บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สังฆทานเวียน : ทำบุญแบบเด็กเล่นขายของ

สังฆทานเวียน : ทำบุญแบบเด็กเล่นขายของ

——————–

คำเตือน :

เรื่องนี้ยาวมาก และมีหลักวิชาค่อนข้างมาก

ญาติมิตรที่จะอ่านควรมีเวลามากพอ 

และมีสติมากพอๆ กับเวลาด้วย

————-

(ข้อความจากภาพประกอบ)

ถวายสังฆทานเวียน

ได้บุญจริงหรือ ?

ในพระวินัย มีระบุไว้ว่า อนุญาตให้นำของสงฆ์

ที่ได้รับฉันทามติจากคณะสงฆ์แล้วไปแลก

ในสิ่งที่ดีกว่าได้ การทำเช่นนั้นเรียกว่า “ผาติกรรม”

(แปลว่า ทำให้ดีขึ้น) เปรียบได้กับ การเวียน

สังฆทาน เพื่อนำไปแลกกับสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่

สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบันก็คือ “เงิน” เพราะสามารถ

นำไปใช้ประโยชน์อื่นได้เช่น ชำระค่าน้ำ ค่าไฟ

ค่าก่อสร้าง ภายในวัด ก่อให้เกิดประโยชน์

ต่อพระพุทธศาสนาต่อไป ดังนั้นการถวาย

สังฆทานเวียน จึงมิใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด

อีกทั้งผู้ถวายสังฆทานเวียนก็ได้รับอานิสงส์

ผลบุญเช่นกัน

………….

ผู้ส่งภาพ: Kru Too

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘

————-

การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ถูกต้องถ่องแท้ ควรเริ่มตั้งแต่ความหมายของถ้อยคำ

คำที่เป็นหลักในเรื่องนี้คือ “ผาติกรรม

โปรดทราบว่า ต้นเหตุของผาติกรรม ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีผู้ถวายผ้าราคาแพงไว้ประจำเสนาสนะ 

ผ้าชนิดนั้นเกินความจำเป็นที่ภิกษุแต่ละรูปจะใช้ประโยชน์ พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธานุญาตให้ทำ “ผาติกรรม” คือให้แลกเปลี่ยนเป็นของที่พระสงฆ์จะใช้ประโยชน์ได้

(คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๑๒-๓๑๓)

————-

ผาติกรรม” บาลีเป็น “ผาติกมฺม” (ผา-ติ-กำ-มะ) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาติกมฺม” ว่า increase, profit, advantage (การเพิ่มพูน, กำไร, การได้เปรียบ)

ผาติกมฺม” ถ้าเป็นคำกริยา เป็น “ผาติกโรติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาติกโรติ” ว่า to make fat, to increase, to use to advantage (ทำให้อ้วน, เพิ่มขึ้น, ใช้ให้เป็นประโยชน์)

ที่ยกพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็เพราะคนสมัยนี้เห็นคำอังกฤษแล้วเข้าใจความหมายดีกว่าคำไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ผาติกรรม : (คำนาม) การทําให้เจริญ, ใช้ในวินัยว่า การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทําของสงฆ์ชํารุดไปบ้าง, รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทําให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทําอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ผาติกรรม : “การทำให้เจริญ” หมายถึงการจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างหนึ่งอย่างใด โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไป, รื้อของที่ไม่ดีออกทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายให้ใหม่; การชดใช้, การทดแทน

————-

คำที่จะต้องทำความเข้าใจอีกคำหนึ่งคือ “ครุภัณฑ์” เพราะท่านว่าของที่อนุญาตให้ทำผาติกรรมได้ต้องเป็น “ครุภัณฑ์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครุภัณฑ์ : (คำนาม) ของที่ใช้ทนทาน เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

(๑) ครุภัณฑ์ : ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น; คู่กับ ลหุภัณฑ์

(๒) ลหุภัณฑ์ : ของเบา เช่น บิณฑบาต เภสัชและของใช้ประจำตัว มีเข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นต้น; คู่กับ ครุภัณฑ์

(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ลหุภัณฑ์” ไว้)

ครุภัณฑ์มีอะไรบ้าง ท่านแสดงรายการไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐ (กล่าวถึงภิกษุที่เปรียบเหมือนมหาโจร ๕ จำพวก เที่ยวปล้นอยู่ในพระศาสนานี้)

รายการครุภัณฑ์ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกดังกล่าวมีดังนี้ –

ครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ สวน (หมายถึงพืชผลในสวน) ที่ดินที่ตั้งสวน อาคาร (สิ่งปลูกสร้าง) ที่ดินที่ตั้งอาคาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน 

(เทียบศัพท์บาลี : อาราโม  อารามวตฺถุ  วิหาโร  วิหารวตฺถุ  มญฺโจ  ปีฐํ  ภิสี  พิมฺโพหนํ  โลหกุมฺภี  โลหภาณกํ  โลหวารโก  โลหกฏาหํ  วาสี  ผรสุ  กุธารี  กุทฺทาโล  นิขาทนํ  วลฺลี  เวฬุ  มุญฺชํ  ปพฺพชํ  ติณํ  มตฺติกา  ทารุภณฺฑํ  มตฺติกาภณฺฑํ)

………….

ครุภัณฑ์เหล่านี้คือสิ่งที่ท่านอนุญาตให้นำไปดำเนินการ “ผาติกรรม” ได้

โปรดเทียบรายการครุภัณฑ์เหล่านี้กับสิ่งของในถังสังฆทานที่อ้างหลัก “ผาติกรรม” ว่ามีอะไรตรงกันหรือพอจะอนุโลมเข้ากันได้บ้าง

ส่วนลหุภัณฑ์ มีกล่าวถึงในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๗ ไม่ได้แสดงรายการไว้ว่ามีอะไรบ้าง เอ่ยถึงเฉพาะบาตรและจีวร คงได้ความว่าเป็นของใช้ประจำตัวนั่นเอง

แต่พระไตรปิฎกตรงนี้แสดงหลักของการจัดการลหุภัณฑ์-ครุภัณฑ์ไว้ชัดเจนดังนี้ –

……….

บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่ง ไม่ควรแจก

(มหาวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๗)

………..

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเก็บสาระจากพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถามาแสดงไว้ครบถ้วนแล้วในหนังสือวินัยมุข เล่ม ๒ เรื่องนี้อยู่ในกัณฑ์ที่ ๒๐ ภัณฑะต่างเจ้าของ หน้า ๑๔๒-๑๕๓ 

ขอสรุปเพื่อเข้าใจสั้นๆ ดังนี้ –

ของอันจะพึงบริโภคสิ้นไป เช่น บิณฑบาต เภสัช กับบริขารประจำตัว (ของใช้ส่วนตัว) เช่น บาตร จีวร และของเล็กน้อย เช่นเข็มเย็บผ้า มีดโกน เป็นลหุภัณฑ์ เป็นของแจกกันได้ (ไม่ใช่ของที่จะนำมาผาติกรรม)

ของอันไม่ใช่สำหรับใช้สิ้นไป เป็นของควรรักษาไว้ได้นาน เช่นเครื่องใช้ในเสนาสนะหรือตัวเสนาสนะเอง ตลอดถึงกุฏิและที่ดิน จัดเป็นครุภัณฑ์ เป็นของที่แจกกันไม่ได้ ให้เก็บรักษาไว้ เป็นของสาธารณะแก่สงฆ์ (เป็นของที่ผาติกรรมได้)

————-

เป็นอันได้หลักว่า สิ่งของที่ท่านอนุญาตให้ทำผาติกรรมได้ต้องเป็น “ครุภัณฑ์

ถ้าถือตามนี้ ของที่เป็น “ลหุภัณฑ์” ก็เอามาทำผาติกรรมไม่ได้ เพราะสามารถแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการได้อยู่แล้ว

หมายความว่า ครุภัณฑ์ ท่านไม่อนุญาตให้เอามาแจกกัน เพราะเป็นของที่ภิกษุทั้งปวงสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ 

แต่ในกรณีที่ครุภัณฑ์นั้นเกิดไม่อำนวยประโยชน์จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ถ้าปล่อยไปตามนั้นก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ ท่านจึงอนุญาตให้บริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธี “ผาติกรรม” (ย้อนไปดูความหมาย)

ส่วน “ลหุภัณฑ์” นั้น เป็นของชั่วคราวที่หมดไปด้วยการกินการใช้ เมื่อได้มาก็ให้แบ่งแจกกันไปเป็นของส่วนตัวของแต่ละคน ใครมีเหลือเฟือแล้วก็แบ่งแจกให้ผู้อื่นต่อไปได้อีก ไม่ใช่ของที่จะเอามาทำผาติกรรม หรือเอามาซื้อขายอะไรอีก

หลักการของ “ผาติกรรม” เป็นดังที่ว่ามานี้

————-

คราวนี้มาดูกันว่า สิ่งของที่เรียกว่า “สังฆทานเวียน” นั้นคืออะไร

สิ่งของที่อยู่ในถังที่เรียกว่า “ถังสังฆทาน” นั้นถ้าแกะออกมาดู จะพบว่าเป็นจำพวกของกินของใช้ส่วนตัวทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะเรียกว่า “ครุภัณฑ์” ได้เลย

สรุปว่า ของที่อยู่ในถังสังฆทานนั้นจัดอยู่ในประเภท “ลหุภัณฑ์” 

เพราะฉะนั้น ถังสังฆทานจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเอามาทำผาติกรรมได้

ขอให้คิดถึงข้อเท็จจริง 

ของกินของใช้ที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ก็เพื่อให้ภิกษุได้ฉันได้ใช้

ถ้าเอามาทำเป็นสังฆทานเวียนอยู่ตรงนั้น 

ถามว่า เมื่อไรพระจึงจะได้ฉันได้ใช้ของนั้น ?

————-

ยกตัวอย่างตลกๆ ให้ฟังหน่อยก็ได้

มีคนถวายก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งเป็นสังฆทาน (ถวายอาหารเป็นสังฆทานได้ คำถวายที่ว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ … เป็นข้อยืนยันอยู่แล้ว)

สงฆ์เอาก๋วยเตี๋ยวชามนั้นมาทำผาติกรรม (เพื่อหาเงินเข้าวัดตามเหตุผลที่อ้าง)

ผู้มีศรัทธาอยากถวายสังฆทานก็มาผาติกรรมก๋วยเตี๋ยวชามนั้น แล้วก็ถวายเป็นสังทานกลับไปอีก

วนเวียนอยู่อย่างนั้น = สังฆทานเวียน ที่กำลังพูดกันอยู่นี้

ถามว่า พระท่านจะได้ฉันก๋วยเตี๋ยวชามนั้นหรือไม่

แบบนี้ตลกดีไหม

ถังสังฆทานก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวชามนั้นนั่นแหละ-ไม่ต่างกันเลย

————-

หลักสำคัญอย่างหนึ่งของผาติกรรมก็คือ ต้องเปลี่ยนกับของที่มีราคาสูงกว่าหรืออย่างน้อยก็ราคาเท่ากัน 

สมมุติว่าถังสังฆทานถังหนึ่งราคา ๓๐๐ บาท 

ผู้ที่จะมาเปลี่ยนถังใบนั้นถวายเป็นสังฆทานต้องจ่ายให้วัดไม่น้อยกว่า ๓๐๐ บาท

แล้วถ้าสมมุติว่าถังราคา ๓๐๐ บาทนั้นเกิดมีผู้ศรัทธามาเปลี่ยนค่าถัง ๑,๐๐๐ บาทแล้วถวายเป็นสังฆทาน 

ผู้ศรัทธารายต่อไปที่จะมาเปลี่ยนถังใบนั้นก็จะต้องจ่ายไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ บาท ต่ำกว่านี้ไม่ได้ 

เพราะถึงขั้นนี้ถังสังฆทานใบนั้นไม่ใช่ราคา ๓๐๐ บาทแล้ว

แต่ราคาเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ บาท

ปัญหาก็จะเกิดตามมาว่า พระหรือเจ้าหน้าที่ของวัดที่จัดการเรื่องนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าถังใบไหนถึงตอนนั้นราคาเพิ่มขึ้นไปเท่าไร

ถ้าเอาถังราคา ๑,๐๐๐ บาท ไปให้ญาติโยมเปลี่ยนราคาต่ำกว่านั้น จะเกิดอะไรขึ้น

คราวนี้ก็ต้องจัดหาถังสังฆทานราคาต่างๆ เตรียมไว้ให้พอเหมาะกับกำลังทรัพย์ของผู้ที่จะถวาย

ถังนั้น ๓๐๐

ถังนี้ ๒๕๐

ถังโน้น ๒๐๐

เลยกลายเป็นธุรกิจซื้อ-ขายเต็มตัว 

ไม่ใช่ทำบุญตามกำลังศรัทธาอีกแล้ว

ทุกอย่างก็จะผิดเพี้ยนไปหมด

ผาติกรรมนั้นคือเปลี่ยนของอื่นมาให้สงฆ์ หรือจ่ายทรัพย์ให้สงฆ์ แล้วเอาของสงฆ์ไปทำประโยชน์ตามประสงค์

แต่สังฆทานเวียนจ่ายทรัพย์แล้วก็เอาของนั้นถวายสงฆ์อีกอย่างเดิม

แล้วสงฆ์ก็เอาของนั้นมาเวียนให้โยมจ่ายทรัพย์อีก

เป็นผาติกรรมชนิดไหนกันแน่

เห็นความพิลึกพิลั่นของสังฆทานเวียนบ้างหรือยังครับ

ของที่เอามาผาติกรรมก็ไม่เข้าเกณฑ์ชั้นหนึ่งแล้ว

เมื่อทำผาติกรรม (ที่ไม่ถูกต้องตามเกณฑ์) แล้วของนั้นก็ยังวนกลับมาที่เดิม ผิดเจตนารมณ์ของผาติกรรมซ้ำเข้าอีกชั้นหนึ่ง

แบบนี้ไม่ใช่ผาติกรรมชนิดที่ท่านอนุญาตไว้ในพระวินัยเป็นแน่นอน

สังฆทานเวียนก็คือสังฆทานเพี้ยนนั่นเอง

พูดอย่างไม่เกรงใจ สังฆทานเวียนก็คือการเล่นละคร 

เหมือนเด็กเล่นขายของ 

เหมือนเล่นหม้อข้าวหม้อแกง 

แทนที่จะสอนโยมให้เกิดแสงสว่างในการทำบุญ 

กลับซ้ำทำให้โยมมืดหนักเข้าไปอีก

ถ้าโยมไม่เข้าใจ นั่นคือหน้าที่โดยตรงที่ต้องทำให้โยมเข้าใจ

ควรช่วยกันอธิบายให้ญาติโยมเกิดปัญญาในวิธีทำบุญ

ไม่ใช่คอยสนองความอยากของโยมด้วยการคิดค้นกลวิธีแปลกๆ มาล่อให้ทำบุญเหมือนผู้ใหญ่หลอกเด็ก

————-

ถ้าอยากได้เงินเข้าวัดเพื่อชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก่อสร้าง ฯลฯ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไปดังที่อ้าง วิธีที่ถูกต้องก็คือ เชิญชวนให้ญาติโยมบริจาคเงินโดยตรง

การบริจาคเงินบำรุงวัดโดยตรงนั้น เราทำกันอยู่แล้วโดยทั่วไป 

บรรพบุรุษเราท่านทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้วด้วย

การบริจาคเงินให้เป็นของสงฆ์นั้นสามารถทำเป็นพิธีการแบบเดียวกับถวายสังฆทานนั่นเลย

วิธีถวายเงินให้เป็นของสงฆ์ทำดังนี้ –

๑ เปิดบัญชีเงินฝากของวัด (วัดส่วนมากจะมีบัญชีเงินฝากของวัดอยู่แล้ว ก็ยิ่งสะดวกมาก)

๒ จัดคนที่ไว้วางใจได้ในความซื่อสัตย์เป็นเจ้าหน้าที่รับเงินสังฆทาน

๓ ผู้มีศรัทธาจะบริจาคเงินให้เป็นของสงฆ์แจ้งความประสงค์ว่าจะถวายเป็นจำนวนเท่าไร (บาทเดียวก็ถวายได้) 

๔ ทำพิธีถวาย (นำเงินใส่พานตั้งไว้ตรงหน้าพระ บูชาพระ รับศีล กล่าวคำถวายต่อหน้าพระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายรับพร เป็นอันเสร็จพิธี) 

๕ มอบเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ (อย่าถวายให้พระรับโดยตรง)

๖ เจ้าหน้าที่ออกใบรับหรืออนุโมทนาบัตรให้เป็นหลักฐาน

๗ เมื่อหมดเวลาในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่นำเงินสังฆทานฝากเข้าบัญชีวัด หรือกี่วันจึงจะนำฝากก็แล้วแต่จะกำหนด 

เงินสังฆทานนี้ก็จะไปเป็นค่าน้ำค่าไฟของวัด บำรุงการศึกษาของภิกษุสามเณร ค่าภัตตาหาร ค่ายารักษาโรค ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกสารพัดอย่าง อันเป็นประโยชน์แก่สงฆ์ คือพระพุทธศาสนาโดยตรง สมตามความมุ่งหมายของการถวายสังฆทานที่ถูกต้องทุกประการ

ไม่จำเป็นต้องเล่นละครบริจาคผ่านถังสังฆทานแต่ประการใดทั้งสิ้น

ได้ทรัพย์จากคนมีปัญญา 

บริสุทธิ์กว่าได้จากความไม่รู้ไม่เข้าใจ

ขอความกรุณาอย่าอธิบายผิดให้เป็นถูกเลยครับ

ไม่ทำผิดเสียเลยย่อมดีกว่า

————-

เรื่องสังฆทานเวียนนี้ กราบขออภัยที่ต้องกระทบกันตรงๆ

ญาติมิตรที่อ่านมาจนถึงตอนนี้หลายท่านคงจะอุทานในใจว่า อ้าว แล้วที่วัดนั่นนี่โน่นทำๆ กันอยู่นั่นล่ะ แล้วที่ท่านผู้นั้นผู้โน้นทำนั่นล่ะ จะว่ายังไง

ผมทราบดีว่า สังฆทานเวียนนั้นมีทำกันแทบจะทุกวัด 

แต่ก็มิใช่ว่า อะไรที่ทำกันมากๆ จะต้องถูกต้องเสมอไป 

ถ้าผิดจากหลักการ ทำกันมากก็คือผิดกันมากนั่นเอง

และหลักการในพระพุทธศาสนานั้นมิใช่ว่าคนโน้นทำจึงผิด ถ้าคนนี้ทำ ไม่ผิด 

ถ้าผิดจากหลักการ ใครทำก็ผิดทั้งนั้น

กลัวญาติมิตรตลอดจนพระคุณเจ้าและวัดวาอาวาสต่างๆ จะโกรธ กระผมก็กลัวครับ ไม่ใช่ไม่กลัว

แต่การทรยศต่อหลักการ น่ากลัวมากกว่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *