บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่เป็นธรรม (ตอนที่ ๑)

ความไม่เป็นธรรม (ตอนที่ ๒)

—————-

ข้อกล่าวหา และข้อเท็จจริง

——————

หมายเหตุ : เรื่องนี้มีทั้งหมด ๔ ตอน

ที่ท่านอ่านอยู่นี้เป็นตอนที่ ๒

——————

ด่วนที่สุด

บันทึกข้อความ

ส่วนราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี โทร. ๐-๓๒๓๓-๘๕๓๑

ที่ รบ ๐๐๓๔/ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘

เรื่อง รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานหมู่บ้านรักษาศีล ๕

———————————————————————————-

เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัด นั้น

ดิฉัน นาง กัญฐณา หินเมืองเก่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ขอเรียนชี้แจงว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ร่วมกับหน่วยงานราชการอำเภอต่างๆ มีการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขับเคลื่อนจากการที่มีข้อมูลเป็นศูนย์ในระบบของวัดปากน้ำจนมาติดอันดับเป็นอันดับที่ ๙ ในปัจจุบัน แต่การขับเคลื่อนโครงการนี้ประสบปัญหาทางคณะสงฆ์ คือ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (พระธรรมปัญญาภรณ์) ไม่ได้ช่วยเหลือและไม่ได้สนับสนุน ไม่สั่งการคณะสงฆ์ให้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทางคณะสงฆ์บางอำเภอประสานร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ ลับหลังเจ้าคณะจังหวัด จนติดอันดับ ๙ คณะสงฆ์อำเภอที่ร่วมมือ มี อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอโพธาราม อำเภอวัดเพลงและอำเภอปากท่อ ส่วนอำเภออื่นๆนั้น ดำเนินการไม่ได้เต็มที่เพราะติดระบบการบังคับบัญชาทางคณะสงฆ์

กรณีเหตุการณ์วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ เจ้าคณะจังหวัดนัดประชุมคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดเรื่องหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โดยอ้างว่ามีปัญหากับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และไม่มีหนังสือแจ้งดิฉันในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีเข้าร่วม และทราบจากทางเจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี (พระราชวัลลภาจารย์) ที่เข้าร่วมประชุมและนางสหัสพร ทัยรัตน์ นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการที่เข้าไปสังเกตการณ์ ทราบว่า วันนี้ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้สั่งให้คณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี ที่กรอกข้อมูลเข้าระบบของวัดปากน้ำ ให้เข้าไปลบข้อมูลออกให้หมดจากระบบ โดยให้ถือว่าข้อมูลนั้นยกเลิก และให้แต่ละวัดไปรับแบบกรอกข้อมูลใบสมัครใหม่จากเลขาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ซึ่งแบบกรอกข้อมูลใบสมัครนั้น เจ้าคณะจังหวัดออกแบบเองโดยการปรับแบบใบสมัครใหม่ และให้คณะสงฆ์จังหวัดรับแบบใบสมัครใหม่ได้ที่สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

(ลงชื่อ) —

(นางกัญฐณา หินเมืองเก่า)

ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี

——————–

ประเด็นข้อกล่าวหา และข้อเท็จจริง

๑ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีไม่ได้ช่วยเหลือและไม่ได้สนับสนุน ไม่สั่งการคณะสงฆ์ให้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น 

———

เป็นความเท็จ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้ช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น (ดูเอกสารหลักฐานจากภาพประกอบ)

ถ้าจะว่ากันตามจริง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีผู้กล่าวหานั่นเองที่น่าจะไม่ค่อยได้ช่วยเหลือ เพราะนานๆ จึงจะมาทำงานสักวัน

๒ คณะสงฆ์บางอำเภอประสานร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ ลับหลังเจ้าคณะจังหวัด 

———

ข้อนี้ก็เท็จอีก คณะสงฆ์ทุกอำเภอในจังหวัดราชบุรีขับเคลื่อนโครงการนี้ตามที่ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีมอบหมาย สั่งการ กิจกรรมหลายๆ อย่างทำต่อหน้าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีโดยตรง

๓ อำเภออื่นๆนั้น ดำเนินการไม่ได้เต็มที่เพราะติดระบบการบังคับบัญชาทางคณะสงฆ์

———

ข้อนี้หมายความว่ากระไร 

หมายความว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีท่านห้ามคณะสงฆ์บางอำเภอไม่ให้ทำงานนี้กระนั้นหรือ คณะสงฆ์อำเภอที่ถูกห้ามจึงทำอะไรไม่ได้เต็มที่

ถ้าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีจะสั่งห้ามทำหรือสั่งให้ทำ ทำไมสั่งเฉพาะบางอำเภอ ทำไมไม่สั่งทุกอำเภอ

๔ เจ้าคณะจังหวัดนัดประชุมคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดเรื่องหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โดยอ้างว่ามีปัญหากับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และไม่มีหนังสือแจ้งดิฉันในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีเข้าร่วม 

———

ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดของผู้กล่าวหา เพราะการประชุมที่กล่าวถึงในข้อกล่าวหานี้เป็นการประชุมกิจการคณะสงฆ์ (ท่านใช้คำว่า “การประชุมวิสามัญพระสังฆาธิการระดับวัด”) ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านศีล ๕ โดยตรง จึงไม่ต้องเชิญผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (ในฐานะเลขานุการโครงการ) เข้าร่วมประชุม

อีกประการหนึ่ง การประชุมคณะสงฆ์ในลักษณะนี้ทำอยู่เป็นประจำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีทางรับทราบวันเวลาที่จัดประชุมได้จากการประสานงานระหว่างคณะสงฆ์กับหน่วยงานภายในจังหวัดอยู่แล้วโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

และข้อเท็จจริงก็คือ การประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ๒ คน (ดูเอกสารหลักฐานจากภาพประกอบ)

น่าสงสัยว่า ถ้าผู้กล่าวหาเข้าใจว่าเป็นการประชุมคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ทำไมตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (ในฐานะเลขานุการโครงการ) จึงไม่เข้าร่วมประชุมเอง ทำไมจึงมีแต่เจ้าหน้าที่คนอื่นเข้าประชุม

๕ ข้อความที่ว่า… และทราบจากเจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี (พระราชวัลลภาจารย์) ที่เข้าร่วมประชุมและนางสหัสพร ทัยรัตน์ นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการที่เข้าไปสังเกตการณ์ …

———

ข้อนี้เป็นความเท็จชัดเจน วันนั้นนางสหัสพร ทัยรัตน์ ไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์

เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ที่เข้าไปสังเกตการณ์มี ๒ คน และใน ๒ คนนั้นก็ไม่ใช่นางสหัสพร ทัยรัตน์ (ดูเอกสารรายชื่อผู้เข้าประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์)

๖ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้สั่งให้คณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี ที่กรอกข้อมูลเข้าระบบของวัดปากน้ำ ให้เข้าไปลบข้อมูลออกให้หมดจากระบบ โดยให้ถือว่าข้อมูลนั้นยกเลิก และให้แต่ละวัดไปรับแบบกรอกข้อมูลใบสมัครใหม่จากเลขาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี 

———

ข้อนี้เป็นความเท็จอย่างฉกรรจ์ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเพียงแต่เสนอแนวทางปฏิบัติให้ที่ประชุมพิจารณาเท่านั้น ยังไม่ได้สังการใดๆ ที่จะไปถึงขั้นลบข้อมูลของวัดปากน้ำแต่อย่างใดทั้งสิ้น

๗ แบบกรอกข้อมูลใบสมัครนั้น เจ้าคณะจังหวัดออกแบบเองโดยการปรับแบบใบสมัครใหม่ 

———

ข้อนี้คำกล่าวหาก็แก้ให้อยู่แล้วในตัว คือ “ปรับแบบใบสมัครใหม่” ไม่ได้ออกแบบเองดังที่กล่าวหา และส่วนที่ปรับก็มีเพียงเพิ่มเติมให้กรอกข้อมูลลงข้างท้ายว่าเป็นใบสมัครของหน่วยวัดไหนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเก็บข้อมูล ไม่ได้กระทบถึงสาระในใบสมัครแบบเดิมแต่ประการใดทั้งสิ้น (โปรดเปรียบเทียบใบสมัครจากภาพประกอบ)

และข้อสำคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ ใบสมัครที่ปรับเพิ่มใหม่นี้ก็ยังไม่ได้ใช้จริง เพราะจะต้องขออนุมัติจากศูนย์ใหญ่ที่วัดปากน้ำก่อน

สรุปได้ว่า แนวทางของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ตามข้อกล่าวหาในหมายเลข ๖ และหมายเลข ๗ นั้น เป็นเพียงข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเท่านั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนและเป็นผลเสียต่อโครงการแต่อย่างใดทั้งสิ้น

และสรุปได้ว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดล้วนเป็นความเท็จ และเป็นการรายงานเท็จทั้งสิ้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….


ต่อไปตอนที่ ๓ : การใช้อำนาจ และการทำหน้าที่

(หมายเหตุ : ภาพประกอบที่อ้างถึง ยังไม่สามารถโพสต์ลงมาได้)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *