บาลีวันละคำ

ใบไม้ในมือ กับ ใบไม้ในป่า (บาลีวันละคำ 2,639)

ใบไม้ในมือ กับ ใบไม้ในป่า

สำนวนบาลีที่น่าจดจำ

ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อ ในที่นี้ขอเรียกว่า “สีสปาปัณณสูตร” แปลว่า “พระสูตรว่าด้วยใบประดู่ลาย” มีข้อความที่ควรศึกษา ดังนี้ –

…………..

(1) เอกํ  สมยํ  ภควา  โกสมฺพิยํ  วิหรติ  สีสปาวเน.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน (ป่าประดู่ลาย) กรุงโกสัมพี

(2) อถ  โข  ภควา  ปริตฺตานิ  สีสปาปณฺณานิ  ปาณินา  คเหตฺวา  ภิกฺขู  อามนฺเตสิ 

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย 2-3 ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

(3) ตํ  กึ  มญฺญถ  ภิกฺขเว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

(4) กตมํ  นุ  โข  พหุตรํ ยานิ  วา  มยา  ปริตฺตานิ  สีสปาปณฺณานิ  ปาณินา  คหิตานิ  ยทิทํ  อุปริ  สีสปาวเนติ.

ใบประดู่ลาย 2-3 ใบที่เราถือด้วยผ่ามือ กับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน

(5) อปฺปมตฺตกานิ  ภนฺเต  ภควตา  ปริตฺตานิ  สีสปาปณฺณานิ  ปาณินา  คหิตานิ  อถ  โข  เอตาเนว  พหุตรานิ  ยทิทํ  อุปริ  สีสปาวเนติ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย 2-3 ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า

(6) เอวเมว  โข  ภิกฺขเว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่างนั้นเหมือนกันภิกษุทั้งหลาย

(7) เอตเทว  พหุตรํ  ยํ  โว  มยา  อภิญฺญาย  อนกฺขาตํ.

สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมากกว่า

(8) กสฺมา  เจตํ  ภิกฺขเว  มยา  อนกฺขาตํ.

ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก?

(9) น  เหตํ  ภิกฺขเว  อตฺถสญฺหิตํ

เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์

(10) นาทิพฺรหฺมจริยกํ

มิใช่เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์

(11) น  นิพฺพิทาย

มิใช่เพื่อความหน่าย

(12) น  วิราคาย

มิใช่เพื่อความคลายกำหนัด

(13) น  นิโรธาย

มิใช่เพื่อความดับ

(14) น  อุปสมาย

มิใช่เพื่อความสงบ

(15) น  อภิญฺญาย

มิใช่เพื่อความรู้ยิ่ง

(16) น  สมฺโพธาย

มิใช่เพื่อความตรัสรู้

(17) น  นิพฺพานาย  สํวตฺตติ.

มิได้เป็นไปเพื่อนิพพาน

(18) ตสฺมาตํ  มยา  อนกฺขาตํ.

เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่บอก

ที่มา: สีสปาปัณณสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1712

…………..

อภิปราย :

ครั้งหนึ่ง เคยมีผู้บรรยายธรรมสำนักหนึ่งนำเรื่องราวต่างๆ มาบรรยายแล้วแถลงเหตุผลว่า เรื่องที่ท่านนำมาแสดงแม้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ก็ควรนับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน คือเป็นคำสอนที่เรียกว่า “ใบไม้ในป่า” โดยอ้างพระสูตรนี้เป็นหลักฐานว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์นำมาตรัสสอนมีเพียงเล็กน้อยเหมือน “ใบไม้ในมือ” แต่ธรรมะที่ท่านนำมาแสดงเหมือน “ใบไม้ในป่า” ซึ่งยังมีอยู่อีกเป็นอเนกอนันต์

ถ้าหยุดอยู่เพียงแค่นี้ ก็นับว่าแสดงเหตุผลได้น่าฟังอยู่

แต่ถ้าศึกษาต่อไปอีกสักหน่อยเดียวก็จะพบคำตอบว่า ทำไม “ใบไม้ในป่า” พระพุทธองค์จึงไม่ทรงนำมาแสดง

ทรงแถลงเหตุผลในข้อความถัดมานั่นเองว่า เพราะเรื่องพวกนั้นไม่เป็นประโยชน์-ไปจนถึงสุดท้าย-มิได้เป็นไปเพื่อพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา

สรุปว่า ทรงปฏิเสธไว้ชัดเจนว่า “ใบไม้ในป่า” ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ จึงไม่ทรงแสดง

เพียง “ใบไม้ในมือ” ที่ทรงแสดงไว้ก็มากพอแล้วที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ได้โดยสมบูรณ์

ทำไมจึงจะต้องเอา “ใบไม้ในป่า” มาแสดงกันอีกเล่า

สำนวน “ใบไม้ในมือ” กับ “ใบไม้ในป่า” จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา ด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศึกษาที่ทรงสอน

แม้ม้วยมรณ์ไม่หมดมือ

: แก่นแท้ไม่ยึดถือ

สะเก็ดเปลือกเลือกหรือไร?

#บาลีวันละคำ (2,639)

3-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย