บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากเสรีภาพทางศาสนาที่ถูกต้อง

จากเสรีภาพทางศาสนาที่ถูกต้อง

———————————–

ถึงทางอยู่รอดของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง

เมื่อพูดถึงเสรีภาพทางศาสนา สิ่งที่ต้องตกลงกันให้ชัดก่อนก็คือ “เสรีภาพทางศาสนา” หมายความว่าอย่างไร?

ความหมายที่ถูกต้องของ “เสรีภาพทางศาสนา” ก็คือ 

๑ เมื่อยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในศาสนาใดๆ มนุษย์เราย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ มีเสรีภาพที่จะเข้าไปอยู่ในศาสนานั้นหรือไม่เข้าก็ได้

๒ เมื่อเข้าไปอยู่ในศาสนาใดๆ แล้ว หากไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่มีความสุขที่จะอยู่ในศาสนานั้น ก็ย่อมมีเสรีภาพที่จะออกไปจากศาสนานั้น คือเลิกนับถือศาสนานั้นก็ได้

๓ เมื่อยังไม่ได้แสดงตัวหรือประกาศตนว่านับถือศาสนาใดๆ ถ้านับถือเลื่อมใสคำสอนข้อใดของศาสนาใด ย่อมมีเสรีภาพที่จะเอาคำสอนข้อนั้นมาประพฤติปฏิบัติได้ แต่ข้อที่ต้องระลึกไว้ก็คือ ถ้าอ้างว่าเป็นหลักคำสอนของศาสนาใด ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าหลักคำสอนข้อนั้นสอนอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร แล้วปฏิบัติให้ตรงตามนั้น แต่ถ้าอยากจะปฏิบัติตามใจชอบก็ไม่ควรอ้างอิงว่าเป็นหลักคำสอนของศาสนานั้น 

เสรีภาพทางศาสนาคือเสรีภาพที่จะเลือกนับถือศาสนาหรือเลือกที่จะไม่นับถือศาสนา ไม่ใช่เสรีภาพที่จะเอาคำสอนของศาสนาใดๆ มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรืออธิบายเอาตามใจชอบ

๔ เฉพาะศาสนาที่มีศาสนิก ๒ ประเภท คือศาสนิกที่เป็นชาวบ้านทั่วไป และศาสนิกที่เป็นบรรพชิต คำว่า “เสรีภาพทางศาสนา” มีกรอบขอบเขตที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ

๔.๑ ศาสนิกที่เป็นชาวบ้านทั่วไป จะเลือกปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่ง อย่างกลาง หรืออย่างหย่อน ย่อมมีเสรีภาพเต็มที่ เนื่องจากเป็นความประพฤติส่วนตัว ไม่กระทบไปถึงหลักคำสอนของศาสนา หมายความว่า ใครปฏิบัติตามได้ ก็เป็นความดีของผู้นั้นเอง ไม่ใช่ความดีของศาสนา ใครปฏิบัติไม่ได้ ก็เป็นความเสียหายของผู้นั้นเอง ไม่ใช่ความเสียหายของศาสนา

๔.๒ ศาสนิกที่เป็นบรรพชิต เมื่อใช้สิทธิ์สมัครเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมบรรพชิตแล้ว ก็เท่ากับสละสิทธิ์ที่จะทำอะไรตามใจชอบเหมือนศาสนิกที่เป็นชาวบ้านทั่วไป หากแต่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของสังคมบรรพชิต ซึ่งปกติจะมี ๒ ส่วน คือ ไม่ทำสิ่งที่ห้ามทำ และทำสิ่งที่กำหนดว่าต้องทำหรือควรทำ 

ถ้าทำสิ่งที่ห้ามทำ คือผิด 

ถ้าไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ คือบกพร่อง 

ไม่ทำผิดและไม่ทำบกพร่อง ย่อมมีสิทธิ์อยู่ในสังคมบรรพชิต

ทำผิดหรือทำบกพร่อง ย่อมไม่มีสิทธิ์อยู่ในสังคมบรรพชิต

ดังนั้น หลักในเรื่องนี้ก็คือ –

ทำไม่ได้ อย่าเข้าไป

ทำไม่ไหว ถอยออกมา

……………………

เวลานี้เราเตลิดไปไกลจนถึงกับเกิดแนวคิด “เสรีภาพทางศาสนา” ในความหมายที่ว่า-เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นใดๆ ก็ได้ ไม่ชอบหลักพระธรรมวินัยข้อไหนจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ พระธรรมวินัยข้อนั้นจะอธิบายความหมายเสียใหม่ก็ได้ ตีความเสียใหม่ก็ได้ จนถึงจะปฏิบัติพระวินัยกี่ข้อก็ได้ ไม่ปฏิบัติกี่ข้อก็ได้ เพราะนี่คือเสรีภาพทางศาสนา – เวลานี้กำลังมีคนเข้าใจแบบนี้

แนวคิดเช่นนี้คือที่มาของคำเย้ยหยันคนที่ยึดหลักการเดิมว่า นักคัมภีร์ ติดคัมภีร์ กอดคัมภีร์ไม่ยอมปล่อย ใช้คำที่เคยนิยมพูดกันก็คือ-พวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี ไม่มีคัมภีร์ไปไม่เป็น

เสรีภาพทางศาสนาที่ถูกต้องก็คือ ศึกษาพระธรรมวินัยให้ทั่วถึง 

ศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติให้ทั่วถึงก่อน 

ต่อจากนั้น เรามีความเห็นอย่างไรก็แสดงออกไป แยกให้ชัดว่านั่นเป็นหลักพระธรรมวินัยที่เราศึกษาแล้วและเข้าใจแล้วว่าท่านบัญญัติไว้อย่างนี้ ท่านแสดงไว้อย่างนั้น 

ส่วนนี่เป็นความเห็นของเรา 

เราเห็นด้วยเราก็รับปฏิบัติ 

เราไม่เห็นด้วย ก็อย่าเข้าไปในศาสนาของท่าน 

ถ้าเข้าไปแล้ว ก็แสดงความซื่อตรงด้วยการออกไปจากศาสนาของท่านเสีย เพราะศาสนานี้ท่านไม่ได้บังคับให้ใครมานับถือ ใครไม่นับถือจะตกนรก ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้นเลย

ถ้าจะเลือกถือข้อนั้นบ้าง ไม่ถือข้อโน้นบ้าง ก็ต้องเคารพกฎกติกาของท่านด้วยว่าทำเช่นนั้นได้หรือไม่ 

เช่นเป็นภิกษุ จะเลือกถือศีลบางข้อ ไม่ถือบางข้อ อย่างนี้คือผิดกติกา 

เข้าไปอยู่ในศาสนานั้นแล้วก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของศาสนานั้น ไม่ใช่เข้าไปแก้ไขกฎกติกามารยาทของศาสนานั้นให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

………………………

ทำไม่ได้ อย่าเข้าไป

ทำไม่ไหว ถอยออกมา

………………………

นี่คือความซื่อตรง

“ทำไม่ได้ อย่าเข้าไป” หมายความว่า ไม่ชอบหลักธรรมข้อนี้ ไม่เห็นด้วยกับคัมภีร์ฉบับโน้น ไม่เห็นด้วยกับส่วนนั้นของพระไตรปิฎก หรือแม้กระทั่งเห็นว่าการบวชเป็นเรื่องไร้สาระ การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องงมงาย-อย่างนี้เป็นต้น ก็อย่ามานับถือ คืออย่าเข้าไปอยู่ในพระพุทธศาสนา

มนุษย์ในโลกนี้ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนามีมากกว่าที่นับถือ ไปรวมอยู่กับมนุษย์ส่วนมากเหล่านั้นสบายอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ลำบากอะไรเลย หรือจะสมัครไปอยู่ในกลุ่มผู้ไม่มีศาสนา ไม่เอาศาสนาเลยก็ยังได้ กลุ่มนี้นับวันจะใหญ่โตขึ้น ก็ยิ่งสบายใหญ่

ในทางปฏิบัติ ก็ยังคงใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอยู่ตามปกติ เป็นเพื่อนกันได้เหมือนเดิม แต่อย่าเข้าไปยุ่งกับพระพุทธศาสนา

“ปฏิบัติไม่ไหว ถอยออกมา” อันนี้หมายถึงเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์แล้ว จะด้วยความสมัครใจ จะด้วยความเป็นไปในชีวิต หรือจะด้วยความคิดแบบไหนของใครก็ตามแต่เถิด คือเข้าไปเป็นพระเป็นเณรเรียบร้อยแล้ว แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็รู้สึกว่า จะให้ครองชีวิตอย่างพระอย่างเณรอยู่ต่อไป มันไม่ไหวแล้ว อยากเที่ยวก็เที่ยวไม่ได้ อยากเสพสุขก็เสพไม่ได้ ฯลฯ —

วิธีที่ท่านปฏิบัติกันมาก็คือ กลับออกไปเป็นชาวบ้านเหมือนเมื่อตอนเกิดมา ตอนเกิดมาก็เป็นชาวบ้าน ไม่ได้เป็นพระเป็นเณรมาตั้งแต่เกิด เพิ่งมาเป็นทีหลัง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นต่อไปไม่ไหวก็กลับออกไป เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ใครๆ ก็ทำกันอย่างนี้ และไม่ใช่เป็นการผลักไสไล่ส่ง เพราะถึงอย่างไรก็ยังอยู่ร่วมแผ่นดินกันได้เหมือนเดิม

นี่คือเสรีภาพทางศาสนาที่ถูกต้องที่สุด

……………………

แนวคิดที่ฟักตัวอยู่และค่อยๆ แสดงตัวออกมาในเวลานี้ ก็คือแนวคิดที่ว่า พระพุทธศาสนาจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาแบบจารีตนิยมจะอยู่ไม่ได้ในโลกปัจจุบัน และจะไปไม่รอดในโลกอนาคต

เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่เป็นห่วงพระพุทธศาสนา และเกิดจากความปรารถนาดี ควรแก่การอนุโมทนา

ผมมีข้อคิดที่ขอฝากให้แก่ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ นั่นก็คือ –

อย่าคิดเพียง-ทำอย่างไรพระพุทธศาสนาจึงจะอยู่ได้ไปรอด

แต่ขอให้คิดจงหนักด้วยว่า-ทำอย่างไรพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องจึงจะอยู่ได้ไปรอด

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๕:๑๕

…………………………………….

ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

…………………………………….

จากเสรีภาพทางศาสนาที่ถูกต้อง

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *