บาลีวันละคำ

สัตถา (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,767)

สัตถา (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” เป็นบทที่ 7

บาลีวันละคำขอแยกเป็น “สตฺถา” คำหนึ่ง “เทวมนุสฺสานํ” อีกคำหนึ่ง

คำว่า “สตฺถา” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “สัตถา” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยได้รูปตรงกับแบบคำอ่าน คือเป็น “สัตถา” อ่านว่า สัด-ถา

“สัตถา” เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺถา” อ่านว่า สัด-ถา รูปคำเดิมเป็น “สตฺถุ” อ่านว่า สัด-ถุ รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สาสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สาสฺ + รตฺถุ = สาสฺรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สั่งสอนเวไนยตามความเหมาะสมด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุด” (2) “ผู้สั่งสอนแนะนำสัตวโลก”

(2) สชฺ (ธาตุ = สละ, ปล่อย) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สชฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สชฺ + รตฺถุ = สชรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สละกิเลส”

(3) สิจฺ (ธาตุ = ชำระ, ราด, รด) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สิจฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สิจฺ + รตฺถุ = สิจรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ล้างกิเลสด้วยน้ำคือคำสอน”

(4) สุสฺ (ธาตุ = เหือดแห้ง) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สุสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สุสฺ + รตฺถุ = สุสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังเปือกตมคือคมกิเลสให้เหือดแห้งไป”

(5) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สสฺ + รตฺถุ = สสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนกิเลส”

(6) สมฺ (ธาตุ = สงบ) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สมฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > อตฺถุ)

: สมฺ + รตฺถุ = สมรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกิเลสให้สงบระงับ”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สตฺถุ” ว่า พระบรมศาสดา, พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺถุ” ว่า teacher, master (ครู, ศาสดา)

“สตฺถุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ ลง สิ-วิภัตติ ใช้สูตร “เอา อุ การันต์ กับ สิ เป็น อา” เปลี่ยนรูปเป็น “สตฺถา” (สัด-ถา) เขียนแบบไทยเป็น “สัตถา”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สัตถา : (คำแบบ) (คำนาม) ครู, ผู้สอน. (ป.; ส. ศาสฺตฺฤ).”

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 266 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “สัตถา” ไว้ ดังนี้ –

…………..

ทิฏฺฐธมฺมิกสมฺปรายิกปรมตฺเถหิ ยถารหํ อนุสาสตีติ สตฺถา ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สัตถา (ศาสดา) เพราะทรงพร่ำสอนเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ตามสมควร

อปิจ สตฺถาติ ภควา สตฺถวาโห

อีกนัยหนึ่ง พระนามว่า สัตถา นั้นหมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัตถวาหะ (ผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน)

ยถา สตฺถวาโห สตฺเถ กนฺตารํ ตาเรติ

สัตถวาหะ (นายกองเกวียน) ย่อมนำหมู่เกวียนให้ข้ามดันการ

โจรกนฺตารํ ตาเรติ คือให้ข้ามโจรกันดาร (ความลำบากเพราะโจรผู้ร้าย)

วาฬกนฺตารํ ตาเรติ ให้ข้ามวาฬกันดาร (ความลำบากเพราะสัตว์ร้าย)

ทุพฺภิกฺขกนฺตารํ ตาเรติ ให้ข้ามทุพภิกขกันดาร (ความลำบากเพราะขาดแคลนอาหาร)

นิรุทกกนฺตารํ ตาเรติ ให้ข้ามนิโรทกกันดาร (ความลำบากเพราะขาดแคลนน้ำ)

อุตฺตาเรติ นิตฺตาเรติ ปตาเรติ เขมนฺตภูมึ สมฺปาเปติ

จนออกนอกล่วงพ้นแดนกันดารไปถึงพื้นที่เป็นอันเกษมปลอดภัย ฉันใด

เอวเมว ภควา สตฺถา สตฺถวาโห

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นนั่นแล ทรงเป็นสัตถา เป็นสัตถวาหะ (คือเป็นดุจนายกองเกวียน)

สตฺเต ภวกนฺตารํ ตาเรติ ยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามภพกันดาร (ความลำบากเพราะความมีความเป็น)

ชาติกนฺตารํ ตาเรตีติ ฯ ให้ข้ามชาติกันดาร (ความลำบากเพราะเวียนตายเวียนเกิด) ไปถึง (พระนิพพานอันเกษมปลอดปวงภัย) ได้ ดังนี้.

…………..

แถม :

คำบาลีว่า “สตฺถา” เป็นคำที่นักเรียนบาลีคุ้นตามากที่สุด และคำแปลว่า “อันว่าพระศาสดา” ก็เป็นคำที่นักเรียนบาลีคุ้นปากมากที่สุด

กล่าวได้ว่า ไม่มีนักเรียนบาลีคนใดเห็นคำว่า “สตฺถา” แล้วแปลไม่ได้ และไม่มีนักเรียนบาลีคนใดเห็นคำแปลว่า “อันว่าพระศาสดา” แล้วนึกไม่ออกว่าคำบาลีว่าอย่างไร

สมัยหนึ่ง คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยมองการศึกษาของพระภิกษุสามเณรว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ ได้ยินนักเรียนบาลีแปลบาลีว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” จนติดหู

คนคะนองบางคนเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรก็จะพูดว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” เป็นการล้อเลียนว่า-เป็นพวกเรียนวิชาที่คร่ำครึล้าสมัย

ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า ถ้าคนคะนองบางคนนั้นตายไป และไปพูดคำว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” ให้ยมบาลฟัง เขาจะไม่ตกนรก และจะนึกถึงคุณของคำบาลี-แม้ว่าอาจจะสายไปสักหน่อยก็ตาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อเป็นผู้นำ อย่าลังเล

: เมื่อเป็นผู้ตาม อย่าโลเล

#บาลีวันละคำ (3,767)

05-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *