บาลีวันละคำ

พุทธิจริต (บาลีวันละคำ 2,784)

พุทธิจริต

ไม่ใช่ “พุทธจริต”

อ่านว่า พุด-ทิ-จะ-หฺริด

ประกอบด้วยคำว่า พุทธิ + จริต

(๑) “พุทธิ

เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่ (พุ)-ธฺ เป็น ทฺ, ตฺ ที่ ติ เป็น ธฺ , นัยหนึ่งว่าแปลง ธฺ ที่สุดาตุกับ ติ เป็น ทฺธิ

: พุธฺ + ติ = พุธฺติ > พุทฺติ > พุทฺธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” “สิ่งเป็นเหตุรู้” “ความรู้” หมายถึง ปัญญา, ความรอบรู้ (wisdom, intelligence)

บาลี “พุทฺธิ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “พุทธิ” (ไม่มีจุดใต้ ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธิ : (คำนาม) ปัญญา, ความฉลาด. (ป.).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

พุทฺธิ + จริต = พุทฺธิจริต (พุด-ทิ-จะ-ริ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความรู้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธิจริต” ว่า one whose behaviour or character is wisdom (พุทธิจริต หรือผู้มีนิสัยไปทางปัญญา)

พุทฺธิจริต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธิจริต” (ไม่มีจุดใต้ )

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “พุทธิจริต” บอกไว้ว่า –

พุทธิจริต : พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (ข้อ ๕ ในจริต ๖)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “พุทธิจริต” เป็นอังกฤษว่า the intellectual; the wise; one whose behaviour or character is wisdom; an intelligent-natured person.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

พุทธิจริต หรือ ญาณจริต : ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา (Buddhi-carita or Ñāṇa-carita: one of intelligent temperament) พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ เช่น พิจารณาไตรลักษณ์ กรรมฐานที่เหมาะคือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา.

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำว่า “พุทธิจริต” ไว้

…………..

ลักษณะของคนพุทธิจริต :

ลักษณะนิสัย คนพุทธิจริตเป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว ชอบตำหนิคนอื่น งานบุญงานกุศลมักพิถีพิถัน ซักรายละเอียดมาก ถ้าไม่ถูกใจไม่เอาด้วย แต่ถ้าถูกใจเท่าไรเท่ากัน

ท่าทางการเดินของคนพุทธิจริต เดินกระโดกกระเดก ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นอย่างที่คำเก่าเรียกว่า-ม้าดีดกะโหลก วางเท้ายกเท้าผลุบผลับ รอยเท้าของคนพุทธิจริตเป็นรอยขยุ้ม คือจิกปลายหนักส้นเหมือนคนโทสจริต

ท่ายืนของคนพุทธิจริตมักเก้งก้างแข็งทื่อ

คนพุทธิจริตทำอะไรมักรีบร้อน เช่นเวลานอน ก็ปัดๆ ที่นอนพอให้ซุกหัวได้แล้วทิ้งตัวนอน ไม่ระวังแขนขา หลับอยู่ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด ถ้าถูกปลุกก็จะลุกพรวดพราด ตอนนั้นถ้าถามอะไรก็จะฮึดฮัดเหมือนกำลังโกรธ

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนพุทธิจริตจับไม้กวาดแน่น กวาดเร็ว กวาดหนัก ฟาดป่ายเปะปะ (ใครผ่านไปใกล้ กรวดทรายกระเด็นโดน) ดูเหมือนจะสะอาด แต่กวาดไม่เรียบ

งานทั่วไป คนพุทธิจริตมักทำแน่นหนาแข็งแรง แต่มักหยาบ ทำถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่ค่อยประณีต

อาหารการกิน คนพุทธิจริตไม่พิถีพิถัน อย่างที่ว่า-อยู่ง่ายกินง่าย อะไรก็ได้พอให้หนักท้องเข้าว่า แต่ติดจะชอบรสเปรี้ยว ตักคำใหญ่ เคี้ยวเร็วกลืนเร็ว อิ่มเร็ว ไม่ละเลียด แต่บางมื้อเจอของไม่ถูกรสนิยม (แบบคนไม่กินนั่นไม่กินนี่) ก็อาจฉุนเฉียวบ้าง

คนพุทธิจริตมักหงุดหงิดง่ายเวลาดูงานศิลปะหาเรื่องติได้เยอะ ส่วนดีมักมองข้าม ซาบซึ้งยาก ไม่ชอบอ้อยอิ่ง ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่ติดใจ

โปรดสังเกตว่า คนพุทธิจริตจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับคนโทสจริต ท่านว่าจริตสองประเภทนี้มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน เทียบง่ายๆ คนโทสจริตมักใจร้อนฉันใด คนพุทธิจริตก็มักฉุนเฉียวง่ายฉันนั้น

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

พุทธิจริต” มีความหมายต่างจาก “พุทธิ

พุทธิจริต” เป็นพื้นนิสัยของคนบางคน ไม่ใช่ทุกคน

พุทธิ” เป็นอารมณ์ที่เกิดเป็นครั้งคราว เกิดได้ทุกคน

คนเขลาหรือคนปัญญาทึบก็อาจเข้าใจอะไรบางเรื่องได้ดี พูดได้ว่า “เขาเกิดพุทธิขึ้นมา” แต่จะพูดว่า “เขาเกิดพุทธิจริต” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “พุทธิจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา เช่นเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ก็เป็นเช่นนั้นเป็นนิสัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “พุทธิ” เป็นความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ใช่เห็นอะไรก็รู้เข้าใจได้หมดทุกเรื่อง

คนทั่วไปย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจในบางเรื่องได้ทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนพุทธิจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “พุทธิจริต

คนทุกคน เวลาเขาร้อง อ๋อ คือเข้าใจอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราพูดได้ว่า-เขาเกิดพุทธิ แต่พูดไม่ได้ว่า-เขาเกิดพุทธิจริต

เพราะ “พุทธิจริต” เป็นพื้นนิสัย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดเป็นครั้งคราว

คนที่รู้เข้าใจอะไรขึ้นมาเป็นครั้งคราว ไม่ใช่คนพุทธิจริตหมดทุกคน

อนึ่ง คำนี้คือ “พุทธิจริต” ไม่ใช่ “พุทธจริต

พุทธิ– ไม่ใช่ พุทธ

พุทธจริต” หมายถึง “สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติมา” เป็นคนละคำคนละความหมายกับ “พุทธิจริต

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อวดฉลาด

: คือไม่ฉลาด

#บาลีวันละคำ (2,784)

26-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *