บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เกรงใจคนผิด

เกรงใจคนผิด

——————–

หรือเกรงใจกันผิดๆ

เคยดูหนังฝรั่งแสดงเหตุการณ์ที่ผู้ร้ายลงมือทำโจรกรรม เช่นปล้น หรือฆ่า หรือข่มขืน 

ผู้ร้ายทำได้โดยสะดวก ไม่มีใครมาทักท้วงว่า อย่าทำ ผิดกฎหมายข้อนั่นนี่โน่น 

แต่พอถึงบทตำรวจเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ จะทำอะไรสักขั้นตอนหนึ่ง ก็มีข้อกฎหมายนั่นนี่โน่นมาคอยขวางเยอะแยะไปหมด –

ทำอย่างนี้ไม่ได้ ผิดระเบียบข้อนั้น

ทำอย่างนั้นไม่ได้ ผิดระเบียบข้อโน้น

ทำอย่างโน้นไม่ได้ ผิดระเบียบข้อนี้

กลายเป็นว่า ผู้ก่อปัญหา-ทำได้สะดวก

ผู้แก้ปัญหา-ติดขัดไปหมด

…………………

ในบางวงการ เช่นวงการวัดๆ เวลามีผู้ทำผิดทำชั่ว-ทำได้สะดวก ไม่มีใครทักท้วงว่าอย่าทำ เดี๋ยวมันจะเสียหาย

แต่เวลาใครหยิบยกเรื่องราวที่ทำนั้นขึ้นมาพูด ก็มักจะมีคนคอยทักท้วงว่า-อย่าพูดไป เดี๋ยวมันจะเสียหาย

กลายเป็นว่า เรากลัวความเสียหายอันเกิดจากการเอาเรื่องราวมาพูดมาบอกว่ามีคนทำผิด

แต่ตอนที่มีคนลงมือทำผิด เราไม่ทักท้วง เหมือนกับไม่กลัวความเสียหายอันเกิดจากการที่มีคนทำความผิด

ทำผิดแล้ว คนทำความผิดก็ยังอยู่สุขสบายดี 

ถ้ามีตำแหน่ง ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปตามปกติ 

เคยได้รับสิทธิประโยชน์อะไร ก็ยังได้รับอยู่เป็นปกติ

ไม่มีใครไปบอกว่า ท่านทำผิดนะ ท่านไปเสียเถอะ อย่าอยู่เลย เดี๋ยวมันจะเสียหาย

จะเรียกว่าค่านิยม หรือจะเรียกว่าสัจธรรม อะไรก็ไม่รู้ ที่เราพากันเกรงใจคนทำผิด ไม่กล้าแตะต้อง

ซ้ำมีคนคอยปกป้องด้วยคำปรามว่า-อย่าพูดไป เดี๋ยวมันจะเสียหาย

เคยได้ยินคำเปรียบเป็นทำนองว่า-เหมือนอุจจาระกองหนึ่ง อย่าเอาอะไรไปแหย่ไปเขี่ยเข้า เดี๋ยวมันจะเหม็นกระจาย

แต่ไม่มีใครบอกว่า-แล้วควรจะทำอย่างไรกับอุจจาระกองนั้น

ไม่มีใครบอกว่าควรจะสืบหาว่าใครมาถ่ายอุจจาระไว้ตรงนั้น แล้วให้เจ้าตัวการนั้นจัดการแก้ไขเสีย พร้อมกับอบรมสั่งสอนว่า ทีหลังอย่าทำอย่างนี้อีก

ไม่มีใครบอกว่าควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหา

นอกจากปล่อยไว้เฉยๆ-ปล่อยให้อุจจาระแห้งจนหายเหม็นไปเอง

…………………

นอกจากนี้ยังมีคติธรรมอื่นๆ ที่คอยปรามเอาไว้ เช่น

-อย่าพูดทุกเรื่องที่รู้ แต่ต้องรู้ทุกเรื่องที่พูด

-นักพูดที่ดีต้องรู้ว่าไม่ควรจะพูดเรื่องอะไร

ก็คงสรุปลงในคำว่า เวลามีคนทำผิด เราไม่ห้าม

แต่เวลาจะเอาการทำผิดขึ้นมาพูด เราพากันห้าม

อันที่จริงวิธีที่ท่านปฏิบัติกันมาแต่ปางก่อนก็คือ ไม่เอาเรื่องเสียหายมาพูด นั่นแหละถูกแล้ว

แต่ท่านไม่ได้ห้ามพูดเฉยๆ ท่านรีบลงมือแก้ไขอย่างเงียบเชียบเรียบร้อย แต่เด็ดขาดด้วย

ไม่ใช่ห้ามไม่ให้เอามาพูด แต่ก็ไม่แก้ไขอะไรเลย ปล่อยไว้เฉยๆ-อย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

การห้ามไม่ให้เอาเรื่องการทำผิดมาพูด เลยกลายเป็นเกรงใจคนผิด หรือปกป้องคนผิดไปโดยปริยาย

…………………

เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อชวนให้คิด

เราควรมีท่าทีแบบนี้กันต่อไป

หรือว่าควรเปลี่ยนท่าทีแบบนี้กันได้แล้ว

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕

๑๖:๓๐

……………………………………….

เกรงใจคนผิด หรือเกรงใจกันผิดๆ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *