บาลีวันละคำ

นวกรรม (บาลีวันละคำ 2,163)

นวกรรม

อ่านว่า นะ-วะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า นว + กรรม

(๑) “นว” (นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก นุ (ธาตุ = ชื่นชม) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (นุ > โน > นว)

: นุ > โน > นว + = นว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนชื่นชม

นว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

(1) ใหม่, สด; ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็ว ๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง (new, fresh; unsoiled, clean; of late, lately acquired or practiced)

(2) หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์; สามเณร (young, unexperienced, newly initiated; a novice)

หมายเหตุ : ในบาลีมีคำว่า “นว” รูปคำเหมือนกันอีกคำหนึ่ง แปลว่า เก้า (จำนวน 9)

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

นว + กมฺม = นวกมฺม (นะ-วะ-กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “การทำขึ้นใหม่” หมายถึง การสร้างใหม่, การซ่อมแซม, การบูรณะ, การซ่อมแต่ง (building new, making repairs, doing up, mending)

นวกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “นวกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า นวกรรม, นวการ, นวกิจ บอกไว้สั้นๆ ว่า การก่อสร้าง.

มีคำที่ออกมาจาก “นวกมฺม” อีกคำหนึ่ง คือ “นวกัมมิกะ” อาจช่วยให้เข้าใจความหมายของ “นวกรรม” ดีขึ้น

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

นวกัมมิกะ : ผู้ดูแลนวกรรม, ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ ให้ทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ในอาราม, เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งอาราม.”

อภิปราย :

คำที่คล้าย “นวกรรม” คือ “นวัตกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นวัตกรรม” ไว้ดังนี้ –

นวัตกรรม : (คำนาม) การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวตา + ส. กรฺม; อ. innovation).”

อาจกำหนดความแตกต่างระหว่าง “นวกรรม” กับ “นวัตกรรม” ได้ดังนี้

๑ ของนั้นมีผู้ทำขึ้นไว้แล้ว เราทำใหม่ขึ้นอีกชิ้นหนึ่ง นี่คือ “นวกรรม

๒ ของนั้นมีผู้ทำขึ้นไว้แล้ว เราทำใหม่ขึ้น แต่ทำให้แปลกใหม่กว่าของเดิม นี่คือ “นวัตกรรม

ตัวอย่าง :

– ไถที่ใช้วัวควายลากเป็นของที่ทำกันมาแล้ว เราสร้างไถแบบนั้นขึ้นมาอีกคันหนึ่ง = “นวกรรม

– สร้างรถไถนาขึ้นมา ใช้ไถนาได้เหมือนไถที่ใช้วัวควายลาก = “นวัตกรรม

ดูเพิ่มเติม: “นวัตกรรม” บาลีวันละคำ (1,204) 15-9-58

…………..

สรุปว่า “นวกรรม” เป็นคำที่มีความหมายแบบวัดๆ หมายถึงการสร้างเสนาสนะ เช่นสร้างกุฏิ สร้างโบสถ์ สร้างศาลา หรือเรียกรวมว่าสร้างวัด รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย เป็นกิจที่พระทำได้ ชาวบ้านก็นิยมทำกันทั่วไป

แถม :

ขอนำข้อความในคัมภีร์มาเสนอไว้ และขออนุญาตแปลเป็นไทยตามสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำ เพื่อเป็นข้อคิดและเจริญปัญญา

…………..

อามิสปูชา  จ  นาเมสา  สาสนํ  เอกทิวสํปิ  เอกยาคุปานกาลมตฺตมฺปิ  สนฺธาเรตุํ  น  สกฺโกติ. 

ชื่อว่าอามิสบูชานั้นจะดำรงพระศาสนาไว้ชั่ววันเดียวก็ไม่ได้ ชั่วเวลาดื่มยาคูอึกเดียวก็ไม่ได้ด้วยซ้ำไป

มหาวิหารสทิสญฺหิ  วิหารสหสฺสํ 

วัดตั้งพันวัดที่ใหญ่โตเหมือนสำนักมหาวิหาร

มหาเจติยสทิสญฺจ  เจติยสหสฺสํปิ 

เจดีย์ตั้งพันองค์ที่ใหญ่โตเหมือนมหาเจดีย์

สาสนํ  ธาเรตุํ  น  สกฺโกนฺติ. 

ก็ไม่อาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้

เยน  กตํ  ตสฺเสว  โหติ. 

ใครสร้าง ก็เป็นบุญเฉพาะผู้นั้น

สมฺมาปฏิปตฺติ  ปน  ตถาคตสฺส  อนุจฺฉวิกา  ปูชา. 

แต่สัมมาปฏิบัติเป็นการบูชาที่สมควรแก่พระตถาคต

สา  หิ  เตน  ปฏฺฐิตา  เจว. 

เพราะพระองค์โปรดด้วย

สกฺโกติ  สาสนํ  จ  สนฺธาเรตุํ.

อาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ด้วย

ที่มา: สุมงฺคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 299 (อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่เอาธรรมะที่ถูกต้องมาปฏิบัติ

: ต่อให้สร้างใหม่อีกแปดหมื่นสี่พันวัดก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,163)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย