บาลีวันละคำ

นาฏลีลา (บาลีวันละคำ 3,004)

นาฏลีลา

รำมาแล้วก็รำไป

รำไปแล้วก็รำมา

อ่านว่า นา-ตะ-ลี-ลา ก็ได้ นาด-ตะ-ลี-ลา ก็ได้

(ตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า นาฏ + ลีลา

(๑) “นาฏ

บาลีอ่านว่า นา-ตะ รากศัพท์มาจาก นฏฺ (ธาตุ = ฟ้อนรำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ฏฺ) เป็น อา (นฏฺ > นาฏ)

: นฏฺ + = นฏณ > นฏ > นาฏ

นาฏ” ถ้าแปลตามศัพท์ว่า “การฟ้อนรำ” เป็นนปุงสกลิงค์

นาฏ” ถ้าแปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟ้อนรำ” เป็นปุงลิงค์

มีคำขยายความว่า –

นจฺจํ  วาทิตํ  คีตํ  อิติ  อิทํ  ตูริยตฺติกํ นาฏนาเมนุจฺจเต = การดนตรี 3 ประการนี้ คือ การฟ้อนรำ การบรรเลง การขับร้อง เรียกโดยชื่อว่า นาฏะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาฏ, นาฏ– : (คำนาม) นางละคร, นางฟ้อนรํา, ใช้ประกอบกับคําอื่น หมายความว่า หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ นุชนาฏ. (ป., ส.).”

นาฏ” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นาฏ : (คำนาม) การฟ้อนรำ, การเต้นรำ, การเล่น (เช่นลครเปนอาทิ); แคว้นกรรณาฏ; dancing, acting; the Carnatic.”

ในบาลีมีคำว่า “นาฏก” (นา-ตะ-กะ) อีกคำหนึ่ง หมายถึง –

(1) นักฟ้อน, นักแสดง, ตัวละคร (a dancer, actor, player)

(2) ละคร, ละครจำพวกออกท่าทาง แต่ไม่เจรจา (a play, pantomime)

นาฏก” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นาฏก : (คำนาม) ผู้แสดงบทลคร, ตัวลคร, ผู้เล่น; การแสดง (หรือเล่นลคร), การฟ้อนรำ; การเล่น, ลคร; เทพสภาหรือเทพสถานของพระอินทร์; a actor, acting, dancing; a play, a drama; the court of Indra.”

(๒) “ลีลา

ในบาลี รากศัพท์มาจาก ลลฺ (ธาตุ = งาม) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อะ ต้นธาตุ เป็น อี (ลลฺ > ลีลฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ลลฺ + = ลล > ลีล + อา = ลีลา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่งดงาม” หมายถึง การเล่น, ลีลา, การเยื้องกราย (play, sport, dalliance)

ลีลา” เป็นทั้งรูปบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ลีลา” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ลีลา : (คำนาม) กรีฑา, เกลิ, การเล่นสนุก; สวิลาสกรีฑา; play; sport, amorous sport.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลีลา : (คำนาม) ท่าทาง, ท่าทางอันงาม, การเยื้องกราย, เช่น พุทธลีลา; ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืนยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้นอยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงพระดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน ที่สร้างเป็นท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มี; ท่วงทำนอง เช่น ลีลาการพูด ลีลาการเขียน; การเลือกสรรฉันท์หรือแบบประพันธ์ให้เหมาะแก่ข้อความของเรื่อง เช่น ลีลาการประพันธ์. (ป., ส. ลีลา).”

นาฏ + ลีลา = นาฏลีลา แปลตามประสงค์ว่า “ลีลาของนักร่ายรำ

อภิปราย :

รูปศัพท์ “นาฏลีลา” นี้ ตรวจดูแล้วยังไม่พบว่ามีใช้ในในคัมภีร์บาลี

นาฏลีลา” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นเรียกการแสดงการฟ้อนรำประกอบรายการรำมวยไทยประยุกต์ในงานแสดงสินค้าที่จังหวัดราชบุรี

ผู้เขียนบาลีวันละคำพบป้ายโฆษณา เห็นว่าใช้คำแปลกดี จึงถ่ายภาพเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ตั้งใจว่าเมื่อถึงโอกาสก็จะเขียนเป็นบาลีวันละคำ

โปรดชมภาพประกอบและใช้จินตนาการประกอบภาพได้ตามอัธยาศัยเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กิริยาวาจาอาจแสร้งสร้างลีลาให้คนหลงชื่นชมได้ตลอดกาล

: แต่สุจริตถ้วนไตรทวารจึงจะทำให้โลกนับถือได้ตลอดไป

#บาลีวันละคำ (3,004)

2-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย