บาลีวันละคำ

พุทธการก (บาลีวันละคำ 3,682)

พุทธการก

คุณธรรมที่ช่วยยกขึ้นเป็นพระพุทธเจ้า

อ่านว่า พุด-ทะ-กา-รก

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + การก

(๑) “พุทธ” 

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พุทธ” ไว้ดังนี้ – 

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “การก

บาลีอ่านว่า กา-ระ-กะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ต้นธาตุ เป็น อา ตามกฎของปัจจัยที่เนื่องด้วย (กรฺ > การ)

: กรฺ + ณฺวุ > อก = กรก > การก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้ทำกิจหรือทำการตามหน้าที่ (the doer) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

การก : (คำนาม) ผู้ทํา. (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำกริยา) กริยาที่ทําหน้าที่ประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคที่คล้ายกับนาม มี ๕ ชนิด คือ กรรตุการก กรรมการก การิตการก วิกัติการก และวิเศษณการก. (ป., ส.).”

พุทฺธ + การก = พุทฺธการก (พุด-ทะ-กา-ระ-กะ) แปลว่า “ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า” หมายถึง สนับสนุนความเป็นพุทธะ, ทำให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น (making a Buddhahood, bringing about Buddhahood) 

พุทฺธการก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธการก” รูปคำตรงตัว (ไม่มีจุดใต้ ท) อ่านแบบไทยว่า พุด-ทะ-กา-รก 

ขยายความ :

พุทธการก” เป็นชื่อคุณธรรมชุดหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกเต็มว่า “พุทธการกธรรม” (อ่านว่า พุด-ทะ-กา-ระ-กะ-ทำ ไม่ใช่ พุด-ทะ-กา-รก-ทำ) ชื่อสามัญที่รู้จักกันดีคือ “บารมี” มี 10 อย่าง นิยมเรียกว่า “บารมีสิบ” คือ –

(1) ทาน : สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) ศีล : ควบคุมการกระทำและคำพูดให้ตั้งอยู่ในความดีงาม

(3) เนกขัมมะ : การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน

(4) ปัญญา : ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล

(5) วิริยะ : ความพยายามทำกิจไม่ท้อถอย

(6) ขันติ : ความหนักเอาเบาสู้เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม

(7) สัจจะ : ความจริง คือ จริงใจ จริงวาจา และจริงการ

(8 ) อธิษฐาน : ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน

(9) เมตตา : ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข

(10) อุเบกขา : ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง

บารมีทั้ง 10 แบ่งระดับการบำเพ็ญเป็น 3 ระดับตามความเข้มข้น คือ ระดับบารมี ระดับอุปบารมี ระดับปรมัตถบารมี 

อธิบายประกอบด้วยบารมีข้อแรก คือ ทาน

(๑) ระดับบารมี : บารมีระดับปกติธรรมดา คนทั่วไปทำได้ 

ตัวอย่างทานบารมี : สละของนอกกาย เช่น วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง สิทธิผลประโยชน์ และแม้ตำแหน่งหน้าที่

(๒) ระดับอุปบารมี : บารมีขั้นกลาง หรือจวนสูงสุด 

ตัวอย่างทานอุปบารมี : สละให้อวัยวะในตัว เช่น บริจาคดวงตา ตับ ไต ปอด (หมายถึงต้องให้อวัยวะนั้นๆ ไปทั้งที่ตนยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ให้เมื่อตายแล้ว)

(๓) ระดับปรมัตถบารมี : บารมีขั้นสูงสุด, บารมีที่ทำจนถึงที่สุดเพื่อผลขั้นสูงสุด

ตัวอย่างทานปรมัตถบารมี : สละชีวิต แม้จะต้องตายก็ยอมด้วยความเต็มใจ

บารมีข้ออื่นๆ ก็ใช้ (๑) ของนอกกาย (๒) อวัยวะ (๓) ชีวิต เป็นเกณฑ์วัดเช่นกัน 

บารมี 3 ระดับ ระดับละ 10 จึงเป็นบารมีสามสิบถ้วน เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “สมดึงสบารมี” คำบาลีว่า “สมตึสปารมี” 

สมดึงสบารมี หรือคำเก่าเรียกว่า “บารมี 30 ทัศ” นี้แล มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พุทธการกธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนอื่นช่วยเราได้เป็นบางเวลา

: ความดีที่ทำมาช่วยเราได้ตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (3,682)

12-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *