โลณผลสูตร-ว่าด้วยการละลายกรรม
———————————-
คือการทำผลกรรมให้เจือจาง
………………….
คำแนะนำ:
บทความเรื่องนี้มี ๔ ตอน
ควรอ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์
หรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่หน้าจอกว้างกว่าโทรศัพท์
………………….
ญาติมิตรท่านหนึ่งท่านอ่านพระสูตรหนึ่งแล้วเกิดสงสัยข้อความบางตอนว่าหมายความว่ากระไร
ข้อความที่ท่านอ่านพบ ว่าดังนี้
………………….
“ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก … ฯ”
………………….
ท่านสงสัยว่า คำว่า “ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ส่วนมาก” คืออย่างไร
ข้อความที่ท่านอ่านนั้นเป็นพระสูตร ชื่อ “โลณผลสูตร” แปลว่า “พระสูตรว่าด้วยผลกรรมอุปมาด้วยเกลือ”
ถ้าจะตอบเฉพาะข้อความที่ถามมา อาจไม่กระจ่างพอ ทางที่ดีศึกษาตัวพระสูตรไปด้วยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
พระสูตรนี้ไม่ยาวนัก แต่ก็ไม่สั้น พอจะกัดฟันอ่านได้ ปัญหาคือถ้อยคำภาษา
ภาษาบาลีเป็นภาษาเก่า แปลเป็นไทยท่านก็แปลตามโครงสร้างสำนวนภาษาบาลี เท่ากับพูดบาลีเป็นคำไทยนั่นเอง จึงอ่านเข้าใจยาก
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่คนบ่นกันมาก เรียกร้องให้แปลเป็นภาษาง่ายๆ อ่านเข้าใจง่าย
แต่ก็พูดง่าย ทำยาก – แปลให้เป็นภาษาง่าย อ่านเข้าใจง่าย – แบบนั้นไม่ใช่แปล แต่เป็นการเรียบเรียงตามความเข้าใจของผู้แปล อันตรายอยู่ตรงนี้
นั่นคือถ้าผู้แปลเข้าใจถูกก็รอดตัวไป ถ้าผู้แปลเข้าใจผิด พระธรรมวินัยก็วิปริตได้ง่าย
ผู้นำพระศาสนาท่านจึงรักษาคำสอนไว้ด้วยภาษาบาลีเพื่อที่ว่าหลักคำสอนจะได้ไม่วิปริตผันแปรไปได้ง่ายๆ แล้วส่งเสริมให้เรียนภาษาบาลีเพื่อเข้าใจและเข้าถึงคำสอนนั้น แล้วจึงเอามาถ่ายทอด ใครสงสัยก็สามารถตามไปตรวจสอบต้นฉบับได้
การแปลภาษาบาลีเป็นไทยมี ๒ แบบ คือแปลโดยพยัญชนะและแปลโดยอรรถ
แปลโดยพยัญชนะ คือแปลถ่ายแบบโครงสร้างภาษาบาลี หรือที่ผมบอกว่า-พูดภาษาบาลีเป็นคำไทย
ตัวอย่างเช่น ภาษาบาลีว่า – เต วยปฺปตฺเต ฆรพนฺธเนน พนฺธึสุ.
แปลโดยพยัญชนะว่า – อันว่ามารดาบิดา ผูกแล้ว ซึ่งบุตรทั้งหลายเหล่านั้น ผู้ถึงแล้วซึ่งวัย ด้วยเครื่องผูกคือเรือน
…………………
คนไม่ได้เรียนบาลีอ่านแล้วก็งง คำไทยก็จริง แต่รูปแบบสำนวนไม่ใช่ไทย และไม่ใช่ภาษาของคนรุ่นใหม่ด้วย จึงต้องมีการแปลอีกแบบหนึ่ง คือ-แปลโดยอรรถ
แปลโดยอรรถ คือแปลเก็บความ ตัดรูปแบบทางไวยากรณ์ออก
คำบาลีข้างต้นแปลโดยอรรถว่า – ครั้นสองกุมารนั้นเจริญวัย มารดาบิดาก็คิดผูกพันด้วยเครื่องผูกพันคือการครองเรือน
…………………
จะเห็นได้ว่าแม้แปลโดยอรรถแล้วก็ยังเข้าใจได้ไม่กระจ่างตลอด ยังต้องการคำอธิบายที่เป็นภาษาสมัยใหม่ต่อไปอีก
นี่เป็นแค่เรื่องเล่าหรือนิทาน ถ้าเป็นการแสดงหลักธรรมะก็จะยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีก
แล้วทำไมไม่แปลให้เป็นภาษาสมัยใหม่ไปเลย คนจะได้เข้าใจง่ายๆ?
คำตอบก็ดังที่ว่ามา – แปลแบบนั้นเป็นการตีความ เข้าใจถูกก็รอดตัวไป ถ้าผู้แปลเข้าใจผิด พระธรรมวินัยก็วิปริตได้ง่าย
อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ได้อ่านคำแปลแบบตีความ ก็เท่ากับได้ศึกษาเฉพาะการตีความของผู้แปลเท่านั้น ต้นฉบับจริงท่านว่าไว้อย่างไรไม่รู้ ผู้แปลตีความผิดหรือถูกก็ไม่อาจรู้ได้ ผู้แปลอีกคนหนึ่งอาจจะตีความต่างกันไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้
ท่านจึงนิยมแปลแบบรักษาต้นฉบับ แล้วแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป คือสงสัยตรงไหน ก็อธิบายหรือ “ตีความ” เฉพาะตรงนั้น
ตอนหน้าจะเป็นข้อความเต็มๆ ใน “โลณผลสูตร”
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ มกราคม ๒๕๖๓
๑๖:๑๖
…………………………….
…………………………….