บาลีวันละคำ

ปัจเจก (บาลีวันละคำ 460)

ปัจเจก

คำเดียวอ่านว่า ปัด-เจก

มีคำอื่นสมาสต่อท้าย อ่านว่า ปัด-เจ-กะ- หรือ ปัด-เจก-กะ-

ปัจเจก” บาลีเป็น “ปจฺเจก” อ่านว่า ปัด-เจ-กะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ + เอก

ปฏิ” (ปะ-ติ) เป็นคำอุปสรรค แปลว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ (ในคำนี้แปลว่า “เฉพาะ”)

เอก” (เอ-กะ) แปลว่า หนึ่ง (จำนวน ๑), โดยตนเอง, หนึ่งเท่านั้น, คนเดียว, โดดเดี่ยว, ผู้เดียว

กระบวนการทางไวยากรณ์คือ “ปฏิ” เมื่อสนธิ (ต่อกัน ประสมกัน รวมกัน) กับ “เอก” ให้แปลงรูปเป็น “ปจฺจ” (ปัด-จะ) : ปฏิ > ปจฺจ + เอก = ปจฺเจก แปลความว่า เฉพาะตัว, หนึ่งเดียว, ไม่เกี่ยวกับใครอื่น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

ปัจเจก, ปัจเจก- : เฉพาะตัว, เฉพาะบุคคล, เช่น ปัจเจกชน

(พจน.42 ยกตัวอย่างคำว่า “ปัจเจกชน” แต่ไม่มีคำว่า “ปัจเจกชน” เป็นคำตั้ง กลับไปมีคำว่า “ปัจเจกบุคคล” บอกความหมายว่า “บุคคลแต่ละคน”)

ปัจเจกชน หรือ ปัจเจกบุคคล คือผู้ที่แสดงบทบาทหรือกระทำการใดๆ เป็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องหรืออิงอาศัยอยู่กับกลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ

ปัจเจก”อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ปัจเจกพุทธเจ้า” (ปัด-เจ-กะ-พุด-ทะ-เจ้า) หรือที่มักเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” พจน.42 บอกไว้ว่า “ชื่อพระพุทธเจ้าพวกหนึ่งที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น

ความตรัสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า “ปัจเจกโพธิ” (ปัด-เจก-กะ-โพด)

ข้อที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้า คือ –

1. พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมีเฉพาะในช่วงพุทธันดร คือเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนาเท่านั้น

2. พระปัจเจกพุทธเจ้ามีได้หลายองค์ในช่วงเวลาเดียวกัน (ต่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีได้คราวละองค์เดียว)

3. เนื่องจากพระปัจเจกพุทธเจ้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มนุษย์มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ จึงเป็นการยากที่จะสั่งสอนคนทั้งหลายให้สิ้นกิเลสบรรลุธรรมได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงสอนไปก็ไม่มีใครเชื่อ จึงเข้าใจกันว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีความสามารถที่จะสั่งสอนหรือประดิษฐานศาสนาขึ้นได้

: ถ้าสอนไม่ฟัง สั่งไม่ไหว ต่างคนต่างไปก็แล้วกัน โยม !

18-8-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย