อาสา (บาลีวันละคำ 2,389)
อาสา
ความหมายเดิมที่ถูกลืม
“อาสา” อ่านว่า อา-สา เป็นรูปคำบาลี รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = อยาก) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ อิ-(สฺ) เป็น อา (อิสฺ > อาส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิสฺ + อ = อิส + อา = อิสา > อาสา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้อยาก” หมายถึง ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้ (expectation, hope, wish, longing, desire)
บาลี “อาสา” สันสกฤตเป็น “อาศา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อาศา : (คำนาม) มโนรถ; ความใคร่, ความปรารถนา; ความอยาก; ความยาว; ทิศ; ประเทศ; hope; desire; wish; length; quarter; region.”
โปรดสังเกตว่า “อาศา” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “อาสา” ในบาลี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาสา : (คำกริยา) เสนอตัวเข้ารับทำ. (คำนาม) ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวังหมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก. (ป.; ส. อาศา).”
อภิปราย :
“อาสา” ในบาลีหมายถึง “ความหวัง” แต่ในภาษาไทยไม่มีใครเข้าใจว่า “อาสา” คือ “ความหวัง”
“อาสา” ตามความหมายที่คนไทยเข้าใจกันทั่วไป ก็คือ “เสนอตัวเข้ารับทำ” เช่นในคำว่า “อาสาสมัคร” หรือคำที่เกิดใหม่ว่า “จิตอาสา”
“เสนอตัวเข้ารับทำ” ถ้าแปลกลับเป็นบาลีจะตรงกับคำว่า “เวยฺยาวจฺจ” (เวย-ยา-วัด-จะ) ซึ่งแปลว่า “ความขวนขวายในกิจอันพึงทำ” ที่เอามาใช้ในคำว่า “ไวยาวัจกร” และ “ไวยาวัจมัย”
“ไวยาวัจกร” นี่แลคือผู้ที่ทำงานแบบ “อาสาสมัคร” หรือ “จิตอาสา” ดั้งเดิมแท้จริง แต่ในภาษาไทย “ไวยาวัจกร” มีความหมายแคบลงไป คือหมายถึงชาวบ้านที่ทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ
จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า “อาสา” ในภาษาไทยที่หมายถึง “เสนอตัวเข้ารับทำ” นั้น ดีร้ายจะไม่ใช่คำเดียวกับ “อาสา” ในภาษาบาลีกระมัง
แม้พจนานุกรมฯ จะบอกความหมายของ “อาสา” ตามความหมายในบาลีไว้ด้วย คือ “ความหวัง, ความต้องการ, ความอยาก” แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่า คำพูดในภาษาไทยที่มีรูปคำ “อาสา” และหมายถึง ความหวัง, ความต้องการ, ความอยากนั้น มีคำว่าอะไรบ้าง
คำเก่าที่พบในเอกสารโบราณ เช่น “อาสาจาม” “อาสาญวน” ซึ่งหมายถึงคนชาติหนึ่งที่ “อาสา” เข้ามาเป็นกองกำลังในกองทัพสยาม ดูเหมือนจะยืนยันได้ว่า เราใช้คำว่า “อาสา” ในความหมายว่า “เสนอตัวเข้ารับทำ” กันมานานนักหนาแล้ว
และน่าสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกความหมายตามที่คนไทยเข้าใจขึ้นก่อน (คือ “เสนอตัวเข้ารับทำ”) แล้วจึงบอกความหมายในภาษาบาลี ชวนให้เข้าใจว่า “อาสา” ที่พูดกันในภาษาไทยกับ “อาสา” ในบาลีน่าจะเป็นคนละคำกัน แต่พจนานุกรมฯ เอามาให้ความหมายรวมไว้ในที่เดียวกันโดยเข้าใจว่า-หรือสันนิษฐานว่า-เป็นคำเดียวกัน เพียงแต่ว่าในภาษาไทยความหมายเพี้ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คำบาลีในภาษาไทยที่มีความหมายเพี้ยนไปจากเดิมมีเป็นจำนวนมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ที่เราอ้อนวอน เป็นเพียงผู้ให้ความหวัง
: แต่การลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้เราสมหวัง
#บาลีวันละคำ (2,389)
27-12-61