บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๓)

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๓)

—————–

จะใส่บาตรให้ถูกวิธี ควรรู้เรื่องที่จะว่าต่อไปนี้ก่อน เป็นการเติมปัญญาลงในศรัทธาให้ได้สัดส่วนที่พอดีกัน 

คือมีความเลื่อมใสที่จะทำบุญด้วย 

มีเหตุผลในสิ่งที่ตนมีศรัทาที่จะทำนั้นด้วย 

หรือจะว่าจะเป็นการเตรียมการ เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมพร้อมก่อนจะใส่บาตรก็ได้

เริ่มต้นพื้นๆ ก่อน – ของที่ใส่บาตรคืออาหาร 

ของใช้อื่นๆ ถ้าจะถวายพระ อย่าเอาใส่บาตรในเวลาที่พระท่านออกบิณฑบาต หาทางถวายโดยวิธีอื่น

แม้อาหารนั่นเองก็ต้องเป็นอาหารที่สมควรแก่สมณบริโภค คือเป็นของที่พระเณรฉันได้ตามพระวินัย 

และควรเป็นอาหารที่ “พร้อมฉัน” คือฉันได้ทันที ไม่ต้องเอาไปหุงต้มปรุงแปลงอะไรอีก

จับหลักกว้างๆ ไว้เท่านี้ก่อน รายละเอียดอื่นๆ ไปศึกษาเอาเองได้ สงสัยเรื่องอะไร สอบถามผู้รู้เป็นเรื่องๆ ไป

…………………

อีกหลักหนึ่งที่ควรรู้อย่างยิ่งก็คือ ระดับหรือเกรดของอาหารที่จะใส่บาตร ท่านแบ่งไว้ ๓ ระดับ 

๑ อาหารที่ใส่บาตรเป็นอาหารอย่างดีอย่างเลิศเท่าที่จะสามารถหาได้ทำได้ ในขณะที่ตัวเองกินของธรรมดาๆ ระดับนี้เรียกว่า “ทานสามี” (ทาน-นะ-สา-มี) หรือ “ทานบดี” (ทาน-นะ-บอ-ดี) แปลว่า “เจ้าแห่งทาน” = ของใส่บาตรดีกว่าของที่ตัวเองกิน 

๒ ตัวเองกินอย่างไร ก็เอาของอย่างนั้นชนิดนั้นแหละใส่บาตร เรียกว่า “ทานสหาย” (ทาน-นะ-สะ-หาย) แปลว่า “สหายแห่งทาน” = ของใส่บาตรพอๆ กันกับของที่ตัวเองกิน 

๓ ตัวเองกินอาหารอย่างดีอย่างเลิศ แต่เอาอาหารเลวๆ ใส่บาตร เรียกว่า “ทานทาส” (ทาน-นะ-ทาด) แปลว่า “ขี้ข้าแห่งทาน” = ของใส่บาตรเลวกว่าของที่ตัวเองกิน 

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนไทยประจักษ์ในหลักเรื่องนี้เป็นอย่างดียิ่ง อาหาร-และทุกอย่างที่ถวายพระ ต้องเป็นของดี-ดีกว่าที่ตัวเองกินใช้ในชีวิตประจำวัน 

…………………

เรื่องสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรรู้สำหรับการเตรียมใจ นั่นก็คือ “เจตนาสามกาล” 

ขอเก็บหลักความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอดังนี้ –

เจตนาสามกาล ใช้เป็นข้อพิจารณาในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม ได้แก่ –

(๑) ปุพพเจตนา (ความตั้งใจในเบื้องต้น) = เจตนาก่อนจะทำ 

(๒) มุญจนเจตนา (แปลตามศัพท์ว่า “ความตั้งใจในการปล่อย”) = เจตนาในขณะทำ คือขณะปล่อยสิ่งของออกจากมือเพื่อให้แก่ผู้อื่น (เน้นที่ “ทานการให้”)

(๓) อปรเจตนา หรือ อปราปรเจตนา (ความตั้งใจต่อมา) = เจตนาสืบเนื่องต่อมาจากการกระทำนั้น หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำสำเร็จแล้ว

เจตนาสามกาลนี้เป็นหลักในการที่จะทำบุญคือกรรมที่ดี ให้ได้ผลมาก และมักเน้นในเรื่องทาน 

ท่านสอนว่า ควรใส่บาตรให้สมบูรณ์ด้วยเจตนาทั้งสามกาล คือ –

ก่อนใส่ มีใจยินดี ไม่ลังเล ไม่เรรวน (ปุพพเจตนา)

ขณะใส่ ใจผ่องใส เต็มใจเต็มที่ (มุญจนเจตนา)

ใส่แล้ว ปลื้มใจยินดี ไม่นึกเสียดาย (อปรเจตนา)

สมดังพุทธภาษิตว่า – 

ปุพฺเพว  ทานา  สุมโน

ททํ  จิตฺตํ  ปสาทเย

ทตฺวา  อตฺตมโน  โหติ

เอสา  ยญฺญสฺส  สมฺปทา.

(ทานสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต 

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๘)

ก่อนให้ ก็ปลอดโปร่ง

กำลังให้ ก็เปรมปรีดิ์

ให้แล้ว ก็ปลาบปลื้ม

บุญที่สมบูรณ์เป็นดั่งนี้

…………………

ท่านว่า ผู้ที่ใส่บาตรหรือทำบุญให้ทานแล้วรู้สึกเสียดายในภายหลัง ผลแห่งทานย่อมทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ผลแห่งอปรเจตนาที่ไม่ผ่องใส จะทำให้ไม่ได้เสวยสุขอันเกิดจากสมบัตินั้น กล่าวคือ “รวย แต่ไม่มีความสุข

ปริศนาธรรมเก่ากล่าวไว้ว่า –

“ทำบุญกับเปรตขึ้นสวรรค์

ทำบุญกับพระอรหันต์ตกนรก” 

เล่าเป็นนิทานประกอบว่า – 

คุณยายคนหนึ่งรอใส่บาตร มนุษย์ลวงโลกคนหนึ่งโกนผมห่มผ้าเหลืองเอาเอง ครองจีวรเรียบร้อย เดินอุ้มบาตรสำรวมกิริยาน่าเลื่อมใส คุณยายเห็นแล้วเกิดศรัทธาเต็มเปี่ยม ใส่บาตรด้วยอาการนอบน้อม พระปลอมเดินไปแล้วยังมองตามด้วยความชื่นใจ 

ขณะที่จิตใจกำลังผ่องใสนั่นเองคุณยายเป็นลมปัจจุบันทันด่วน ตายไปเกิดเป็นเทพธิดา 

นี่คือ “ทำบุญกับเปรตขึ้นสวรรค์” 

ชายคนหนึ่งรอใส่บาตรข้างถนน หลวงตาพระกรรมฐานรูปหนึ่งเพิ่งออกจากป่า ไม่ได้สรงน้ำมานาน จีวรค่อนข้างสกปรก ครองจีวรก็ไม่สู้จะเรียบร้อย กิริยาที่อุ้มบาตรเดินก็ออกจะกระโดกกระเดก (ตามวาสนาที่ตัดไม่ขาด) ชายคนนั้นเห็นแล้วก็ไม่ค่อยจะศรัทธาเท่าไร แต่เมื่อหลวงตามาหยุดอยู่ตรงหน้าแล้ว จะไม่ใส่หรือก็ดูกระไรอยู่ จึงใส่บาตรทั้งที่ไม่เต็มใจ หลวงตาเดินจากไปแล้วก็ยังสงสัยไม่หาย นี่พระจริงหรือพระปลอมกันแน่หว่า ขณะครุ่นคิดจิตขุ่นมัวอยู่นั้น เดินข้ามถนน รถชนตายไปตกนรกเนื่องจากจิตกำลังเศร้าหมอง 

นี่คือ “ทำบุญกับพระอรหันต์ตกนรก” 

สรุปเป็นสูตรสำเร็จเพื่อการใส่บาตรให้ถูกวิธีว่า

“ไม่ใสอย่าใส่

ถ้าใส่ต้องใส”

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๑๗:๓๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *