เอกส (บาลีวันละคำ 3,740)
เอกส
ถ้ารู้ความหมาย ก็อ่านถูก
แต่อ่านถูก อาจไม่รู้ความเป็นมา
…………..
คำในชุดนี้มี 3 คำ:
เอกส
เอกม
เอกอุ
…………..
คำนี้ถ้าให้อ่านเท่าที่ตาเห็น คงมีคนอ่านว่า เอ-กด
คำนี้มีในพจนานุกรมฯ และพจนานุกรมฯ ให้อ่านว่า เอก-สอ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอกส [เอก-สอ] : (คำโบราณ) (คำวิเศษณ์) เอกอย่างสามัญ. (ตัดมาจาก เอกสามัญ).”
พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า “ตัดมาจาก เอกสามัญ” หมายความว่า “เอกส” คำเต็มคือ “เอกสามัญ”
“เอกสามัญ” อ่านว่า เอก-สา-มัน ประกอบด้วยคำว่า เอก + สามัญ
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: อิ > เอ + ณฺวุ > อก : เอ + อก = เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอก, เอก- : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”
(๒) “สามัญ”
บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง ส- (ที่ สมาน) เป็น สา- ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ -มาน) กับ ย เป็น ญฺญ
: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)
(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)
: สมณ + ณฺย = สมณณฺย > สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)
“สามญฺญ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “สามัญ” อ่านว่า สา-มัน มักใช้ตามความหมายในข้อ (1) ข้างต้นเป็นส่วนมาก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สามัญ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) สามัญ- ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).
(2) สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).
ในที่นี้ “สามัญ” ใช้ในความหมายตาม สามัญ ๒
เอก + สามัญ = เอกสามัญ (เอก-สา-มัน) เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “เอกอย่างสามัญ”
ขยายความ :
“เอกส” = เอกสามัญ = เอกอย่างสามัญ มาจากไหน หมายความว่าอย่างไร?
“เอกสามัญ” หรือ “เอกส” เป็นคำเรียกวุฒิการศึกษาบาลี ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “เปรียญ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “เปรียญ” ไว้ดังนี้ –
“เปรียญ : (คำนาม) ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป.”
พระปริยัติธรรมสายบาลีแบ่งระดับชั้นหรือ “ประโยค” เป็น 9 ประโยค แต่เดิมแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ –
ประโยค 1 ถึง 3 เรียกว่า “เปรียญตรี”
ประโยค 4 ถึง 6 เรียกว่า “เปรียญโท”
ประโยค 7 ถึง 9 เรียกว่า “เปรียญเอก”
นักเรียนบาลีรุ่นโบราณนิยมใช้คำว่า “เปรียญตรี” “เปรียญโท” หรือ “เปรียญเอก” ต่อท้ายชื่อโดยไม่ระบุจำนวนประโยค เช่น –
พระมหาทองย้อย สอบได้ 3 ประโยค ใช้ว่า “พระมหาทองย้อย เปรียญตรี” (ประโยค 1 ถึง 3 = เปรียญตรี)
ต่อมา พระมหาทองย้อย สอบได้ 5 ประโยค ใช้ว่า “พระมหาทองย้อย เปรียญโท” (ประโยค 4 ถึง 6 = เปรียญโท)
ต่อมาอีก พระมหาทองย้อย สอบได้ 8 ประโยค ใช้ว่า “พระมหาทองย้อย เปรียญเอก” (ประโยค 7 ถึง 9 = เปรียญเอก)
เฉพาะเปรียญเอกยังแยกย่อยออกไปเป็น 3 ระดับ คือ –
– ประโยค 7 เรียก “เอก ส.” พจนานุกรมเขียน “เอกส” (เอก-สอ) มาจากคำว่า “เอกสามัญ” หมายความว่า แม้จะเป็นเปรียญเอก แต่ก็เป็นเปรียญเอกระดับต้น ระดับธรรมดา จึงเรียกว่าเอกสามัญ
– ประโยค 8 เรียก “เอก ม.” พจนานุกรมเขียน “เอกม” (เอก-มอ) มาจากคำว่า “เอกมัชฌิมะ” หรือ “เอกมัธยม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับกลาง สูงขึ้นมาจากสามัญ แต่ยังไม่สูงสุด
– ประโยค 9 เรียก “เอก อุ.” พจนานุกรมเขียน “เอกอุ” (เอก-อุ) มาจากคำว่า “เอกอุดม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับสูงสุด
“เอกสามัญ” เรียกย่อเป็น “เอก ส.” ต่อมาก็เลยเขียนเป็น “เอกส” และเข้าใจกันว่าเป็นคำสำเร็จรูปคำหนึ่ง คือเห็นคำว่า “เอกส” ก็อ่านถูกและเข้าใจความหมายโดยไม่สงสัยว่าทำไมเขียนอย่างนี้ อ่านอย่างนี้
การศึกษาพระปริยัติธรรมสายบาลีแบ่งเปรียญออกเป็น 3 กลุ่มนี้ เข้าใจว่านักเรียนบาลีรุ่นใหม่น่าจะไม่ทราบกันเป็นส่วนมาก
เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารู้ และมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าศึกษาอีกหลายอย่าง เช่น ทำไมจึงแบ่งระดับชั้นเป็น 9 ประโยค ประโยค 1 และประโยค 2 ปัจจุบันเรียกควบกันว่า “ประโยค 1-2” ทำไมจึงเรียกควบ แต่เดิมเรียกควบเช่นนี้หรือเปล่า และทำไมพระที่สอบประโยค 1-2 ได้ จึงไม่เรียก “พระมหา” จะเรียก “พระมหา” ก็ต่อเมื่อสอบประโยค 3 ได้ เป็นต้น
หน่วยงานคณะสงฆ์ที่ควรรับภารธุระศึกษาค้นคว้ารวบรวมเรื่องเหล่านี้ไว้ให้เป็นองค์ความรู้ที่ครบถ้วน ก็ควรจะเป็นกองบาลีสนามหลวง
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอกราบอาราธนาผ่านบาลีวันละคำด้วยความเคารพยิ่ง
ดูเพิ่มเติม:
“เอกม” บาลีวันละคำ (3,741) 9-9-65
“เอกอุ” บาลีวันละคำ (3,290) 15-6-64
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำดีอย่างสามัญ
: ดีกว่าทำชั่วอย่างเอก
#บาลีวันละคำ (3,740)
08-9-65
…………………………….
…………………………….