บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พี่แสวง

——-

การได้เห็นเมล็ดพืชแห่งบุญที่หว่านลงไว้งอกงามขึ้นในหัวใจของลูก ย่อมเป็นน้ำเลี้ยงหัวใจที่วิเศษอย่างหนึ่งของพ่อแม่

………………

ตอนที่ลูกยังเล็ก เนื่องจากผมกับภรรยาเป็นข้าราชการ จึงมีอยู่บ่อยๆ ที่เรามีอันจะต้อง “ไปราชการ” ตามภารกิจของแต่ละคนพร้อมๆ กันทั้งคู่ และมีอยู่บ่อยๆ ที่ญาติที่เคยมาช่วยเลี้ยงลูกให้เป็นครั้งคราวมีอันจะต้องไม่สะดวกขึ้นมาในระหว่างวันเวลานั้นเข้าพอดี 

ในสถานการณ์คับขันดังว่านี้ ที่พึ่งของผมก็คือ “พี่แสวง”

“พี่แสวง” คืออุบาสิกาหรือแม่ชีแห่งสำนักประชุมนารี สำนักแม่ชีในปกครองของวัดมหาธาตุราชบุรี รู้จักมักคุ้นกันตั้งแต่ผมเป็นเณรมาอยู่วัดมหาธาตุ พี่แสวงเป็นคนแถวๆ ปากท่อบ้านเดียวกับผม

พี่แสวงมีบุคลิกออกไปทางดุนิดๆ ตอนเป็นเณรผมจึงถูกพี่แสวงดุเอาบ่อยๆ ตามโอกาสที่ได้เจอกัน

วัดมหาธาตุราชบุรีมีสำนักเรียนพระอภิธรรม พี่แสวงเรียนพระอภิธรรมจบชั้นสูงสุดที่สำนักเปิดสอน 

ตอนนั้นสำนักเรียนพระอภิธรรมจัดกิจกรรมบรรยายพระอภิธรรมดูเหมือนจะเดือนละครั้งหรืออาจจะมากกว่านั้นตามโอกาสอันควร 

มีอยู่ครั้งหนึ่งพี่แสวงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยาย ผมบอกพี่แสวงว่าผมจะไปฟังด้วย ตอนนั้นผมสอบได้ประโยค ๔ หรือ ๕ แล้ว พี่แสวงดีใจมากที่ผมบอกว่าจะไปฟัง 

เจ้ากรรมแท้ๆ วันนั้นพอถึงเวลาพี่แสวงบรรยาย ผมพักหลังเพลแล้วเกิดหลับยาว ตื่นขึ้นมาก็พอดีกิจกรรมบรรยายธรรมจบไปแล้ว 

เย็นวันนั้นพี่แสวงให้คนมา “ลากคอ” ผมเข้าไปที่กุฏิ (กุด) ของท่านในสำนักประชุมนารี 

“เมื่อท่านรักษาสัจจะไม่ได้ อิฉันก็จะช่วยท่านไม่ให้ผิดสัจจะ” พี่แสวงบอก 

แล้วบังคับให้ผมนั่งฟังท่านบรรยายเหมือนกับที่บรรยายในที่ประชุมวันนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ

เป็นวิธีลงโทษที่พิสดารที่สุดตามแบบของพี่แสวง 

ผมทั้งอาย ทั้งเข็ด 

เมื่อผมลาสิกขา พี่แสวงทำท่าโกรธอยู่พักหนึ่ง แต่แล้วก็กลับเป็นปกติเพราะเข้าใจวิถีของโลก และที่สำคัญผมก็ยังแวะเวียนไปวัดมหาธาตุสม่ำเสมอ ก็จึงยังคงรักษาบรรยากาศเดิมๆ ไว้ได้ 

และเพราะเหตุนั้นแหละ พอมีเหตุจำเป็นเข้าตาจน ผมก็คิดตามประสาคนที่โตมาจากวัดว่า วัดคือที่พึ่งอันเกษม 

อาศัยที่คุ้นกับพี่แสวงเป็นพิเศษ และลูกๆ ก็คุ้นกับวัดและคุ้นกับ “ป้าแสวง” มาตั้งแต่เกิด เมื่อผมกับภรรยามีเหตุที่จะต้องไม่ได้อยู่บ้านพร้อมกันทั้งสองคน ผมก็หอบลูกทั้ง ๓ คนเอาไปฝากพี่แสวงในสำนักประชุมนารี 

พี่แสวงเต็มใจอย่างยิ่งที่จะดูแลหรือพูดกันตรงๆ ก็คือ “เลี้ยงลูก” ให้ผมคราวละ ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ทั้งยังถือเป็นโอกาสอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทให้ลูกผมไปด้วยในตัว 

“บุญรักษานะจ๊ะ” 

“บุญรักษานะลูก” 

เป็นคำพูดประโยคหนึ่งที่บรรดาแม่ชีสำนักประชุมนารีนิยมพูดกันติดปากเป็นการปฏิสันถารเมื่อพบกับเด็กหรือชาวบ้านที่อายุยังน้อยๆ 

ลูกผมได้ยินคำพูดประโยคนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะผมเองก็ชอบพูดประโยคนี้กับลูก และยังใช้พูดอยู่จนถึงบัดนี้ทุกครั้งที่ลูกมาหรือลูกกลับ หรือก่อนจะวางหูโทรศัพท์เมื่อพูดกับลูก กับหลานผมก็พูดประโยคนี้เสมอ แต่กับหลานผมจะแถมอีก ๒ ประโยค คือ “อายุมั่นขวัญยืน อย่าเจ็บอย่าไข้นะลูก” อันเป็นคำพูดของคนเก่าๆ ที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เป็นเด็ก 

ผมโตมาจากวัด และลูกๆ ผมก็โตมากับบรรยากาศวัดๆ ด้วยประการฉะนี้ 

——————-

ตอนอายุมากขึ้น พี่แสวงมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ จึงลาสำนักประชุมนารีกลับไปอยู่ที่วัดใกล้บ้านเพื่อญาติพี่น้องจะได้ดูแลได้สะดวก

ถึงปีใหม่ผมก็พาลูกๆ ตามไปกราบคารวะที่วัดที่พี่แสวงอยู่ทุกปี รวมทั้งในโอกาสพิเศษอื่นๆ อีกปีละครั้งสองครั้ง 

คราวใดถ้าลูกไปกันไม่ครบ พี่แสวงก็จะถามถึงคนที่ไม่ได้ไปด้วยความเมตตา 

พี่แสวงตายเมื่ออายุ ๘๐ ปลายๆ น่าจะใกล้ถึง ๙๐ ทำศพที่วัดใกล้บ้าน ผมไปฟังสวดอยู่ ๒-๓ คืน 

วันที่น้ำเลี้ยงหัวใจผมเต็มอิ่มขึ้นมาก็คือวันเผาศพพี่แสวง 

ลูกทั้ง ๓ คนของผมซึ่งทำมาหากินอยู่กรุงเทพฯ พากันมาครบทั้ง ๓ โดยที่ผมไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น 

ลูกชายคนเล็กซึ่งช่วงนั้นเผอิญขาเจ็บหรือเป็นอะไรสักอย่างจำไม่ได้แน่และคาดว่าอาจจะมาไมได้ แต่พอถึงวันนั้นเขาก็มาจนได้ 

———————

เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ผมถือเป็นหน้าที่ที่จะพาครอบครัวไปกราบคารวะท่านผู้มีพระคุณในชีวิตของผมที่มีอยู่หลายท่าน และทุกท่านลูกของผมรู้จักคุ้นเคยเป็นอันดี

ผมบอกลูกๆ ว่า ถ้าพ่อตายและท่านเหล่านี้ยังอยู่ ขอให้ลูกๆ ช่วยทำหน้าที่แทนพ่อด้วย

พี่แสวงเป็นคนหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น 

ตอนนี้ถ้าผมตาย ผมก็ไม่ต้องรบกวนลูกๆ ให้หน้าที่แทนอีกแล้ว

เพราะพี่แสวงเป็นคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ 

และลูกๆ ก็มาร่วมส่ง “ป้าแสวง” ของพวกเขาสู่สุคติภพพร้อมหน้ากัน

………….

วันที่ ๓๕ เบื้องหน้าแต่พรรษากาล

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑

๑๐:๑๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *