พระคาถาชินบัญชร พร้อมทั้งคำแปล
พระคาถาชินบัญชร พร้อมทั้งคำแปล
——————————-
โปรดทราบก่อน
๑ พระคาถาชินบัญชรที่นำเสนอ ณ ที่นี้ เป็นฉบับที่ผมตรวจสอบ แก้ไข และแปลเอง ตามที่ผมเห็นว่าถูกต้อง
๒ ท่านที่กำลังแสวงหาพระคาถาชินบัญชรเพื่อนำไปสวดสาธยาย และยังไม่ได้ศรัทธาเลื่อมใสตามฉบับไหน สามารถนำฉบับนี้ไปสวดได้อย่างมั่นใจว่าไม่ผิด
๓ ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับฉบับต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงกัน-เช่นว่า ฉบับนี้เป็นอย่างนี้ แต่ฉบับโน้นเป็นอย่างโน้น ตกลงจะเอายังไงกันแน่
ถ้าเอาฉบับนี้ก็สวดตามฉบับนี้ ไม่ต้องไปเถียงกับฉบับไหนทั้งสิ้น
๔ สำหรับท่านที่มีพระคาถาชินบัญชรฉบับในดวงใจของท่านอยู่แล้ว ขอให้สวดตามฉบับของท่านต่อไปได้อย่างสบายใจ โปรดอย่ากังวลกับฉบับนี้
ที่ผมเอามาเผยแพร่ในที่นี้ ไม่ได้มีเจตนาจะให้ท่านเปลี่ยนมาสวดตามฉบับนี้ แต่เสนอเป็นทางเลือกให้แก่ผู้กำลังแสวงหา
๕ ส่วนท่านที่เคยสวดอยู่แล้ว แต่มีบางคำที่ไม่ตรงกัน ท่านมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเอาเองว่าจะสวดคำนั้นตามฉบับนี้หรือจะสวดตามคำเดิม ผมไม่ขอชี้แนะ
๖ สำหรับท่านที่อยากรู้เหตุผลว่า ทำไมฉบับนี้จึงใช้คำนี้ ถ้าใช้คำโน้นหมายความว่าอย่างไร ใช้คำนี้หมายความว่าอย่างไร ฯลฯ ผมได้เขียนอธิบายเป็นหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อ “พินิจพระคาถาชินบัญชร”
ตัวอย่างเช่น –
ชะยาสะนะ– บางฉบับเป็น ชิยาสะนา–
–คะตา บางฉบับเป็น –กะตา
หนังสือพินิจพระคาถาชินบัญชรจะอธิบายให้ทราบว่า —
ถ้าเป็น ชะยา หมายความว่าอย่างไร
ถ้าเป็น ชิยา หมายความว่าอย่างไร
ถ้าเป็น คะตา หมายความว่าอย่างไร
ถ้าเป็น กะตา หมายความว่าอย่างไร
ฉบับนี้ใช้ว่า “ชะยาสะนะคะตา — ” ด้วยเหตุผลอะไร
คำอื่นๆ ที่ปรากฏเยื้องแย้งกันทุกแห่ง ได้นำมาอธิบายไว้ทั้งหมด ดังคำที่โปรยไว้บนปกว่า
………………
วิเคราะห์ศัพท์ฉบับที่แตกต่างได้กระจ่างชัด
ขจัดปัญหาสวดโดยไม่รู้ความหมาย
ขยายความพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์
พระอรหันต์ ๑๕ องค์ และพระอสีติมหาสาวก
พระสูตรพระปริตรทุกบท ที่ปรากฏในพระคาถาชินบัญชร
…
เล่มนี้เล่มเดียว
สวดพระคาถาชินบัญชรอย่างถูกต้อง มั่นใจ ได้ปัญญา
………………
ในคำนำของหนังสือ “พินิจพระคาถาชินบัญชร” ผมเขียนไว้ตอนท้ายว่า –
………………
ท่านที่นิยมสวดพระคาถาชินบัญชรด้วยจิตที่มีศรัทธาเต็มร้อย เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะสวดพระคาถาชินบัญชรด้วยจิตที่มีปัญญาเพิ่มขึ้นบ้าง
และเมื่อใดก็ตามที่ปัญญา (คือความรู้เรื่องราว เข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง รู้เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ทำทำไม มุ่งผลอะไร และผลนั้นจะเกิดสำเร็จขึ้นได้ด้วยเหตุอย่างไร) ของท่านเพิ่มขึ้นเต็มร้อยเท่ากับศรัทธา เมื่อนั้นท่านก็จะเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น
ถ้าท่านสวดพระคาถาชินบัญชรแล้วก็นั่งรอนอนรอให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาชินบัญชรมาช่วยให้ท่านได้ผลที่ต้องการโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรอีก ท่านก็สวดด้วยความหลงผิดอย่างยิ่ง
พระพุทธศาสนานั้นเป็น กรรมวาที คือสอนว่าผลสำเร็จทุกอย่างต้องมาจากการกระทำของเราเอง ไม่ใช่มาจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ท่านอ่านประวัติพระอรหันต์ที่ท่านเอ่ยนามในเวลาสวดพระคาถาชินบัญชรแล้วตรวจสอบเตือนตัวเองว่า พระอรหันต์เหล่านั้นก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เราก็เป็นมนุษย์เหมือนท่านเหล่านั้น เมื่อท่านเหล่านั้นสามารถสร้างเสริมคุณธรรมความดีขึ้นมาได้ถึงเพียงนั้น ก็แล้วทำไมเล่าเราจึงจะทำเช่นนั้นบ้างไม่ได้ แล้วเราได้เสริมสร้างพัฒนาคุณธรรมทำนองเดียวกันนั้นให้เกิดขึ้นในตัวเองบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ลงมือได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ท่านแน่ใจหรือว่าพรุ่งนี้จะมีโอกาส?
ท่านอ่านพระสูตรพระปริตรที่ท่านเอ่ยถึงในเวลาสวดพระคาถาชินบัญชรแล้วตรวจสอบดูด้วยว่า ท่านได้นำเอาสาระในพระสูตรพระปริตรเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริงของท่านบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่วันนี้ ถ้าปฏิบัติแล้ว ก็มุ่งมั่นปฏิบัติให้เข้มข้นมากขึ้นและให้ต่อเนื่องมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นตลอดไป จนกว่าจะถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน
ถ้าท่านทำได้ดังว่ามานี้ พระคาถาชินบัญชรที่ท่านสวดก็จะศักดิ์สิทธิ์ได้จริง – ศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวท่านเอง
แต่ถ้าท่านเอาแต่สวดพระคาถาชินบัญชรแล้วก็นอนรอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาบันดาลความสำเร็จให้ ก็เชิญกราบไหว้วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันต่อไป แต่โปรดทราบเถิดว่า แม้ปากของท่านจะเอ่ยว่านับถือพระพุทธเจ้า แต่การกระทำของท่านสวนทางกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง
คนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง คือมีแต่ศรัทธา แต่ขาดปัญญา จึงเชื่องมไปทุกอย่าง เหมือนคนที่ไม่ยอมลืมตาขึ้นเสียบ้าง
คนที่น่ากลัวอย่างยิ่ง คือมีแต่ปัญญา แต่ขาดศรัทธา จึงไม่ยอมเชื่ออะไรเลยสักอย่าง เหมือนคนที่ไม่ยอมหลับตาลงเสียบ้าง
ขอให้ศรัทธาและปัญญางอกงามและเจริญขึ้นพร้อมๆ กัน และเท่าๆ กันในจิตใจของทุกท่าน เทอญ
(จบข้อความจากคำนำ)
………………
ต่อไปนี้เป็นตัวบทพระคาถาชินบัญชรพร้อมทั้งคำแปล
ภาษาบาลี คำแปล ตลอดจนการแบ่งบท อาจไม่ตรงกับฉบับอื่นๆ
ท่านผู้ใดเห็นว่าคำใดข้อใดผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอได้โปรดทักท้วง อย่าได้เกรงใจ
คุณสมบัติข้อหนึ่งของมิตรแท้คือ “ปมตฺตํ รกฺขติ = ดูแลเพื่อนผู้พลาดพลั้ง”
ไม่ทักท้วงติงเตือนเมื่อเพื่อนผิด
ไม่ใช่กัลยาณมิตรที่แท้จริง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๑๔:๔๐
—————————————
พระคาถาชินบัญชร พร้อมทั้งคำแปล
—————————————
๑. ชะยาสะนะคะตา พุทธา
เชต๎วา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง
เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ประทับบนชัยบัลลังก์ ทรงเป็นบุคคลผู้องอาจ พิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลแล้ว เสวยอมตรสคืออริยสัจธรรมทั้งสี่ประการ
๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา
อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง
มัตถะเก เต มุนิสสะรา.
พระพุทธเจ้าผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ มียี่สิบแปดพระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น ขออัญเชิญพระจอมมุนีทั้งหมดนั้นมาประดิษฐานเหนือกระหม่อมของข้าพเจ้า
๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง
พุทโธ ธัมโม ท๎วิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง
อุเร สัพพะคุณากะโร.
ขออัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานที่ศีรษะ
ขออัญเชิญพระธรรมประดิษฐานที่ดวงตาทั้งสอง
ขออัญเชิญพระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งความดีทุกประการประดิษฐานที่อุระของข้าพเจ้า
๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ
สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปุพพะภาคัส๎มิง
โมคคัลลาโน จะ วามะเก.
ขอเชิญพระอนุรุทธะประดิษฐานอยู่ที่หัวใจ
พระสารีบุตรอยู่ที่แขนเบื้องขวา
พระโมคคัลลาน์อยู่ที่แขนเบื้องซ้าย
พระอัญญาโกณฑัญญะอยู่เบื้องหน้า
๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง
อาสุง อานันทะราหุลา
กัสสะโป จะ มะหานาโม
อุภาสุง วามะโสตะเก.
ขอเชิญพระอานนท์กับพระราหุลประดิษฐานที่หูเบื้องขวา
พระมหากัสสปะกับพระมหานามะ ทั้งคู่ อยู่ที่หูเบื้องซ้ายของข้าพเจ้า
๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัส๎มิง
สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน
โสภิโต มุนิปุงคะโว.
ขอเชิญพระโสภิตะจอมมุนี ผู้มีแสงสว่างเพียงดังดวงอาทิตย์ สมบูรณ์ด้วยสิริ จงสถิตอยู่ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม คือที่ท้ายทอยของข้าพเจ้า
๗. กุมาระกัสสะโป เถโร
มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง
ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.
ขอเชิญพระกุมารกัสสปเถระ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีคำพูดอันวิจิตรไพเราะ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรม ประดิษฐานอยู่เป็นประจำที่ปากของข้าพเจ้า
๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ
อุปาลินันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา
นะลาเต ติละกา มะมะ.
ขอเชิญพระปุณณะ พระองคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวลี พระเถระทั้ง ๕ องค์นี้จงปรากฏเกิดเป็นดิลกรอยเจิมที่หน้าผากของข้าพเจ้า
๙. เสสาสีติ มะหาเถรา
วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา
ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ
อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
ขอเชิญพระอสีติมหาเถระที่เหลือ ผู้ชนะกิเลสแล้ว เป็นพระสาวกของพระชินเจ้า พระมหาเถระทั้ง ๘๐ เหล่านี้ล้วนชนะกิเลสแล้ว เป็นโอรสของพระชินเจ้า รุ่งเรืองด้วยเดชแห่งศีล จงประดิษฐานที่อวัยวะน้อยใหญ่ของข้าพเจ้า
๑๐.ระตะนัง ปุระโต อาสิ
ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ
วาเม อังคุลิมาละกัง.
ขออัญเชิญพระรัตนสูตรปรากฏ ณ เบื้องหน้า
พระเมตตสูตรปรากฏ ณ เบื้องขวา
พระธชัคคสูตรปรากฏ ณ เบื้องหลัง
พระอังคุลิมาลสูตรปรากฏ ณ เบื้องซ้าย
๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ
อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ
เสสา ปาการะสัณฐิตา.
ขออัญเชิญพระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร ปรากฏเป็นเครื่องกางกั้นในนภากาศ ขอเชิญพระปริตรและพระสูตรที่เหลือปรากฏเป็นปราการ
๑๒. ชินาณาวะระสังยุตตา
สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา
พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
อะเสสา วินะยัง ยันตุ
อะนันตะชินะเตชะสา.
ขออัญเชิญพระปริตรและพระสูตรอันประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า ประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น โรคภัย อุปัทวะทั้งภายนอกทั้งภายใน อันเกิดแต่เหตุมีโรคลมและโรคดีเป็นต้น จงถึงความหมดสิ้นไปมิได้เหลือ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า
๑๓. วะสะโต เม สะกิจเจนะ
สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ
วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ
เต มะหาปุริสาสะภา.
เมื่อข้าพเจ้ากระทำกิจของตนอยู่ในพระบัญชรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกเมื่อ ขอพระมหาบุรุษผู้องอาจทุกพระองค์เหล่านั้นโปรดคุ้มครองข้าพเจ้าผู้อยู่ ณ พื้นแผ่นดินอันเป็นท่ามกลางแห่งบัญชรของพระชินเจ้าในกาลทุกเมื่อเถิด
อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต
จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.
ข้าพเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
มีอุปัทวะอันชนะแล้วด้วยอานุภาพแห่งพระชินเจ้า
มีหมู่ข้าศึกอันชนะแล้วด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมเจ้า
มีอันตรายอันชนะแล้วด้วยอานุภาพแห่งพระสังฆเจ้า
เป็นผู้อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมปกป้องแล้ว
ดำเนินชีวิตอยู่ในบัญชรของพระชินเจ้า ดังนี้แล.
…………………………….
…………………………….