บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๒)

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๒)

—————–

เมื่อเข้าใจแล้วว่า เหตุผลที่จริงแท้ของการทำบุญใส่บาตรก็คือ-เป็นการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ แม้ตัวเองจะยังไปไม่ได้ ยังไม่พร้อมที่จะไป แต่ก็สนับสนุนคนที่เขาพร้อมจะไปได้ 

ต่อไปก็ควรขยายความเข้าใจให้กว้างออกไปอีกสักหน่อย 

นั่นก็คือ ใส่บาตรเป็นเพียงการสนับสนุนด้านเดียวเท่านั้น เพราะ “ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต” เท่าที่จำเป็นจริงๆ มี ๔ อย่าง

๑ เครื่องนุ่งห่ม ภาษาพระเรียกว่า “จีวร” (จี-)

๒ อาหาร ภาษาพระเรียกว่า “บิณฑบาต” (ปิณฺฑปาต = ปิ-)

๓ ที่อยู่อาศัย ภาษาพระเรียกว่า “เสนาสนะ” (เส-)

๔ ยารักษาโรค ภาษาพระเรียกว่า “คิลานเภสัช” (คิ-)

คนเก่าท่านสรุปเป็นคำสั้นๆ ว่า “จิปิเสคิ” เรียกกันว่า “หัวใจปฏิสังขาโย” หรือจะเรียก “หัวใจนิสัยสี่” ก็ได้

จะเห็นได้ว่า ใส่บาตรเป็นการสนับสนุนด้วยอาหารเพียงเรื่องเดียว 

คงเป็นเพราะเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยได้มาครั้งเดียวก็ใช้ลืมไปได้เลย 

ยารักษาโรคจะใช้ก็ต่อเมื่อเจ็บป่วย 

แต่อาหารเป็นของจำเป็นเฉพาะหน้าอันจะต้องหามากินทุกวัน พระเณรท่านก็ต้องฉันทุกวันเหมือนกัน ชาวบ้านก่อนกินก็นึกถึงพระ ใส่บาตรให้พระก่อนแล้วตัวเองจึงกิน 

การใส่บาตรจึงเป็นกิจที่โอกาสเปิดให้ทำได้ทุกวัน เป็นบุญที่ทำได้สะดวกกว่าวิธีอื่น 

จนบางคน-หลายคน เข้าใจไปว่า ทำบุญก็คือใส่บาตร 

เอาเป็นว่า-เข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่งว่า การสนับสนุนให้พระเณรดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น 

ถวายจีวรก็ได้ 

ถวายเสนาสนะก็ได้ 

ถวายยารักษาโรคก็ได้ 

แต่ข้าพเจ้าสะดวกและพอใจจะถวายอาหาร คือ “ใส่บาตร” อย่างเดียว อย่างอื่นไม่สะดวก

ก็ควรแก่การอนุโมทนา ไม่ว่ากัน 

ทีนี้ ไหนๆ จะหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องทำบุญกันแล้ว ก็ขยายความรู้ออกไปอีกชั้นหนึ่งให้ครบเครื่องเสียเลย

นั่นก็คือ วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนามี ๒ ชุด คือชุดเล็กหรือชุดมาตรฐาน กับชุดใหญ่หรือชุดพิสดาร 

ชุดเล็กมี ๓ วิธี คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นวิธีที่รู้จักกันทั่วไป

ชุดใหญ่มี ๑๐ วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก ๗ วิธี รวมเป็น ๑๐ 

ชุดเล็กชุดใหญ่พูดรวมกันไปทั้ง ๒ ชุด ๑๐ วิธี มีดังนี้ 

(๑) ทาน = ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น (เรียกเพื่อจำง่ายว่า ทำบุญให้ทาน)

(๒) ศีล = ควบคุมการกระทำและคำพูดให้เรียบร้อย (ทำบุญถือศีล)

(๓) ภาวนา = อบรมบ่มจิตใจให้สงบและรู้แจ้งเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ทำบุญภาวนา)

(๔) อปจายนะ = อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพกราบไหว้ (ทำบุญไหว้พระ)

(๕) เวยยาวัจจะ = ช่วยขวนขวายรับเป็นภารธุระในกิจการที่ถูกที่ควร (ทำบุญช่วยงาน)

(๖) ปัตติทาน = แบ่งส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนบุญ คือเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ทำบุญแบ่งบุญ)

(๗) ปัตตานุโมทนา = อนุโมทนาส่วนบุญ คือยินดีในความดีของผู้อื่น (ทำบุญโมทนา)

(๘) ธัมมัสสวนะ = ฟังธรรมคำสั่งสอน ศึกษาหาความรู้ในทางความดี (ทำบุญฟังเทศน์)

(๙) ธัมมเทสนา = แสดงธรรม สั่งสอนธรรม ให้วิชาความรู้ (ทำบุญให้ธรรม)

(๑๐) ทิฏฐุชุกรรม = ทำความคิดความเห็นให้ถูกให้ตรง ไม่เห็นผิดเป็นชอบ (ทำบุญเห็นถูก)

——————-

ขอให้สังเกตว่า การทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนี้ มีเพียง “ทาน-ทำบุญให้ทาน” เท่านั้นที่ต้องใช้เงิน อีก ๙ วิธี แม้ไม่มีเงินสักบาทก็สามารถทำบุญได้ 

และโปรดสังเกตให้ลึกเข้าไปอีกหน่อยว่า ทำบุญให้ทาน หรือทำบุญควักกระเป๋านั้น สามารถทำได้มากมายหลายแบบ เช่น 

บริจาคของกินใส่ตู้ปันสุขที่วูบวาบอยู่ในตอนนี้

บริจาคสิ่งของ 

สมทบทุนสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ 

บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดสร้างโรงเรียน 

ตั้งทุนมูลนิธิการกุศลทั่วไป 

บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม 

ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน 

เป็นเจ้าภาพบวชเณรบวชพระ 

ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน 

บริจาคค่าน้ำค่าไฟ 

บริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล 

ฯลฯ 

สารพัดสารพัน จาระไนไม่หมด

“ใส่บาตร” เป็นเพียงส่วนแยกย่อยส่วนหนึ่งของ “ทำบุญให้ทาน” เท่านั้น 

สรุปเป็นภาพรวม 

ทำบุญในพระพุทธศาสนามี ๑๐ วิธี

พอใจจะทำวิธีเดียวคือ “ทำบุญให้ทาน”

ในกระบวนทำบุญให้ทานก็สะดวกจะทำอยู่แบบเดียว คือ “ใส่บาตร”

เข้าใจตรงกันนะครับ 

ต่อไปก็ศึกษากันว่า-ใส่บาตรอย่างไรให้ถูกวิธี

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๑๑:๕๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *