สมาทานศีล ทำไมต้องให้พระ “ให้ศีล”
สมาทานศีล ทำไมต้องให้พระ “ให้ศีล”
————————-
หัสเดิมเริ่มต้นจริงๆ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น ก็คือชาวบ้านไปสนทนาธรรมกับพระ ดังปรากฏเรื่องในคัมภีร์ทั่วไปว่า –
ถ้าไปตอนเช้าก็นำภัตตาหารไปถวาย
ถ้าไปตอนบ่ายก็นำน้ำปานะไปถวาย
ส่วนที่ไม่ได้ไปในเวลานั้นครั้นตกเย็นเลิกงานแล้วก็จะไปฟังเทศน์หรือไปสนทนาธรรมกับพระ
ในพุทธกิจ ๕ เวลาของพระพุทธเจ้า ข้อหนึ่งว่า สายณฺเห ธมฺมเทสนํ แปลว่า ตอนเย็นแสดงธรรม นี่ก็คือแสดงธรรมโปรดชาวบ้านที่ไปฟังธรรมตอนเย็นดังกล่าวนี้
ในที่ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ด้วย พระก็จะเป็นผู้แสดงธรรมให้ชาวบ้านฟัง
คำว่า “แสดงธรรม” ในบรรยากาศเดิมนั้นก็คือสนทนาธรรมหรือคุยธรรมะกัน ไม่ใช่พระขึ้นธรรมาสน์ โยมนำไหว้พระ อาราธนาศีล พระให้ศีล โยมอาราธนาธรรม พระตั้งนโม ยกภาษิตแล้วอธิบายจนจบเอวํก็มี ยถาสัพพีลงจากธรรมาสน์-ตามภาพในปัจจุบัน
เมื่อสนทนาธรรมกันไป สมมุติว่าคุยเรื่องศีล มีศีลอะไรบ้าง มีกี่ข้อ ข้อไหนมีข้อความหรือสาระสำคัญว่าอย่างไร รักษาศีลแล้วมีอานิสงส์อย่างไร
ชาวบ้านฟังแล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะรักษาศีล ก็จะบอกกับพระว่า ข้าพเจ้าจะขอรักษาศีลข้อนั้นข้อนี้
ตัวอย่างเช่น
ปาณาติปาตา เวรมณี = เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ = ข้าพเจ้าจะขอรักษาศีลข้อนี้
นี่เป็นคำที่ชาวบ้านเป็นฝ่ายพูดเอง พูดต่อหน้าพระที่กำลังสนทนาธรรมกันอยู่
จะรักษาศีลข้อไหนอีก ก็พูดทำนองเดียวกันนี้
พระเป็นเพียงผู้รับทราบ-เหมือนกับเป็นพยาน
ภาพที่ออกมาในสมัยเริ่มแรกเป็นอย่างที่ว่านี้ คือใครจะรักษาศีลก็ไปพูดไปบอกต่อหน้าพระ เหมือนไปกล่าวคำปฎิญาณ คือไปสัญญากับพระว่างั้นเถอะ
เมื่อผมไปไหว้ที่อินเดียปีที่แล้ว (๒๕๖๐) คณะของเราไปถึงวัดไทยที่ไหนก็ทอดผ้าป่าที่นั่น และตามธรรมเนียมในพิธีทอดผ้าป่าก็ต้องมีการไหว้พระรับศีลก่อน ทุกวัดก็ทำเช่นนั้นตามปกติ
แต่มีอยู่วัดหนึ่ง คือวัดไทยเชตวันมหาวิหาร พอเราไหว้พระเสร็จจะอาราธนาศีล ประธานสงฆ์ท่านบอกว่าท่านจะให้ศีลแบบเก่า คือให้เราว่าคำสมาทานกันเอง ท่านไม่ว่านำให้ ท่านเพียงว่าคำสรุปศีลตอนท้ายเท่านั้น
ผมได้ยินเช่นนั้นก็อุทานในใจ นี่แหละ ใช่เลย!
การให้พระเป็นพยานก็เป็นวิธีเสริมกำลังใจอย่างหนึ่ง เช่นถ้าเกิดอกุศลจิตคิดจะล่วงศีลข้อไหนก็จะได้เตือนตัวเองว่า อย่านะ ให้สัญญากับพระไว้แล้ว
ทีนี้เวลาไปบอกพระ ตัวคนรักษาศีลก็จะกล่าวคำสมาทานศีลข้อนั้นๆ ให้พระฟัง นั่นก็แปลว่าเจ้าตัวต้องรู้คำสมาทานศีลข้อนั้นๆ มาก่อนแล้วเป็นอย่างดี คือศึกษามาดีแล้วจึงรักษาศีล
ก็ทำกันอย่างนี้เรื่อยมา จนถือเป็นแบบแผนว่าจะถือศีลต้องไปกล่าวคำสมาทานต่อหน้าพระ
กาลต่อมา มีคนที่มีศรัทธาจะถือศีล แต่กล่าวคำสมาทานได้ไม่คล่อง พอไปว่าคำสมาทานต่อหน้าพระ ก็ว่าตะกุกตะกัก
ถ้ามีญาติมิตรไปด้วยกัน ใครที่ว่าได้คล่องก็อาจจะเป็นคนว่านำให้ ก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าไม่มีใครว่านำ พระท่านสงสาร (หรืออาจจะรำคาญ) ท่านก็เลยพูดนำให้
นานไป เมื่อพระว่านำจนเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ชาวบ้านก็คลายใจ เวลาจะถือศีลไม่ต้องว่าคำสมาทานเอง เดี๋ยวพระท่านว่านำให้ จนในที่สุดพระต้องพูดนำให้ทุกข้อทุกคำ
คนไม่รู้ปฐมเหตุก็เลยเข้าใจไปว่า จะถือศีลต้องให้พระว่านำ กลายเป็นธรรมเนียม “ให้ศีล” แล้วก็มีคนแต่ง “คำอาราธนาศีล” เพื่อให้เข้ารูปเข้ารอย ขอศีล-ให้ศีล นี่คือความผิดเพี้ยนที่เป็นมาเป็นไปดังที่เราเห็นกันอยู่
ประจักษ์พยานในเรื่องทำนองเดียวกันนี้ที่กำลังจะเกิด-หลายแห่งเกิดเป็นปกติแล้ว-ก็คือการถวายสังฆทาน
เวลานี้คนถวายส่วนมาก-หรือทั้งหมด-กล่าวคำถวายไม่เป็น
คนวัดที่จะมาช่วยนำทำพาทำก็ไม่มี
พระต้องกล่าวนำถวาย ผู้ถวายกล่าวตาม จนเวลานี้เกิดเป็นภาพออกมาว่า ถวายสังฆทานต้องขอคำถวายจากพระก่อน
เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีคนแต่งคำอาราธนาถวายสังฆทาน (เหมือนคำอาราธนาศีล) พระให้คำถวายสังฆทาน (เหมือนให้ศีล)
คนรุ่นต่อไปที่ไม่รู้ปฐมเหตุก็จะพากันเข้าใจไปว่า ถวายสังฆทานต้องขอคำถวายก่อน แล้วให้พระกล่าวนำ-เหมือนจะถือศีลต้องว่าคำอาราธนาศีลก่อนแล้วพระจึงจะให้ศีล ดังที่เราทำกันอยู่ในเวลานี้
ในชั่วอายุเรา ได้เห็นสังฆทานเพี้ยนมาแล้วอย่างหนึ่ง คือใครจะถวายสังฆทานต้องมีถังหรือมีชุดสังฆทาน ถ้าไม่มี ไม่เป็นสังฆทาน
เรากำลังจะได้เห็นสังฆทานเพี้ยนอีกอย่างหนึ่ง คือถวายสังฆทานต้องมีคำอาราธนาสังฆทานเหมือนอาราธนาศีล แล้วพระกล่าวคำถวายสังฆทานนำเหมือนให้ศีล
รอดูกันไปเถอะครับ อีกไม่นานเกิดแน่
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑
๑๑:๒๒
…………………………….
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย…………………………….