บาลีวันละคำ

ธาตุพิการ – เหตุให้ฝันข้อ 4 (บาลีวันละคำ 3,681)

ธาตุพิการ – เหตุให้ฝันข้อ 4

เชื่อบ่มิได้แล

…………..

ความเป็นมา :

อาบัติสังฆิเสสของภิกษุมี 13 สิกขาบท 

สิกขาบทที่ 1 มีข้อความดังนี้ –

…………………………………….

สญฺเจตนิกา  สุกฺกวิสฏฺฐิ  อญฺญตฺร  สุปินนฺตา  สงฺฆาทิเสโส  ฯ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 302

…………………………………….

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า –

…………………………………….

ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส

…………………………………….

หนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมตรี พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –

…………………………………….

ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส

…………………………………….

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก อธิบายคำว่า “อญฺญตฺร  สุปินนฺตา” (เว้นไว้แต่ฝัน) ไว้ว่า –

…………………………………….

ตญฺจ  ปน  สุปินํ  ปสฺสนฺโต  จตูหิ  การเณหิ  ปสฺสติ 

(1) ธาตุกฺโขภโต  วา 

(2) อนุภูตปุพฺพโต  วา 

(3) เทวโตปสํหารโต  วา 

(4) ปุพฺพนิมิตฺตโต  วาติ  ฯ 

ก็แลบุคคลเมื่อจะฝันนั้น ย่อมฝันเพราะเหตุ 4 ประการคือ 

เพราะธาตุกำเริบ 1

เพราะเคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน 1

เพราะเทวดาสังหรณ์ 1

เพราะบุพนิมิต 1

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 5

…………………………………….

เคยได้ยินผู้เอาเหตุแห่งความฝันทั้ง 4 ข้อมาพูดเป็นคำคล้องจอง แต่สลับลำดับ ไม่ตรงกับที่อรรถกถาเรียงไว้ เป็นดังนี้ –

…………..

บุพนิมิต

จิตนิวรณ์ 

เทพสังหรณ์

ธาตุพิการ

…………..

ในที่นี้ขอนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำตามลำดับคำคล้องจองในภาษาไทย

…………..

ธาตุพิการ” อ่านว่า ทาด-พิ-การ (เป็นคำประสม) ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + พิการ

(๑) “ธาตุ

บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา

: ธา + ตุ = ธาตุ

: ธรฺ > + ตุ = ธตุ > ธาตุ

ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ

(2) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ

(3) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้ –

(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)

(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)

(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)

(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)

(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก. 

(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.

(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.

(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว. 

(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส. 

(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.

(๒) “พิการ” 

บาลีเป็น “วิการ” อ่านว่า วิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ ะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: วิ + กรฺ = วิกรฺ + = วิกรณ > วิกร > วิการ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น

นักเรียนบาลีจะคุ้นกับคำว่า “วิการ” ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

๑ แผลงหรือแปลง เช่น (1) “วิการ อิ เป็น เอ” คือแผลง อิ เป็น เอ เช่น ปรมินทร์ > ปรเมนทร์ (2) “วิการ เป็น ” คือแปลง เป็น เช่น วิการ > พิการ 

๒ เรียกของที่ทำด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น “สร้อยคออันเป็นวิการแห่งทอง” หมายถึง สร้อยคอที่ทำด้วยทอง

วิการ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –

(1) การเปลี่ยนแปลง, การแปรผัน (change, alteration)

(2) การผิดรูป, การหันกลับ, การบิดเบี้ยว (distortion, reversion, contortion)

(3) การทำให้กระวนกระวาย, การรบกวน, ความไม่สะดวก, การทำให้ผิดปกติ (perturbation, disturbance, inconvenience, deformity)

(4) ร่างกาย, คุณสมบัติ, คุณลักษณะ (constitution, property, quality)

(5) การหลอกลวง, การฉ้อฉล (deception, fraud)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิการ” ไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิการ : (คำนาม) การเปลี่ยนรูปหรือประกฤติ, การบิดเชือนจากประกฤติภาพ; พยาธิ, โรค; ราคะ; รส; วิกฤติหรืออภาวะ; change of form or nature, deviation from the natural state; sickness, disease; passion, feeling, emotion.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิการ : (คำวิเศษณ์) พิการ, ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ. (คำนาม) ความผันแปร. (ป., ส.).”

วิการ” แผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “พิการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิการ : (คำวิเศษณ์) เสียอวัยวะมีแขนขาเป็นต้น, เสียไปจากสภาพเดิม, เช่น แขนพิการ ตาพิการ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ พิกล เป็น พิกลพิการ. (ป., ส. วิการ).”

ธาตุ + พิการ = ธาตุพิการ เป็นคำประสมแบบไทย แต่ใช้คำบาลี มีความหมายว่า ระบบต่างๆ ในร่างกาย (คือ ธาตุ) ไม่ปกติ (คือ พิการ)

คำว่า “ธาตุพิการ” เป็นคำที่มีคนพูดกันอยู่ โดยเฉพาะในวงการแพทย์แผนไทย คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

อภิปรายขยายความ :

เหตุให้ฝันข้อนี้ คำบาลีในคัมภีร์ใช้ว่า “ธาตุกฺโขภ” อ่านว่า ทา-ตุก-โข-พะ ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + โขภ

(๑) “ธาตุ” 

(ดูข้างต้น)

(๒) “โขภ” 

บาลีอ่านว่า โข-พะ รากศัพท์มาจาก ขุภฺ (ธาตุ = กำเริบ, กระเพื่อม, หวั่นไหว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ขุ-(ภฺ) เป็น โอ (ขุภฺ > โขภ)

: ขุภฺ + = ขุภณ > ขุภ > โขภ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่กำเริบ” หมายถึง ความสั่น, ความสะดุ้งหรือกระเทือน (shaking, shock)

ธาตุ + โขภ ในบาลีซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์ 

: ธาตุ + กฺ + โขภ = ธาตุกฺโขภ (ทา-ตุก-โข-พะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความกำเริบของธาตุ” 

บาลี “ธาตุกฺโขภ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธาตุโขภ” อ่านว่า ทา-ตุ-โขบ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธาตุโขภ : (คำนาม) ความกําเริบของธาตุ ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายไม่ปรกติ มีอาหารเสียเป็นต้น. (ป.).”

ธาตุกฺโขภ” ในบาลี หรือ “ธาตุโขภ” ในภาษาไทย คนเก่าเอามาพูดแบบไทยว่า “ธาตุพิการ

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ขยายความคำว่า “ธาตุกฺโขภโต” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปิตฺตาทีนํ  โขภกรณปจฺจยโยเคน  ขุภิตธาตุโก  ธาตุกฺโขภโต  สุปินํ  ปสฺสติ  ฯ

บุคคลผู้มีธาตุกำเริบเพราะประจวบกับเหตุอันทำให้ดีเป็นต้นกำเริบ ชื่อว่าย่อมฝันเพราะธาตุพิการ

ปสฺสนฺโต  จ  นานาวิธํ  สุปินํ  ปสฺสติ  ปพฺพตา  ปตนฺโต  วิย  อากาเสน  คจฺฉนฺโต  วิย  วาฬมิคหตฺถิโจราทีหิ  อนุพทฺโธ  วิย  จ  โหติ  ฯ

และเมื่อฝันย่อมฝันเห็นเป็นต่างๆ เช่นเหมือนตกจากภูเขา เหมือนเหาะไปทางอากาศ และเหมือนถูกไล่ตาม เช่นสัตว์ร้ายไล่ ช้างไล่ และโจรไล่เป็นต้น

…………..

ยํ  ธาตุกฺโขภโต  อนุภูตปุพฺพโต  จ  สุปินํ  ปสฺสติ

น  ตํ  สจฺจํ  โหติ  ฯ

ความฝันเพราะธาตุพิการและเพราะจิตนิวรณ์

เป็นความฝันที่ไม่จริง

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 5-6

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตาดี อาจเห็นได้ไม่ตลอด

: ตาบอด อาจเห็นธรรมะได้

#บาลีวันละคำ (3,681)

11-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *