บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๑)

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๑)

——————————————————

แผ่นดินไทยทุกวันนี้มีศาสนารวมกันอยู่หลายศาสนา แต่ละศาสนามีท่าทีหรือ “นโยบาย” ที่แตกต่างกัน

พระพุทธศาสนามีท่าทีต่อศาสนาอื่นอย่างไร?

เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้เห็น “น้ำใจ” ของพระพุทธศาสนาที่มีต่อศาสนาอื่นๆ ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดอ่านข้อเขียนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ในหนังสือเรื่อง ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ ต่อไปนี้

…………………….

ในสังคมไทย ตลอดประวัติศาสตร์ของการนับถือพระพุทธศาสนา เสรีภาพทางศาสนาเป็นสิ่งที่มีมาเอง เป็นไปเอง เป็นลักษณะของสังคมที่ถ่ายทอดสืบกันมาโดยไม่ต้องรู้ตัว สืบเนื่องจากหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เชิดชูเสรีภาพในการใช้ปัญญา โดยไม่มีการบังคับศรัทธา เพราะฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจึงไม่ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการนับถือศาสนา อย่างที่ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องรุนแรงมากในหลายประเทศ

นอกจากชาวพุทธจะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แม้เมื่อมีลัทธิศาสนาใหม่ๆ เข้ามาจากภายนอก ก็ได้พบการต้อนรับอย่างดี และเปิดโอกาสหรือถึงกับช่วยเอื้อเฟื้อให้มีการเผยแพร่โดยสะดวกด้วยซ้ำ

ในหลายสังคม แม้เพียงขันติธรรม (toterance) ต่อกันระหว่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่ได้มาแสนยาก แต่สำหรับสังคมไทย ชาวพุทธมิใช่มีเพียงขันติธรรม (toterance) เป็นปกติธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์เชิงบวก คือถึงกับช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือประสานร่วมมือ ด้วยเมตตากรุณาเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายอยู่เป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นปัจจัยและเป็นสื่อให้ศาสนาต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี

มองในแง่นี้ ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาคอยเอื้ออยู่ หรือไม่มีพระพุทธศาสนาเป็นบรรยากาศทั่วไปของสังคมที่คอยช่วยเหลือประสานไว้ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาต่างๆ จะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นเครื่องช่วยรักษาเสรีภาพทางศาสนา และช่วยส่งเสริมให้ศาสนาต่างๆ อยู่ร่วมกันด้วยดี

……………..

……………..

ปัจจุบัน ทั่วโลกติดต่อถึงกันง่ายดายเหมือนเป็นชุมชนอันเดียว ในสภาพเช่นนี้ ถ้าศาสนาต่างๆ ยังมีท่าทีความรู้สึกและพฤติการณ์ดูหมิ่นดูแคลนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน และมีหลักการแห่งการบังคับศรัทธาเป็นพื้นฐาน ก็ย่อมจะมีการกีดกั้นเบียดเบียนบีบคั้น ตลอดจนกำจัดกันระหว่างศาสนาอยู่ต่อไป และในสภาพเช่นนั้น พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่มีความรุนแรง ก็ยากที่จะดำรงรอดอยู่ได้ โลกจึงต้องการศาสนาที่มีลักษณะเชื่อมประสานและมีหลักการที่เอื้อต่อเสรีภาพ

ปรากฏว่า โลกทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งรบราฆ่าฟันกันระหว่างหมู่ชนที่นับถือศาสนาต่างกัน โลกจึงนับวันจะต้องการศาสนาที่มีลักษณะเชื่อมประสานอย่างนั้นมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้สันติสุขของโลกดำรงอยู่ได้

พระพุทธศาสนามีท่าทีความรู้สึกที่ดี และได้แสดงความเอื้อเฟื้อต่อศาสนาอื่นทุกศาสนาตลอดมา จนกระทั่งแม้แต่นักเผยแพร่ศาสนาอื่นที่มีท่าทีไม่เป็นมิตรก็ยังยอมรับ ทั้งเป็นศาสนาที่ยึดถือหลักการแห่งเสรีภาพในการใช้ปัญญาอีกด้วย ดังนั้น การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงทำให้มั่นใจได้ว่า นอกจากพระพุทธศาสนาเองจะดำรงอยู่ได้แล้ว ก็จะช่วยให้ศาสนาอื่นๆ ทั้งหลายอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีในบรรยากาศแห่งความมีเสรีภาพทางศาสนาด้วย (หน้า ๓๑-๔๗)

(จบข้อความจากหนังสือ ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ)

…………………….

สำหรับฝ่ายพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเป้าหมายแห่งการกระทำ ก็สมควรที่จะต้องถูกพูดถึงบ้าง

จะต้องพูดกันตรงๆ ว่า เรา – ผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย กำลังตกอยู่ในความประมาท อันที่จริงเราตกอยู่ในความประมาทกันมานานแล้ว แต่ ณ เวลานี้ต้องบอกว่า ตกอยู่ในความประมาทขั้นวิกฤตที่สุด

ในฝ่ายบรรพชิต – ผู้รับผิดชอบการพระศาสนาโดยตรงยังเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยนี้ยังมั่นคงที่สุด โดยจะมีการเอ่ยอ้างเสมอว่า ไม่มีอะไรหรือใครภายนอกที่จะมาทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากพุทธบริษัทด้วยกันเอง 

การเอ่ยอ้างนี้ราวกับว่าผู้เอ่ยอ้างกำลังกระหยิ่มใจว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่รู้สัจธรรมข้อนี้ ทั้งๆ ที่ความข้อนี้รู้กันในวงกว้างมานานนักหนาแล้ว แต่ตัวผู้รับผิดชอบที่ชอบเอ่ยอ้างพระพุทธพจน์บทนี้นั่นเองที่อาจจะไม่รู้ว่า ไม่มีอะไรหรือใครภายนอกที่จะมาทำลายพระพุทธศาสนาให้สูญหายไปจากโลกนี้ได้ก็จริง แต่มีอะไรบางอย่างหรือใครบางคนบางพวกที่สามารถทำให้พระพุทธศาสนาสูญไปจากแผ่นดินไทยได้อย่างแน่นอน

ยิ่งถ้าท่านมัวแต่กระหยิ่มใจกับการอ้างพระพุทธพจน์บทนั้นอยู่ด้วยละก็ อะไรหรือใครที่ว่านั้นก็จะยิ่งทำให้พระพุทธศาสนาสูญไปจากแผ่นดินไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ถ้าท่านจะบอกว่า ถึงเวลานั้นข้าพเจ้าก็จากโลกนี้ไปนานแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องห่วงอะไร …

ท่านก็ทรยศต่ออุดมการณ์ของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย เพราะถ้าพระพุทธเจ้าและท่านเหล่านั้นคิดทำนองเดียวกับที่ท่านบอกนี้ละก็ ไม่มีพระพุทธศาสนามาให้ท่านเอ่ยอ้างพระพุทธพจน์ด้วยความกระหยิ่มใจอยู่จนทุกวันนี้หรอกขอรับ

ผลจากความประมาทเช่นนี้ ทำให้ในวงการคณะสงฆ์ไทยมีปัญหาใหญ่อยู่ ๒ เรื่อง คือ 

๑. ความย่อหย่อนอ่อนแอในการปกครองบังคับบัญชา และ-

๒. ความอ่อนด้อยในการศึกษาอบรมแนะนำพร่ำสอนคนของตนเอง 

ตัวอย่างในข้อ ๑ คือ มีปัญหาเรื่องประพฤติผิดพระธรรมวินัยทีไร กว่าจะลงมือแก้ไขสะสางกันได้ งาก็ไหม้หมดทุกทีไป 

ตัวอย่างในข้อ ๒ ก็คือ ทุกวันนี้กิจวัตร ๑๐ อย่างของพระภิกษุร่วงโรยลงเกือบหมด (เอ่ยขึ้นมาอย่างนี้ก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะมีคนรู้เรื่องกิจวัตร ๑๐ อย่างสักกี่คน) และแม้แต่กิริยาอาการของบรรพชิตก็รุ่มร่ามหนักขึ้นทุกวัน (เดี๋ยวนี้พระภิกษุพูดกับฆราวาส ใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า “ผม” ใช้คำรับว่า “ครับ” กันเกร่อไปหมดแล้ว!) แสดงว่าระบบการอบรมแนะนำพร่ำสอนคนที่บวชเข้าไปแล้วนั้นอ่อนปวกเปียกเป็นอันมาก

พูดสั้นๆ เพียงเท่านี้พอแล้ว พูดเท่านี้ ผู้พูดจะตกนรกลงไปกี่ขุมแล้วก็ไม่ทราบ

ในฝ่ายคฤหัสถ์ – เมื่อก่อนเรามีพระมหากษัตริย์เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก แต่เมื่อการปกครองเปลี่ยนไป พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกเปลี่ยนมือ ผู้ได้อำนาจไปเอาไปแต่อำนาจ ส่วนหน้าที่เอกอัครศาสนูปถัมภกนั้นไม่เอาด้วย ทุกวันนี้จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยขาดผู้นำหรือจอมทัพที่แท้จริงแทบจะสิ้นเชิง มีแต่สถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ยังอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่พระราชอำนาจที่จะส่งเสริมดำเนินการให้พระพุทธศาสนาจำเริญรุ่งโรจน์ดุจดังในอดีตกาลนั้นก็อ่อนลงไปเสียแล้ว เพราะอำนาจเช่นนั้นไพล่ไปอยู่ในมือของนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความคิดที่จะส่งเสริมปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างเป็นกิจสำคัญ ดังที่พระมหากษัตริย์ทรงเคยกระทำมา

ต้นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย ดูเหมือนจะมีผู้นำทางการเมืองของไทยบางคนที่ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาและมีนโยบายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง ดังที่มีความคิดจัดสร้างพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่าง

แต่ปัจจุบันทุกวันนี้ ผู้บริหารบ้านเมืองตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีลงมา ไม่เคยแสดงความหนักแน่นมั่นคงในพระพุทธศาสนาออกมาให้ประจักษ์ไม่ว่ากรณีไหนๆ ไม่เคยออกมาสนับสนุนอุปถัมภ์บำรุงหรือปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง มีแต่ความโลเล และปัดสวะทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น ไม่เห็นความสำคัญ จัดลำดับงานพระศาสนาไว้ท้ายสุด ไม่มีอะไรจะทำแล้วนั่นแหละจึงจะเหลียวมาดู

พระมหากษัตริย์ทรงบาตรทุกวัน ทรงสดับพระธรรมทุกคืน แต่เรายังไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นผู้บริหารบ้านเมืองคนใดที่ได้อำนาจนั้นมาจากพระมหากษัตริย์ จะตักบาตรทุกวันหรือฟังเทศน์หรือไปวัดบ่อยๆ 

ผมไม่เชื่อเลยว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และนักการเมืองที่บริหารบ้านเมืองอยู่ทุกวันนี้จะรู้จักไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนด้วยซ้ำไป

พูดอย่างนี้อาจจะถูกหาว่าปรามาสกันเกินไป ก็อาจจะมีผู้บริหารบ้านเมืองที่เป็นชาวพุทธและปฏิบัติกิจวัตรของชาวพุทธอย่างสม่ำเสมอ ทั้งอาจจะปฏิบัติมานานแล้วด้วย แต่เชื่อได้เลยว่าท่านผู้นั้นๆ ก็คงทำกิจเช่นนั้นในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนตัวเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาเลย ทั้งไม่เคยมีนโยบายหรืออุดมการณ์อะไรที่จะทำความเจริญให้แก่พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติของสังคมไทยแต่อย่างใดด้วย 

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้บริหารบ้านเมืองของเราแยกเอาพระพุทธศาสนาออกไปเป็นเรื่องส่วนตัว ในขณะที่ผู้นำทางศาสนาอื่นเขาถือเอาศาสนาของเขาเป็นเนื้อเป็นตัวของสังคมส่วนรวมเลยทีเดียว

สังคมคือที่ปรากฏตัวของศาสนา และศาสนาก็ดำรงอยู่ได้ด้วยคนในสังคม และถ้าจะเจริญรุ่งโรจน์ขึ้นไปได้ ก็เพราะมีผู้นำในสังคมนั้นอุปถัมภ์บำรุงปกป้องคุ้มครอง

แต่เมืองไทยทุกวันนี้เราขาดผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำทางเศรษฐกิจ หรือแม้ผู้นำทางสังคม ที่กล้าประกาศตัวออกมาเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงปกป้องพระพุทธศาสนา 

…………………………………………..

เรามีแต่คนที่กล้าทำร้ายพระพุทธศาสนาและทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อชีวิตของตัวเอง 

แต่เราขาดแคลนคนที่กล้าอุทิศชีวิตของตัวและทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา 

…………………………………………..

สังคมเรามากไปด้วยคนที่นับถือพระพุทธศาสนาตามกำลังศรัทธา หรือจะเรียกว่านับถือกันไปตามบุญตามกรรมก็คงไม่ผิด เรากำลังกินบุญเก่าจากพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษของเราอุทิศชีวิตรักษาไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นเรา แต่เราไม่ได้สร้างบุญใหม่ คือมีความเข้มข้นเข้มแข็งที่จะรักษาพระพุทธศาสนาเพื่อส่งมอบให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นต่อไป

นี่คือความจริงที่กำลังเป็นไปอยู่ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

(ต่อตอน ๒)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๗:๑๑

………………………………………………

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๑)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *