บาลีวันละคำ

ดิรัจฉานวิชา (บาลีวันละคำ 2,162)

ดิรัจฉานวิชา

อ่านว่า ดิ-รัด-ฉาน-วิ-ชา

ประกอบด้วยคำว่า ดิรัจฉาน + วิชา

(๑) “ดิรัจฉาน” บาลีเป็น “ติรจฺฉาน” (ติ-รัด-ฉา-นะ) รากศัพท์มาจาก ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย

(ก) “ติรจฺฉ” รากศัพท์มาจาก ติริย (ขวาง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ติริย เป็น ติร, อญฺช เป็น จฺฉ

: ติริย > ติร + อญฺช + = ติรญฺช > ติรจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปขวาง

(ข) ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ -(น) เป็น อา

: ติรจฺฉ + ยุ > อน = ติรจฺฉน > ติรจฺฉาน แปลเท่าศัพท์เดิม คือ “ผู้ไปขวาง” หมายความว่า เจริญเติบโตโดยทางขวางซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่โตไปทางสูง

ติรจฺฉาน” (ปุงลิงค์) หมายถึง สัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ (an animal)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดิรัจฉาน : (คำนาม) สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคําด่า), ใช้ว่า เดรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็มี. (ป. ติรจฺฉาน ว่า ขวาง, ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญโดยขวาง).”

(๑) “วิชา

บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา, สองตัว) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ไว้ 2 นัย คือ –

(1) ความหมายทั่วไป : science, craft, art, charm, spell (ศาสตร์, งานอาชีพ, ศิลปะ, มนต์, คำสาป)

(2) ความหมายเฉพาะ (เช่นที่ใช้ในศาสนา) : science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ที่สูงกว่า)

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต

ในที่นี้ “วิชฺชา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

บาลี “วิชฺชา” ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”

วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ

สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺปศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

ติรจฺฉาน + วิชฺชา = ติรจฺฉานวิชฺชา (ติ-รัด-ฉา-นะ-วิด-ชา) แปลตามศัพท์ว่า “วิชาที่ขวาง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติรจฺฉานวิชฺชา” ว่า a low art, a pseudo-science (วิชาที่ต่ำทราม, เดรัจฉานวิชา)

ติรจฺฉานวิชฺชา” ภาษาไทยเขียน “ดิรัจฉานวิชา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

ขยายความ :

หนังสือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน สุชีพ ปุญญานุภาพ จัดทำ

ในหน้า 291 มีคำสรุปความหมายของ “ดิรัจฉานวิชา” ไว้ดังนี้

……………..

ในที่นี้มีคำว่า ติรัจฉานวิชา อย่างพิสดาร ฝรั่งใช้คำว่า low art เมื่อพิจารณาตามศัพท์ “ติรัจฉาน” ซึ่งแปลว่า “ไปขวาง” ก็หมายความว่าวิชาเหล่านี้ “ขวาง” หรือไม่เข้ากับความเป็นสมณะ มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้นถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำที่ขวาง หรือขัดกับสมณสารูป. วิชาที่พระไม่ควรเกี่ยวจึงจัดเป็นติรัจฉานวิชาคือวิชาที่ขวางหรือขัดกับความเป็นพระ. ส่วนสัตว์ดิรัจฉานที่มีชื่ออย่างนั้น เพ่งกิริยาที่ไม่ได้ตั้งตัวตรงเดินไปอย่างคน แต่เอาตัวลง เอาศีรษะไปก่อน เมื่อไม่ได้ไปตรงชื่อว่าไปขวาง.

……………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

ดิรัจฉานวิชา : ความรู้ที่ขวางต่อทางพระนิพพาน เช่น รู้ในการทำเสน่ห์ รู้เวทมนตร์ที่จะทำให้คนถึงวิบัติ เป็นหมอผี หมอดู หมองู หมอยา ทำพิธีบวงสรวง บนบาน แก้บน เป็นต้น เมื่อเรียนหรือใช้ปฏิบัติ ตนเองก็หลงเพลินหมกมุ่น และส่วนมากทำให้ผู้คนลุ่มหลงงมงาย ไม่เป็นอันปฏิบัติกิจหน้าที่หรือประกอบการตามเหตุผล โดยเฉพาะตัวพระภิกษุก็จะขวางกั้นขัดถ่วงตนเองให้ไม่มีกำลังและเวลาที่จะบำเพ็ญสมณธรรม, การงดเว้นจากการเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา เป็นศีลของพระภิกษุตามหลักมหาศีล, ศีลนี้สำเร็จด้วยการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัยปิฎกข้อที่กำหนดแก่ภิกษุทั้งหลาย มิให้เรียน มิให้สอนดิรัจฉานวิชา และแก่ภิกษุณีทั้งหลายเช่นเดียวกัน.

……………..

ในพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 19-25 แสดงรายวิชาของ “เดรัจฉานวิชา” ไว้อย่างละเอียด ประมวลความได้รายวิชาบางส่วน เช่น –

วิชาบวงสรวงสังเวยและพิธีกรรมต่างๆ

วิชาปลุกเสก

วิชาหมอยา

วิชาหมอดูประเภทต่างๆ เช่น วิชาทายลักษณะคน ลักษณะสัตว์ และลักษณะสิ่งของว่าดีร้ายอย่างไร วิชาให้ฤกษ์ยาตราทัพ

ดาราศาสตร์

โหราศาสตร์

ไสยศาสตร์ประเภทต่างๆ

วิชาทำนายดินฟ้าอากาศ

วิชาทรงเจ้าเข้าผี

ควรสังเกตด้วยว่า “เดรัจฉานวิชา” ที่เกิดโทษสำหรับพระภิกษุซึ่งท่านตำหนิไว้ เป็นระดับที่เรียนเพื่อประกอบอาชีพ หรือเรียนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หรือรับประโยชน์จากวิชาโดยตรง

มีคำถามฝากให้คิดว่า ถ้าเรียนเพียงเพื่อสงเคราะห์ประชาชนโดยสุจริตและไม่รับผลประโยชน์ตอบแทนในทางใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นอย่างไร?

…………..

ดูก่อนภราดา!

สาธุ  โข  สิปฺปกนฺนาม

อปิ  ยาทิสกีทิสํ.

ที่มา: สาลิตตกชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 107

ศิลปวิทยาการไม่ว่าจะเป็นแขนงใดๆ

ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกเวลาและถูกวิธี

ย่อมสำเร็จประโยชน์ด้วยดีได้โดยแท้

#บาลีวันละคำ (2,162)

14-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *