บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โลณผลสูตร-ว่าด้วยการละลายกรรม

โลณผลสูตร-ว่าด้วยการละลายกรรม (๓)

———————————-

คือการทำผลกรรมให้เจือจาง

………………….

คำแนะนำ:

บทความเรื่องนี้มี ๔ ตอน

ควรอ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์

หรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่หน้าจอกว้างกว่าโทรศัพท์

………………….

ต่อไปนี้เป็นการอธิบายขยายความในโลณผลสูตร ถ้าใช้คำว่า “แปล” ก็คือแปลแบบตีความ ฟังง่าย เข้าใจง่ายกว่าอ่านจากสำนวนแปลตามตัว แต่ข้อเสียก็คือ ตีความผิดหรือถูก คนอ่านต้องระวังเอาเอง

โลณผลสูตร เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความเห็นของคนบางพวกที่บอกว่า คนเราทำบาปเท่าไร ก็ต้องได้รับผลเท่านั้น ตามกฎกิริยา-ปฏิกิริยา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงยากที่จะบรรลุผล เพราะผลบาปจะตามมาตัดรอน คล้ายกับที่เราพูดกันว่า-มารผจญ ถ้าบวชอยู่ก็-ผ้าเหลืองร้อน อะไรทำนองนั้น 

ส่วนบางพวกมีความเห็นไปอีกแบบหนึ่ง คือเห็นว่า ผลบาปไม่ใช่ว่าจะต้องตามมารังควาญกันทุกเรื่องหรือทุกชาติไป บาปบางอย่างให้ผลเพียงแค่ในชาติปัจจุบันที่ทำเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนเราจึงสามารถที่จะปฏิบัติธรรมจนบรรลุผลได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีกรรมเก่าตามมาตัดรอนหรือรังควาน

แล้วทำไมทำชั่วนิดเดียว บางคนตกนรก บางคนไม่ตกนรก ทั้งๆ ที่น้ำหนักแห่งบาปที่ทำก็เท่ากัน? 

คำถามนี้พระพุทธองค์ตรัสตอบด้วยข้ออุปมา

อุปมาที่ ๑

เปรียบเหมือนใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น ย่อมเค็ม ดื่มกินไม่ได้ เพราะน้ำในขันมีนิดหน่อย 

คนมีคุณธรรมน้อย ทำชั่วนิดหน่อยก็เสวยทุกข์ได้ง่าย

แต่เมื่อใส่ก้อนเกลือขนาดเท่ากันนั่นแหละลงในแม่น้ำคงคา แม่น้ำคงคาไม่เค็ม ดื่มได้ เพราะในแม่น้ำคงคามีน้ำมาก 

คนมีคุณธรรมมาก ทำชั่วนิดหน่อยก็แทบไม่เห็นผลอะไร ต้องทำมากผลชั่วจึงจะปรากฏให้เห็น

ผลของบาป อุปมาเหมือนก้อนเกลือ

คุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัว อุปมาเหมือนน้ำในขันหรือน้ำในแม่น้ำ

มีคุณธรรมความดีน้อย-เหมือนน้ำในขัน

มีคุณธรรมความดีมาก-เหมือนน้ำในแม่น้ำ

อุปมาที่ ๒

บางคนเป็นคนขัดสน มีสิ่งของน้อย มีทรัพย์น้อย อาจถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง หนึ่งกหาปณะบ้าง ร้อยกหาปณะบ้าง 

หมายความว่าเพราะขัดสนจนยาก จึงอาจทำผิดกฎหมายได้ง่ายเพียงเพราะเงินนิดๆ หน่อยๆ = เงินนิดหน่อยก็ทำให้เขาติดคุกได้ เพราะจน

เหมือนคนมีคุณธรรมน้อย ทำชั่วนิดหน่อยก็เสวยทุกข์ได้ง่าย

บางคนมั่งคั่ง มีทรัพย์เหลือเฟือ มีโภคะมาก ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ หนึ่งกหาปณะ ร้อยกหาปณะ 

หมายความว่า เขารวยอยู่แล้ว จะทำความผิดต้องติดคุกเพราะเงินเพียงนิดๆ หน่อยๆ ทำไมเล่า เขามีมากกว่าตั้งเยอะอยู่แล้ว เงินแค่นั้นไม่ล่อใจให้เขาทำผิดติดคุกได้เลย ต้องเงินเป็นพันล้านหมื่นล้านจึงจะจูงใจให้เขาทำผิด 

คนมีคุณธรรมมาก ทำชั่วนิดหน่อยก็แทบไม่เห็นผลอะไร ต้องทำมากผลชั่วจึงจะปรากฏให้เห็น

คนมีคุณธรรมมาก เหมือนคนรวยมากๆ 

ทำชั่วนิดหน่อย เหมือนเงินเพียงนิดหน่อยไม่เป็นเหตุให้เขาติดคุกเพราะเงิน ต้องเงินมากจึงจะเป็นเหตุให้เขาติดคุกเพราะเงินได้

อุปมาที่ ๓

เหมือนเจ้าของแกะบางคนมีแกะอยู่ไม่กี่ตัว ถ้าใครมาลักแกะ แล้วเขาจับได้ ก็จะต้องถูกลงโทษให้สมแค้น (แกะฉันมีน้อยอยู่แล้ว ยังจะมาลักของฉันอีก อย่างนี้มันต้องลงโทษให้หนัก)

คนมีคุณธรรมน้อยเปรียบเหมือนคนที่ไปลักแกะของคนมีแกะน้อย เจ้าของจับได้ โดนหนักแน่

เหมือนคนมีคุณธรรมน้อย ทำชั่วนิดหน่อยก็เสวยทุกข์ได้ง่าย

เจ้าของแกะบางคนมีฐานะร่ำรวย มีแกะเป็นพันเป็นหมื่นตัว ใครมาลักไปสักตัวสองตัว เขาก็ไม่เดือดร้อนอะไร เหมือนสำนวนที่ว่า-ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แม้จับตัวคนลักแกะได้ ก็ไม่อยากจะลงโทษอะไรนักหนา พอดีพอร้าย ถ้าคนลักแกะทำใจกล้าขอแกะเอาดื้อๆ ก็อาจจะยกให้เปล่าๆ ด้วยซ้ำไป

คนมีคุณธรรมมาก เปรียบเหมือนคนที่ไปลักแกะของคนรวยมากๆ 

ทำชั่วนิดหน่อยก็ไม่ต้องเสวยทุกข์ เหมือนเจ้าของแกะที่รวยมากๆ นั้นเขาไม่เอาโทษเพราะเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไรจากการถูกขโมยแกะตัวสองตัว 

แต่ถ้าใครมาไล่ต้อนแกะเอาไปหมดทั้งฝูง แบบนั้นถ้าเขาจับไปต้องถูกลงโทษแน่ เพราะทำกันมากเกินไป 

เหมือนคนมีคุณธรรมมาก ถ้าทำชั่วมาก ผลของความชั่วจึงจะปรากฏให้เห็นได้

………………….

ย้อนไปดูความสงสัยของญาติมิตรที่ยกมากล่าวไว้ในตอนที่ ๑ ท่านบอกว่า ข้อความในพระสูตรตรงที่ว่า – 

………………….

“ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก … ฯ”

………………….

ท่านสงสัยว่า คำว่า “ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ส่วนมาก” คืออย่างไร

ถ้าทำความเข้าใจมาได้ตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้แล้วว่า คำว่า “ส่วนน้อยไม่ปรากฏ” ก็หมายถึงคนมีคุณธรรมมากไปทำบาปเข้านิดหน่อย ผลบาปแทบจะไม่มากระทบ เพราะคุณธรรมความดีของเขาละลายบาปให้เจือจางไปหมด เหมือนใส่เกลือนิดหน่อยลงไปในแม่น้ำไม่ทำให้น้ำในแม่น้ำเค็มขึ้นได้ฉะนั้น 

แต่ถ้าเขาไปทำบาปมากหรือบาปหนักละก็ คุณธรรมที่มีมากก็อาจจะคุ้มกันไม่ไหว สมมุติว่าเอาเกลือหมดทั้งสมุทรมาเทใส่แม่น้ำ คราวนี้แม่น้ำก็แม่น้ำเถอะ เค็มขึ้นมาได้เหมือนกัน นี่ก็คือที่ว่า “ปรากฏแต่ส่วนมาก”

แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาตามข้ออุปมาต่างๆ นี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีก 

อะไรคือเงื่อนไข? 

ตามไปดูกัน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มกราคม ๒๕๖๓

๒๐:๔๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *