บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าให้บ้านเมืองพินาศเพราะฝีมือเรา

อย่าให้บ้านเมืองพินาศเพราะฝีมือเรา

————————————–

เมื่อเช้าวันก่อน (๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑) ผมเดินออกกำลังอยู่ริมถนนในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ก็ได้ยินเสียงตามสายของเทศบาลประกาศข่าวต่างๆ 

ข่าวที่ออกทางเสียงตามสายของเทศบาลเมืองราชบุรีนั้นไม่ได้อ่านสด แต่ใช้วิธีบันทึกเสียงเอามาเปิด (หลายปีมาแล้วเคยใช้วิธีอ่านสด แต่เลิกวิธีนั้นไปแล้ว) และมักจะเปิดแบบเรื่อยเปื่อย 

เช่นข่าวบางข่าวกำหนดทำกิจกรรมนั่นโน่นนี้ ทำจนเสร็จงานไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว ก็ยังเอากำหนดงานมาเปิดซ้ำอยู่นั่นแล้ว 

คุณภาพข่าวของเสียงตามสายจึงอยู่ในระดับแย่ค่อนข้างมาก-ถึงมากที่สุด 

ข่าวที่ผมได้ยินวันนั้นพูดถึงทางเทศบาลหรือทางจังหวัดกำหนดจัดงานอะไรสักอย่าง มีกิจกรรมทำบุญด้วย และหนึ่งในกิจกรรมบุญคือการปล่อยปลา 

ผู้ประกาศซึ่งเป็นสตรีออกเสียงคำว่า “ปล่อยปลา” เป็น “ป่อยปา” อย่างชัดเจนที่สุด

คำว่า “ป่อยปา” คำเดียวแท้ๆ ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง “ทำนายปัตถเวน” ขึ้นมาในบัดดล

———————

“ทำนายปัตถเวน” เป็นเรื่องคำทำนายฝัน หรือที่เรียกกันว่า “พุทธทำนาย” 

คำว่า “ปัตถเวน” อ่านว่า ปัด-ถะ-เหฺวน (เ-วน มี ห นำ ไม่ใช่ เห-วน เสียงเท่ากับ “แหวน” แต่เป็นสระ เอ ไม่ใช่สระ แอ)

ผู้รู้ท่านว่า “ปัตถเวน” เพี้ยนมาจากชื่อ “ปเสน” ซึ่งมักออกเสียงเป็น ปัด-เสน คำเต็มว่า “ปเสนทิ” (ปะ-เส-นะ-ทิ) บางตำราว่าชื่อนี้เป็น “ปเสนชิต” ก็มี

ปเสนทิ > ปเสน > ปัสเสน > ปัตถเวน > ปัด-ถะ-เหฺวน

โปรดอย่าสงสัยว่าเสียงเพี้ยนไปได้อย่างไร 

“วิสสุกรรม” หรือ “วิษณุกรรม” ไทยเรายังเรียกแผลงเป็น “เพชฉลูกรรม” ได้เลย ไม่เชื่อไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ ดูเอาเถิด

“ปเสนทิ” เป็นชื่อของพระราชาแห่งแคว้นโกศลสมัยพุทธกาล

เรื่องย่อที่สุดคือ วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิทรงฝัน ๑๖ เรื่อง จึงเสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า ในอนาคตสังคมมนุษย์จะมีสภาพวิกลวิการ ๑๖ อย่าง

เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์บาลีด้วย แต่น่าเสียดายที่นักเรียนบาลีบ้านเราไม่ได้สนใจศึกษา เนื่องเพราะไม่อยู่ในข้อสอบ 

ก็ดังที่รู้กัน นักเรียนบาลีในบ้านเรา ณ เวลานี้ เรียนบาลีเพื่อสอบได้เท่านั้น ไม่ได้เรียนเพื่อค้นคว้าศึกษาคัมภีร์หรือพระธรรมวินัย

ผมขออนุญาตเอาต้นฉบับความฝันข้อที่ ๔ พร้อมทั้งพุทธทำนายมาลงไว้ทั้งคำบาลีและคำแปล 

ขอได้โปรดเจริญขันติธรรมในการอ่านโดยทั่วกันเถิด

ท่านที่ไม่ถนัดบาลี โปรดอ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัย 

…………………..

ธุรวาเห  ภนฺเต  อาโรหปริณาหสมฺปนฺเน  มหาโคเณ  ยุคปรมฺปราย  อโยเชตฺวา  ตรุเณ  โคทมฺเม  ธุเร  โยเชนฺเต  อทฺทสํ  เต  ธุรํ  วหิตุํ  อสกฺโกนฺตา  ฉฑฺเฑตฺวา  อฏฺฐํสุ  สกฏานิ  นปฺปวตฺตึสุ  อยํ  เม  จตุตฺโถ  สุปิโน  อิมสฺส  โก  วิปาโกติ  ฯ  อิมสฺสาปิ  วิปาโก  อนาคเตเยว  อธมฺมิกราชูนํ  กาเล  ภวิสฺสติ  อนาคตสฺมึ  หิ  อธมฺมิกกปณราชาโน  ปณฺฑิตานํ  ปเวณิกุสลานํ  กมฺมนิตฺถรณสมตฺถานํ  มหามตฺตานํ  ยสํ  น  ทสฺสนฺติ  ธมฺมสภายํ  วินิจฺฉยฏฺฐาเนปิ  ปณฺฑิเต  โวหารกุสเล  มหลฺลเก  อมจฺเจ  น  ฐเปสฺสนฺติ  ตพฺพิปริตานมฺปน  ตรุณานํ  ยสํ  ทสฺสนฺติ  ตถารูเปเอว  วินิจฺฉยฏฺฐาเน  ฐเปสฺสนฺติ  เต  ราชกมฺมานิ  เจว  ยุตฺตายุตฺตญฺจ  อชานนฺตา  เนว  ตํ  ยสํ  อุกฺขิปิตุํ  สกฺขิสฺสนฺติ  น  ราชกมฺมานิ  นิตฺถริตุํ  เต  อสกฺโกนฺตา  กมฺมธุรํ  ฉฑฺเฑสฺสนฺติ  มหลฺลกาปิ  ปณฺฑิตา  อมจฺจา  ยสํ  อลภนฺตา  กิจฺจานิ  นิตฺถริตุํ  สมตฺถาปิ  กึ  อมฺหากํ  เอเตหิ  มยํ  พาหิรกา  ชาตา  อพฺภนฺตริกา  ตรุณา  ทารกา  ชานิสฺสนฺตีติ  อุปฺปนฺนานิ  กมฺมานิ  น  รกฺขิสฺสนฺติ  เอวํ  สพฺพถาปิ  เตสํ  ราชูนํ  หานิเยว  ภวิสฺสติ  ธุรํ  วหิตุํ  อสมตฺถานํ  วจฺฉทมฺมานํ  ธุเร  โยชิตกาโลวิย  ธุรวาหานญฺจ  มหาโคณานํ  ยุคปรมฺปราย  อโยชิตกาโล  วิย  ภวิสฺสติ  ฯ  

แปล:

(พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระพุทธองค์ว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นฝูงชนไม่เทียมโคใหญ่ๆ ที่เคยพาแอกไป ซึ่งสมบูรณ์ด้วยร่างกายและเรี่ยวแรงเข้าในระเบียบแห่งแอก กลับไปเทียมโครุ่นๆ ที่กำลังฝึกเข้าในแอก โครุ่นๆ เหล่านั้นไม่อาจพาแอกไปได้ ก็พากันสลัดแอกยืนเฉยเสีย เกวียนทั้งหลายก็ไปไม่ได้ นี้เป็นสุบินข้อที่ ๔ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้พระเจ้าข้า?

(พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า) มหาบพิตร ผลของสุบินแม้ข้อนี้ก็จักมีในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในภายหน้า พระราชาผู้มีบุญน้อย มิได้ดำรงในธรรม จักไม่พระราชทานยศแก่มหาอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในประเพณี สามารถที่จะยังสรรพกิจให้ลุล่วงไปได้ จักไม่ทรงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ผู้เป็นบัณฑิตฉลาดในโวหารไว้ในที่วินิจฉัยคดีในโรงศาล แต่พระราชทานยศแก่คนหนุ่มๆ ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วนั้นแต่งตั้งบุคคลเช่นนั้นไว้ในตำแหน่งผู้วินิจฉัยอรรถคดี คนหนุ่มพวกนั้นไม่รู้ทั่วถึงราชกิจและการอันควรไม่ควร ไม่อาจดำรงยศนั้นไว้ได้ ทั้งไม่อาจจัดทำราชกิจให้ลุล่วงไปได้ เมื่อไม่อาจก็จักพากันทอดทิ้งธุระการงานเสีย. ฝ่ายอำมาตย์ที่เป็นบัณฑิตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อไม่ได้ยศ ถึงจะสามารถที่จะให้กิจทั้งหลายลุล่วงไปก็จักพากันกล่าวว่า “พวกเราจะต้องการอะไรด้วยเรื่องเหล่านี้ พวกเรากลายเป็นคนภายนอกไปแล้ว พวกเด็กหนุ่มเขาเป็นพวกอยู่วงใน เขาคงรู้ดี” แล้วก็จะไม่ดูแลรักษาการงานที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมเท่านั้นจักมีแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยประการทั้งปวง เป็นเสมือนเวลาที่คนจับโครุ่นๆ กำลังฝึก ยังไม่สามารถจะพาแอกไปได้เทียมไว้ในแอก และเป็นเสมือนเวลาที่ไม่จับเอาโคใหญ่ๆ ผู้เคยพาแอกไปได้มาเทียมแอกฉะนั้น …. 

ที่มา: 

มหาสุปินชาตกวณฺณนา ชาตกฏฺฐกถา ภาค ๒ หน้า ๑๗๔-๑๗๕ 

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (ชุด ๙๑ เล่ม) เล่ม ๕๖ หน้า ๒๒๓-๒๒๔

…………………..

เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ผมเอาเรื่องนี้ไปเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “พุทธทำนายโลก” 

ขออนุญาตคัดเอาข้อความเฉพาะตอนนี้มาเสนอไว้ด้วยดังต่อไปนี้ 

…………………..

ความฝันข้อที่ ๔ 

ลืมโคใหญ่ใช้โคน้อย

ฝันว่า คนทั้งหลายพากันจับลูกโคตัวเล็กๆ เทียมเกวียนเทียมไถ หาได้เอาโคใหญ่ที่เคยใช้งานเข้าเทียมไม่ ลูกโคเล็กๆ ไม่มีกำลังพอที่จะลากเกวียนลากไถไปได้ ก็พากันสลัดแอกทิ้ง เกวียนก็เลยไม่ไป ไถก็ไม่เดิน

คำทำนาย

ในอนาคต ผู้ปกครองประเทศจะไม่ตั้งอยู่ในธรรม คนดีมีฝีมือจะไม่ได้รับการยกย่องสนับสนุนให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ คนซื่อสัตย์เฉลียวฉลาดเฉียบแหลมจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและตุลาการ ตรงกันข้าม คนไร้ฝีมือ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร กลับจะได้รับการยกย่องให้มีหน้าที่การงานสูงใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการบ้านเมืองก็จะเกิดความเสียหายขึ้นทั่วไป คนดีมีฝีมือจะพากันทอดธุระ ถึงจะรู้ดีและสามารถทำได้ดี ก็ไม่อยากเข้าไปช่วยอะไร เพราะถือว่าอยู่นอกวงการ ปล่อยให้พวกที่ฝีมืออ่อนบริหารบ้านเมืองไปตามยถากรรม

สรุปคำทำนายคือ ในอนาคต คนดีจะไม่ได้ทำราชการ คนพาลจะมีตำแหน่ง 

ความเห็น 

เรื่องคนดีมีฝีมือไม่ได้รับการยกย่องในวงราชการนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วในยุคนี้ อย่างที่เราเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “สมองไหล” คือคนที่มีฝีมือดีๆ มักอยู่รับราชการไม่ค่อยได้ เพราะราชการเลี้ยงคนไม่เป็นหรือใช้คนไม่เป็น ทำให้คนระดับมันสมองทั้งหลายต้องพากันไหลออกไปอยู่กับภาคเอกชนบ้าง ไปประกอบอาชีพส่วนตัวบ้าง หรือไหลออกนอกประเทศไปเลยบ้าง ในวงราชการจึงมักจะเหลือแต่คนที่กระจอกงอกง่อย คิดเองไม่เป็น คิดเป็นก็ไม่ทำ ถึงทำก็ทำไม่สำเร็จ แม้คนที่มีฝีมือ หากยังอยู่ในวงราชการ ก็ต้องทำเป็นกระจอกงอกง่อยไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ ตกลงก็กลายเป็นลูกโคที่สลัดแอกทิ้ง ยืนมองเกวียนมองไถ (รอวันเกษียณอายุ) ไปวันๆ 

สภาพเช่นนี้จะโทษว่าเป็นเพราะระบบหรืออะไรก็ตาม แต่คำทำนายท่านว่า เป็นเพราะผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม และ “ธรรม” ในที่นี้อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะหมายถึง ธรรมคือการเลือกคนเป็น ธรรมคือการใช้คนเป็น และธรรมคือการเลี้ยงคนเป็น ซึ่งธรรมเหล่านี้ค่อยๆ หมดไปทุกวันแล้ว

(จบข้อความจากหนังสือ “พุทธทำนายโลก”)

…………………..

การที่ผู้ประกาศข่าวทางเสียงตามสายของเทศบาลเมืองราชบุรีออกเสียงคำว่า “ปล่อยปลา” เป็น “ป่อยปา” นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะอวัยวะที่ใช้ออกเสียงบกพร่อง เป็นเหตุให้ไม่สามารถอ่านคำควบกล้ำได้ 

เธอสามารถออกเสียงให้ถูกต้องได้อย่างแน่นอน ถ้าฝึกและมีความระมัดระวังมากพอ 

แต่เพราะขาดสำนึกในอันที่จะทำหน้าที่ให้ดี ขาดสำนึกในอันที่จะออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้อง พูดง่ายๆ ก็คือเพราะชุ่ย หรือมักง่ายนั่นเอง 

มองลึกลงไปอีก สุภาพสตรีผู้นั้นย่อมจะไม่ได้มาเป็นผู้ประกาศข่าวนั้นด้วยอำนาจของตัวเอง หากแต่จะต้องมีคนสั่งมาอีกทีหนึ่งให้มาทำหน้าที่ประกาศ 

ก็จึงต้องดูไปที่คนสั่งว่า คิดอย่างไรจึงเอาคนที่ออกเสียงภาษาไทยแบบชุ่ยหรือแบบมักง่ายเช่นนั้นมาทำหน้าที่ผู้ประกาศ 

คนที่มีความสามารถกว่านี้ไม่มีอีกแล้วหรือ 

ทำไมไปเอางัวที่ลากเกวียนลากไถไม่เป็นมาเทียมเกวียนเทียมไถ

ก็จึงต้องมองลึกลงไปถึงระบบบริหารงานว่าทำกันอย่างไร มีหลักในการเลือกคนใช้คนทำงานกันแบบไหน

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงกรณีเดียว ตัวอย่างเดียว ซึ่งบางท่านอาจมองว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ไร้สาระ แค่ออกเสียงผิดคำเดียว เอามาพูดให้เป็นเรื่องใหญ่ไปได้

แต่ผมเห็นว่า-นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในความไร้คุณภาพของคนทำงานและความชุ่ยของคนที่มีอำนาจในการเลือกคนเข้ามาทำงาน ซึ่งรวมเรียกว่าความเลอะเทอะ 

ความเลอะเทอะแบบนี้ ในวงราชการยังมีอีกเยอะ

———————

เอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง มิใช่จะให้ชวนกันปฏิวัติ หรือคุมแค้นเกลียดชังผู้บริหารบ้านเมือง 

แต่เพื่อให้ช่วยกันรู้ทัน-ว่าบ้านเมืองของเรามาถึงยุคที่ท่านทำนายไว้แล้วว่า-ผู้ปกครองประเทศจะไม่ตั้งอยู่ในธรรม 

เมื่อรู้ทัน ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ 

ทำอะไรได้ ก็ช่วยกันทำ 

คำเสนอแนะของผมก็คือ ผู้ปกครองประเทศจะไม่ตั้งอยู่ในธรรม ก็เป็นความบกพร่องของผู้ปกครองประเทศ และประเทศของเรามีผู้บกพร่อง-โดยเฉพาะบกพร่องทางศีลธรรม-มากเกินพอแล้ว เราทั้งหลายไม่ควรเพิ่มจำนวนผู้บกพร่องเข้าไปอีกแม้แต่คนเดียว 

แต่ควรชวนกันตั้งอยู่ในธรรมมั่นคงเข้าไว้ 

ถ้าบ้านเมืองจะพินาศ อย่างน้อยเราก็ยังสบายใจได้ว่า-ไม่ได้เกิดจากฝีมือเรา 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๖:๐๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *