บาลีวันละคำ

พากย์ มี แต่ วิพากย์ ไม่มี (บาลีวันละคำ 3,672 )

พากย์ มี แต่ วิพากย์ ไม่มี

วิพากษ์ มี แต่ พากษ์ ไม่มี

คำว่า “วิพากษ์” ษ ฤษี การันต์ เช่นในคำว่า “วิพากษ์วิจารณ์” จะมีคนจำนวนมากเขียนเป็น “วิพากย์” ย ยักษ์ การันต์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนจำนวนมากเข้าใจว่า คำที่ออกเสียงว่า พาก ในคำว่า “วิพากษ์” ษ ฤษี การันต์ เป็นคำเดียวกับคำว่า “พากย์” ที่หมายถึง “พูดแทนผู้แสดงหรือตามบทบาทของผู้แสดงโขน หนัง หรือภาพยนตร์ เป็นต้น” ในเมื่อ “พากย์” ย ยักษ์ การันต์ คำที่ออกเสียงว่า วิ-พาก ก็ต้อง ย ยักษ์ การันต์เหมือนกัน เพราะเข้าใจเช่นนี้จึงเขียนเป็น “วิพากย์” ย ยักษ์ การันต์ 

ไม่ว่าจะเป็น “วิพากษ์” คำเดียว หรือ “วิพากษ์วิจารณ์” คนที่เข้าใจผิดเช่นว่านี้จึงเขียนเป็น “วิพากย์” และ “วิพากย์วิจารณ์” ย ยักษ์ การันต์ กันทั่วไป

วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ใช่พากันยอมรับว่า “วิพากย์” และ “วิพากย์วิจารณ์” ย ยักษ์ การันต์ เขียนอย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน เพราะสื่อความหมายได้ตรงกับเจตนา เมื่อคนอ่านเข้าใจความหมายได้ตรงกับเจตนา การสื่อสารนั้นก็สัมฤทธิ์ผล จะเขียนอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีถูกไม่มีผิด

วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจที่ไปที่มาของถ้อยคำภาษา

เริ่มจากทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานว่า คำที่ออกเสียงว่า พาก นั้น เขียนเป็น “พากย์” ก็มีความหมาย เขียนเป็น “ภาค” ก็มีความหมาย หรือจะเขียนเป็น “ภาคย์” ก็มีความหมายเช่นกัน แต่ถ้าเขียนต่างกันความหมายก็ต่างกัน

คำที่ออกเสียงว่า พาก ถ้าจะหมายถึง “พูด” หรือ “คำพูด” ต้องสะกดเป็น “พากย์” พ พาน มี ย ยักษ์ การันต์ เนื่องจากเราเอาคำนี้มาจากคำบาลีสันสกฤตซึ่งสะกดเป็น “วากฺย” ออกเสียงว่า วาก-กฺยะ หรือออกเสียงให้ตรงจริงๆ ก็คือ วาก-เกี๊ยะ 

วากฺย” แปลตามศัพท์ว่า “ข้อความอันเขากล่าว” หมายถึง การพูด, คำพูด, พากย์ (saying, speech, sentence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วากย-, วากยะ : (คำนาม) คําพูด, คํากล่าว, ถ้อยคํา, ประโยค. (ป., ส.).”

แปลง เป็น และไม่ต้องการออกเสียง ย ยักษ์ จึงใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตบน ย ยักษ์ เขียนเป็น “พากย์” อ่านว่า พาก

ส่วนคำว่า “วิพากษ์” แม้จะออกเสียง -พาก เหมือนกัน และเขียนเป็น พ-า-ก เหมือนกัน แต่เป็นคนละคำกับ “พากย์” ย ยักษ์ การันต์ เพราะ “วิพากษ์” มาจากคำสันสกฤตซึ่งสะกดเป็น “วิวกฺษา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิวกฺษา” ไว้ดังนี้ –

วิวกฺษา : (คำนาม) ‘วิวักษา,’ ความปรารถนา, ความใคร่; ความปรารถนาจะพูด; wish, desire; the wish to speak.”

แปลง ที่ –วกฺ– เป็น = วิพกฺษา ยืดเสียง -พัก- เป็น -พาก- = วิพากษา และไม่ต้องการออกเสียง -ษา จึงใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตบน ษ ฤษี เขียนเป็น “วิพากษ์” อ่านว่า วิ-พาก

นี่คือที่ไปที่มาของถ้อยคำภาษา

ที่ไปที่มาของถ้อยคำภาษาเป็นเรื่องที่คนธรรมดาๆ ที่มีสติปัญญาธรรมดาๆ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ ขอแต่ให้มีฉันทะอุตสาหะเป็นพื้นฐานเพียงเท่าที่คนธรรมดาๆ จะพึงมีได้เท่านั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พากย์” “วิพากษ์” และ “วิพากษ์วิจารณ์” ไว้ดังนี้ – 

(1) พากย์ : (คำกริยา) พูดแทนผู้แสดงหรือตามบทบาทของผู้แสดงโขน หนัง หรือภาพยนตร์ เป็นต้น เช่น พากย์โขน พากย์หนังตะลุง พากย์หนังใหญ่ พากย์ภาพยนตร์, บรรยายถ่ายทอดในการแข่งขันกีฬาหรือการแสดงบางอย่าง เช่น พากย์มวย พากย์ฟุตบอล, กล่าวเรื่องราวเป็นทำนองเมื่อเวลาแสดงโขนเล่นหนัง. (คำนาม) คําพูด, ภาษา; คํากล่าวเรื่องราวเป็นทํานองเมื่อเวลาแสดงโขนหรือหนังใหญ่เป็นต้น, บทพากย์ ก็ว่า. (ป., ส. วากฺย)

(2) วิพากษ์ : (คำกริยา) พิจารณาตัดสิน. (ส. วิวกฺษา; เทียบ วิวาก ว่า ผู้พิพากษา).

(3) วิพากษ์วิจารณ์ : (คำกริยา) วิจารณ์, ติชม, เช่น คนดูหนังวิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องช้าทำให้คนดูเบื่อ.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ศึกษาเรียนรู้ก็เป็นมนุษย์ได้

: แต่เป็นมนุษย์ที่เจริญแล้วไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,672)

2-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *