๑” ของพระมโน เมตฺตานนฺโท)

——————-

วันนี้ดูเหมือนว่าผมจะเอ่ยอ้างถึงหนังสือที่ตัวเองเขียนไว้หลายเล่ม ถ้าเป็นหนังสือที่เขียนขาย ผมคงไม่กล้าพูดถึง เดี๋ยวจะถูกมองว่าเป็นการโฆษณาสินค้า 

หนังสือที่เอ่ยมาทุกเล่ม พิมพ์เป็นธรรมทาน 

มีเฉพาะ “เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕” เล่มเดียวที่มูลนิธิพุทธธรรมพิมพ์จำหน่ายในราคาเท่าทุนพร้อมๆ ไปกับมีผู้ร่วมพิมพ์เป็นธรรมทาน

น่าเสียดายที่หนังสือดังกล่าวมาไม่ค่อยแพร่หลาย แทบทั้งหมดพิมพ์ครั้งเดียวแล้วก็เงียบหายไปเลย 

ยกเว้นเล่มเดียว “พิธีกรควรรู้” พิมพ์ ๑๑ ครั้งแล้ว และยังมีผู้เรียกร้องต้องการอยู่เสมอ มีผู้ยุให้ผมพิมพ์ขาย แต่ผมยังยืนยันระบบพิมพ์เป็นธรรมทาน เพราะเห็นว่าน้ำใจมีค่ากว่าน้ำเงิน

แต่ถึงจะไม่มีหนังสือที่ผมเอ่ยมา การศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา หรือไตรสิกขาของชาวบ้าน ก็ยังสามารถทำได้เสมอจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งระบบไฮเทคในปัจจุบันช่วยอำนวยความสะดวกให้เป็นอันมาก

ที่ดูเหมือนจะยังขาดอยู่มากๆ ก็มีเพียง-ความเอาใจใส่ใฝ่รู้-เท่านั้น

อันที่จริงเรื่องทั้งปวงเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่หลักของวัด ของพระ ที่จะต้องเอาใจใส่นำเสนอในหมู่ชาววัดด้วยกัน และเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้าน

ผมอยากจะพูดคำเดิมที่เคยพูดเคยบ่นมาเสมอๆ คือ เดี๋ยวนี้เราชวนกันชื่นชมยินดีต่อพระเณรที่สอบบาลีได้ประโยคนั้นประโยคนี้-โดยเฉพาะเปรียญธรรม ๙ ประโยค-เราตื่นเต้นชื่นชมกันมาก ยิ่งผู้สอบได้เป็นสามเณรด้วยแล้ว ยิ่งชื่นชมยินดีเป็นที่ยิ่ง

แต่เราไม่เคยตามไปดูต่อไปว่า ท่านที่สอบได้เหล่านั้นได้เอาความรู้ที่สอบได้-และที่เราพากันชื่นชมยิ่งนัก-ไปค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัยกันมากน้อยแค่ไหน และได้นำเอาหลักพระธรรมวินัยไปประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเอง ตลอดจนเผยแผ่ไปในหมู่ชาววัดชาวบ้านให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกันมากน้อยแค่ไหน

เราจะปล่อยให้ความชื่นชมยินดีของเราว่างเปล่าอยู่แค่นั้นเองหรือ?

การศึกษาพระบาลีอุปมาเหมือนการผลิตแพทย์

เราผลิตแพทย์ออกมาปีแล้วปีเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า

แต่โรคความไม่รู้ความไม่เข้าใจในพระพุทธศาสนาก็ยังไม่ได้ถูกรักษาให้หาย หรือแม้แต่เบาบางลงไป

แพทย์ที่จบออกมาไปอยู่ไหนกันหมด?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐

๑๓:๓๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *